761 ล้านบาท! “สรยุทธ” ดันช่อง 3 โชว์กำไรปี 64 หลังขาดทุนมา3 ปี
หลังเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล BEC หรือช่อง 3 ของตระกูลมาลีนนท์ ต้องเจอกับภาวะขาดทุนหนักมาตั้งแต่ปี 2561 จนต้องเปลี่ยนแม่ทัพ-ลดขนาดองค์กรครั้งใหญ่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วันนี้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญของ ช่อง 3 เมื่อตัวเลขปี 2564 โชว์กำไรในรอบ 3 ปี
อ่านต่อ:“สรยุทธ” ตอบกลับมือดีแซะได้ใบสั่งมาหรือเปล่า ปมเสนอข่าว
หากย้อนดูผลประกอบการ ช่อง 3 จากธุรกิจที่เคยทำรายได้สูงสุดในปี 2556 ที่ 16,637 ล้านบาท กำไร 5,589 ล้านบาท เมื่อเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัลในปี 2557 จำนวนช่องฟรีทีวีเพิ่มขึ้น และการเติบโตของสื่อออนไลน์ รวมทั้งการแบกต้นทุนสูงจากการประมูลทีวีดิจิทัลมา 3 ช่อง ทำให้เริ่มขาดทุนในปี 2561 มาในปี 2562 จึงขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง (ช่อง 13 และ ช่อง 28) เหลือไว้เพียงช่องเดียว คือ ช่อง 33
หลังปรับโครงสร้างลดขนาดองค์กรเพื่อลดต้นทุน วางกลยุทธ์ธุรกิจ Single Content – Multiple Platform นำคอนเทนต์ละครช่อง 3 ไปต่อยอดขายลิขสิทธิ์ในทุกแพลตฟอร์ม ช่อง 3 เริ่มกลับมาเห็น “กำไร” รายไตรมาสอีกครั้งตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 นับถึงไตรมาส 4 ปี 2564 ทำกำไรติดกันมาแล้ว 6 ไตรมาส
ปิดปี 2564 ด้วยกำไร 761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 455% เทียบปีก่อนหน้าที่ขาดทุน ถือเป็นผลประกอบการรายปีที่กลับมากำไรอีกครั้งในรอบ 3 ปี
ย้อนดูผลประกอบการ BEC ปี 2561-2564
– ปี 2561 รายได้ 10,486 ล้านบาท ขาดทุน 330 ล้านบาท
– ปี 2562 รายได้ 8,751 ล้านบาท ขาดทุน 397 ล้านบาท
– ปี 2563 รายได้ 5,908 ล้านบาท ขาดทุน 214 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 5,680 ล้านบาท กำไรสุทธิ 761 ล้านบาท
สรุปปัจจัย ปี 64 BEC พลิกกำไร
ปี 2564 แม้เม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมสื่อโดยรวม “ลดลง” แต่ BEC ยังมีรายได้จากการขายโฆษณาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายการข่าว รวมถึงการลดต้นทุนลงอย่างต่อเนื่อง ผลประกอบการ ปี 2564 BEC มีรายได้ 5,680 ล้านบาท ลดลง 3.1% กำไรสุทธิ 761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 455% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า สรุปได้ดังนี้
1. รายได้ขายโฆษณา 4,834 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6%
– มาจากรายการข่าว ได้ปรับคอนเทนต์ให้เหมาะกับผู้ชมในแต่ละช่วงเวลาและมีการปรับผังรายการออกอากาศของบางรายการข่าว มีทั้งการขยายช่วงเวลา การปรับรายการข่าวย้ายมาออกในช่วง Pre Prime-Time ทำให้ทุกรายการตลอดทั้งวันได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
– การกลับมาของ “กรรมกรข่าว” “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ที่กลับมาจัดรายการข่าวอีกครั้งตลอด 7 วันต่อสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ใน 2 รายการข่าว คือ เรื่องเล่าเช้านี้ จันทร์-ศุกร์ เวลา 6.00-8.20 น. และเรื่องเล่าเช้านี้ เสาร์-อาทิตย์ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.30-12.15 น. ได้รับผลตอบรับอย่างดี ส่งผลให้เรตติ้งรายการข่าวเพิ่มขึ้น กลายเป็นปัจจัยสำคัญทำให้รายได้โฆษณากลับมาโดดเด่นตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2564
– การปรับผังรายการและการใช้คอนเทนต์ละครใหม่ออกอากาศเพิ่มขึ้นในปี 2564 แต่ช่วงไตรมาส 3 มีการใช้ละครรีรันในช่วงไพรม์ไทม์ ตามสถานการณ์ตลาดที่เม็ดเงินโฆษณาลดลงจากสถานการณ์โควิดระบาดระลอกใหม่
2. รายได้จากการใช้ลิขสิทธิ์และบริการอื่น 846 ล้านบาท ลดลง 19.7%
– รายได้การขายลิขสิทธิ์ละครไปต่างประเทศ (Global Content Licensing) อยู่ที่ 226 ล้านบาท ลดลง 182 ล้านบาท หรือลดลง 44.7% จากการแพร่ระบาดโควิดทำให้ต้องหยุดถ่ายละครชั่วคราว ส่งผลให้การออกอากาศละคร Simulcast ที่ต่างประเทศและการขาย Exclusive Content ให้กับ OTT Platform ต้องเลื่อนออกไป
– รายได้จากดิจิทัลแพลตฟอร์ม 599 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 170 ล้านบาท หรือ 39.6% จากปีก่อนหน้า โดยมีบริการแอปพลิเคชัน CH3 Plus แพลตฟอร์ม OTT ดูรายการสดและย้อนหลังของช่อง 3 และเปิดตัว CH3 Plus Premium ระบบบอกรับสมาชิก หรือ Subscription Video on Demand (SVOD) มีเอ็กคลูชีฟ คอนเทนต์และเอ็กซ์คลูซีฟ อีเวนท์สำหรับสมาชิก
– การจำหน่ายคอนเทนต์และเอ็กคลูซีฟ คอนเทนต์ ให้กับ OTT Platform อื่นๆ ที่ให้บริการในประเทศไทย เพื่อขยายฐานผู้ชม
ปี 65 เล็งรายได้ขายลิขสิทธิ์-ดิจิทัลแพลตฟอร์ม 1,000 ล้าน
แนวโน้มปี 2565 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป จากปัญหาภาวะเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันสูงขึ้นและหนี้สินภาคครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง รวมถึงการท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากโควิด อาจยังเป็นความเสี่ยงที่ส่งผลให้การใช้เม็ดเงินโฆษณาชะลอตัวในปีนี้
สรุปแผนธุรกิจ BEC ช่อง 3 ในปี 2565 ดังนี้
– BEC ไม่ได้เป็นเพียงสถานีทีวีอีกต่อไป แต่เป็นองค์กรที่ใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ช่อง 3 ตามวิสัยทัศน์ใหม่ “ผู้นำด้านคอนเทนต์และธุรกิจบันเทิงของประเทศไทย” โดยมีแผนพัฒนาคอนเทนต์ให้สร้างรายได้จากดิจิทัลแพลตฟอร์มและขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ
2. การสร้างรายได้ใหม่
มีเป้าหมายทำให้ BEC มีธุรกิจหลากหลายแข่งขันได้ในระดับโลก ลดการพึ่งพารายได้จากค่าโฆษณาทีวี ที่มีสัดส่วนรายได้กว่า 80% โดยสร้างนวัตกรรมการโฆษณารูปแบบใหม่ๆ เช่น โฮมช้อปปิ้ง QR Code SMS รวมทั้งการรับรู้แบรนด์และการมีส่วนร่วมผ่านการตลาดแบบบูรณาการ (Integrated Marketing Solutions)
– กลยุทธ์ Single Content – Multiple Platforms จะสร้างรายได้จากช่องทางอื่นๆ โดยนำคอนเทนต์ที่ออกอากาศบนทีวี ไปต่อยอดสร้างรายได้ผ่านธุรกิจจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ (Global Content Licensing) และดิจิทัลแพลตฟอร์ม ปี 2565 ตั้งเป้าหมายรายได้ 1,000 ล้านบาท
– กลุ่ม Global Content Licensing ธุรกิจจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในต่างประเทศ ได้ขยายตลาดไปหลากหลายประเทศและแพลตฟอร์ม เน้นตลาดจีนและอาเซียน รวมทั้งตลาดที่น่าสนใจอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และการขยายตลาดไปยังแพลตฟอร์มใหม่ๆ รวมถึงการขายที่มีความหลากหลายมากขึ้น ปี 2565 ได้ปิดดีลการทำ Simulcast ละครช่อง 3 กับแพลตฟอร์ม Netflix ในรูปแบบ Date on Broadcast รวม 6 เรื่อง และ Partail Simulcast ละครผ่านแพลตฟอร์ม Tencent
– ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม จัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ผ่าน Content Streaming Service Operators ต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ช่องทางหลัก คือ แอป CH3 Plus ของช่อง 3 ที่ให้บริการดูรายการทีวีสด และดูย้อนหลัง ในปี 2564 ได้เพิ่มบริการ CH3 Plus Premium บริการสมัครสมาชิก (SVOD) ดูคอนเทนต์พรีเมียมก่อนใคร และกิจกรรมพิเศษพบปะดารานักแสดงช่อง 3 ในรูปแบบ Fandom ตลอดปี