เปิดเบื้องหลัง CG “ขุมทรัพย์ลำโขง” เวอร์ชั่นใหม่เป๊ะปังเว่อร์
กลับมาออกอากาศใหม่อีกครั้ง สำหรับละคร ดราม่าแอคชั่นแฟนตาซีเรื่อง “ขุมทรัพย์ลำโขง” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 และการกลับมาในครั้งนี้ ได้สร้างปรากฎการณ์แปลกใหม่ของละคร รีรัน ด้วยรูปแบบ การตัดต่อที่มีเนื้อเรื่องต่างออกไปจากเวอร์ชั่นแรก อีกทั้งด้านซีจีของพญานาคของนาคทั้ง 4 ตระกูลอย่าง วิรูปักษ์นาค, เอราปถนาค, ฉัพพยาปุตตะนาค, กัณหาโคตะมะนาค ก็ได้รับการรังสรรค์ใหม่ ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิมจากเวอร์ชั่นก่อนหลายเท่า งานนี้เราเลยจะพามาเจาะถึงเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นพญานาค กับ ผู้ที่มีประสบการณ์ มากกว่าร้อยเรื่อง ในวงการหนังไทย และกวาดรางวัลใหญ่ ๆ มาแล้วมากมาย อย่างคุณ “โก้ ทศพร พูนนารถ” VFX supervisor / Managing director บริษัท Zurreal Studio Visual One ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบซีจีพญานาค ในครั้งนี้ ว่ากว่าจะออกมาเป็นผลงานดังกล่าว ขั้นตอน และซีนที่ยากที่สุดคือฉากไหน มีบทสัมภาษณ์มาฝากกัน
เริ่มจากได้โจทย์มาว่า ต้องทำพญานาค 4 องค์ แล้วผู้กำกับพี่เหน่ง เขาอยากให้ดูกึ่งๆ คือ ไม่ได้สมจริง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้ดูเป็นเหมือนพญานาคที่เราเห็นตามโบสถ์ ที่เป็นปูนปั้น หรือลายกนก ก็พยายามลดทอน ให้ดูมีชีวิตแต่ว่าก็อยู่กึ่งกลางครับ ระหว่างความเหมือนจริงแล้วก็ความวิจิตรพิสดารแบบลายไทย และต้องออกแบบใหม่เลย แล้วจริงๆ มีการสเก็ตภาพประมาณ 3-4 แบบ นะครับ แล้วพี่เหน่งค่อนข้างมีทิศทางที่ชัดเจนอยู่แล้วด้วย เนื่องจากองค์พญานาค ทางช่องอื่นๆเขาก็มีการทำออกมาอยู่เยอะพอสมควร ก็เลยมีให้ดูว่า ทางนี้เขามีอยู่แล้ว บวกกับผู้กำกับของเราเขาอยากได้ ก็ให้มันเกิดเป็นพญานาคนาคในรูปแบบเฉพาะพิเศษ สำหรับเรื่องนี้
ถามจุดเด่นในเวอร์ชั่นใหม่ ก็จะมาจากคำติติง คำแนะนำ แต่ว่าโดยรวมทางช่องแฮปปี้ เขาบอกว่าสวยดีแล้วก็แปลกตา เข้ากับเรื่องดี ติดแค่เรื่องส่วนที่จะเห็นว่าพญานาคตัวเล็กไปหน่อย ก็คือได้รับกับติติงมาตั้งแต่ตอนแรกแล้ว แต่ว่ามันแก้ไม่ทันจริงๆ ทีนี้พอมีโอกาสแก้ไข เราก็มาคุยกันว่ามีซีนไหนที่พญานาคดูตัวเล็กไป เราก็แก้ให้มันดูอลังการขึ้น ให้ดูใหญ่โตสวยงามขึ้น ก็เป็นเรื่องของขนาดมากกว่า ที่จะต้องแก้ ด้านข้อแตกต่างของพญานาคเรื่องนี้ กับเรื่องอื่นๆ ก็จะมีความเป็นกึ่งมีชีวิตและกึ่งเทพนะครับ แต่ว่าภาพรวมของงานนี้มันก็จะคล้ายๆกัน เพียงแต่บางทีเขาก็จะเน้นไปทางเป็นสัตว์ประหลาดไปเลย บางเรื่องเขาก็จะเลื้อยออกมาจากบันไดโบสถ์เลย แต่ของเรากลางๆครับ ผสมผสานระหว่างยุคใหม่และยุคเก่าให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น