ชี้ทนายไม่ควรเอาตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคดี “แตงโม นิดา”
ทนาย “สาคร ศิริชัย” เผยถึงกรณีบทบาททนายความในคดี “แตงโม นิดา” ว่า ในสังคมยุคสื่อสารที่มีการเสพข่าวกันอย่างไร้ขีดจำกัดเนื่องจากประชาชนสามารถเข้าถึงข่าวสารได้หลายช่องทางและในขณะเดียวกันก็สามารถเผยแพร่ข่าวหรือข้อมูลของตนเองสู่สาธารณะได้อย่างง่ายดายหลากหลาย ช่องทาง อย่างไร้ขีดจำกัด บางครั้ง การเสพย์ข่าวสารของประชาชน หากขาดองค์ความรู้ โดยไม่มีการพินิจพิจารณา โดยเหตุโดยผล แต่เอาความรู้สึกหรือความเชื่อของตนเองเป็นที่ตั้ง จะทำให้การแสดงความเห็นออกมาสู่สังคมผิดเพี้ยน ก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคมได้
อ่านต่อ: ทนายสาครสรุป 5 ประเด็น “แตงโม นิดา” ก่อนตำรวจสรุปคดี 26 ...
กรณีเกิดคดีที่เป็นคดีสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ จนเป็นประเด็นสาธารณะ เช่นคดี “แตงโม นิดา” ทนายความ ซึ่งเป็นวิชาชีพ ที่น่าเชื่อถือของสังคม ควรมีบทบาทในการชี้แนะข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดีนั้นนั้นในฐานะที่ตนมีความรู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพให้กับประชาชน มิใช่จะทำตัวเป็นผู้เสพย์ข้อมูลอย่างไร้ทิศทางเสียเอง นอกจากนี้ทนายไม่ควรเอาตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคดีนั้น โดยคิดว่าตนเองเป็นตัวความหรือผู้เสียหายเสียเอง
เพราะการกระทำดังกล่าว จะทำให้การวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดีผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงได้ แต่หากนำตัวเองเข้าไปพัวพันเป็นส่วนหนึ่งของคดี ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใด ก็ต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์การติชมเกี่ยวกับกรณีนั้น จากบุคคลหลายฝ่าย ซึ่งจะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ
แม้การแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ จะเกินเลยไปบ้างก็ไม่ควรใช้วิชาชีพทนายความไปฟ้องร้องกับประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์ เพราะทนายความถือว่าเป็นผู้รู้ข้อกฎหมายและผู้ประกอบวิชาชีพ ที่ทรงเกียรติ ไม่ควรใช้วิชาชีพในการเอาเปรียบประชาชนในเชิงกฎหมาย ที่มาแสดงความเห็นในเรื่องที่ตัวเองเข้าไปพัวพันแม้จะไม่ผิดกฎหมายแต่อาจจะผิดมโนสำนึกและจริยธรรม
นอกจากนี้ การแสดงความเห็น ของทนายความผ่านสื่อต่าง ๆ ควรแสดงด้วยความสุภาพ ไม่ควรใช้ถ้อยคำที่รุนแรงหรือหยาบคายซึ่ง การกระทำดังกล่าว นอกจากจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแล้ว ยังจะทำให้ประชาชน เสื่อมความศรัทธา ในวิชาชีพทนายความอีกด้วย