ทนายสาระแน? ช่วยหญิงถูกลูกชายอดีตอัยการทำร้ายร่างกาย
ตามที่มีการนำเสนอข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆเกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงในครอบครัวว่ามีน้องผู้หญิงคนหนึ่งถูกสามีซึ่งเป็นลูกชายอดีตอัยการท่านหนึ่งทำร้ายร่างกายโดยการกระทืบทุบตีมาตั้งแต่ต้นปี 2564 หลายครั้งหลายหน โดยน้องซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจแล้วถึง 4 ครั้งโดยคดีไม่คืบหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงลงบันทึกประจำวันไว้ และไม่ได้มีการสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดีกับสามีผู้กระทำความรุนแรงจนเกิดเหตุอีกครั้งหนึ่ง
อ่านต่อ:“ทิน โชคกมลกิจ” รีวิวโควิด Day 1 | daradaily
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2565 น้องผู้หญิงคนดังกล่าวถูกสามีกระทืบซ้ำอีกจนเกิดการบาดเจ็บหนัก ดั้งจมูกหัก นิ้วหักหน้าและขอบตาบวมช้ำ บาเจ็บ ทั่วร่างกายจนในที่สุดน้องผู้เสียหายคนดังกล่าว หาทางออกไม่ได้จึงมาร้องเรียนต่อ นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.จังหวัดกำแพงเพชร รองเลขานุการ พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ซึ่งได้ตั้งศูนย์ร้องทุกข์ เกี่ยวกับการพิทักษ์สิทธิเด็กสตรีและผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเพื่อให้การช่วยเหลือพาไปแจ้งร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและแจ้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และเร่งรัดให้ตำรวจดำเนินคดีกับผู้กระทำตามกฏหมายโดยสื่อมวลมีการเสนอคลิปจากกล้องวงจรปิดในสื่อต่างๆอย่างแพร่หลาย ซึ่งประชาชนทั่วไปดูแล้วเกิดความสลดหดหู่ให้ความเห็นใจและสงสารน้องผู้หญิงผู้ถูกกระทำ การกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวดังกล่าว
ทั้งนี้ “สาคร ศิริชัย” ทนายความอาสาเผยว่า กรณีนี้นอกจากจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาแล้วยังผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวพุทธศักราช 2550 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมุ่งเน้นคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ให้ผู้กระทำความผิด ในครอบครัว ปรับปรุงแก้ไขตนเอง และฟื้นฟูเยียวยาผู้ถูกกระทำให้ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐอย่างรวดเร็วและเป็นธรรมนอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติให้ผู้พบเห็นการกระทำความรุนแรงมีหน้าที่ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยมีสารสำคัญที่ประชาชนควรรับรู้ดังนี้
1.บุคคลในครอบครัวนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสเท่านั้นหมายความรวมถึงสมาชิกทุกคนในครอบครัวที่พึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกันด้วย
2.การกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวตามคำจำกัดความในมาตรา 3 หมายถึงการกระทำใดใดที่มุ่งประสงค์ให้เกิดผลร้ายแก่ร่างกายจิตใจหรือสุขภาพหรือการกระทำที่น่าจะเกิดอันตรายหรือการบังคับขู่เข็ญให้กระทำการไม่กระทำการหรือยอมรับการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยมิชอบตามทำนองคลองธรรมพูดง่ายง่ายไม่ต้องถึงทำร้ายให้เลือดตกยางออกเช่นการที่ผู้ชายมีภรรยาอยู่ในบ้านแล้วไปมีเมียน้อยแล้วพาเมียน้อยเข้ามาอยู่บ้านแล้วขู่เข็ญบังคับให้เมียหลวงยอมรับสภาพหรือจำยอมก็ถือเป็นความรุนแรงในครอบครัวแล้ว
3. ผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีหน้าที่ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าพนักงานปกครองและเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ถูกกระทำและเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดและถ้ามีการแจ้งโดยสุจริตกฎหมายให้ความคุ้มครองไม่ผิดทั้งทางแพ่งและอาญา
หมายความว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้บัญญัติให้บุคคลที่พบเห็นการกระทำรุนแรงในครอบครัวซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกันมีหน้าที่ต้องแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำและช่วยเหลือผู้ถูกกระทำถ้าไม่แจ้งจนเกิดเหตุบานปลายผู้ถูกกระทำได้รับบัตรเจ็บหรือถึงกับเสียชีวิต ผู้พบเห็นอาจเข้าข่ายมีความผิดฐานกระทำโดยงดเว้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคห้าด้วยนอกจากนี้การแจ้งดังกล่าวหากกระทำโดยสุจริตกฎหมายคุ้มครองไม่ผิดทั้งทางแพ่งและอาญา
สรุปง่ายง่ายคือการเสือกเรื่องของชาวบ้านเรื่องความรุนแรงในครอบครัวไม่มีความผิด ประชาชน หากพบเห็นการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวแจ้งสายด่วน พม.1300 หรือร้องเรียนมาที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ภาคเศรษฐกิจไทย (ศท.)