7 บทเรียนกรณี “หมอปลา” จากมุมมองของทนายสาคร
“สาคร ศิริชัย” ทนายความชื่อดังเขียนบทความวิจารณ์กรณี “หมอปลา” วิจารณ์ 7 บทเรียนดังนี้
จากกรณีข่าว “หมอปลา” และทีมงานเข้าไปตรวจสอบ “หลวงปู่แสง” ซึ่งเป็นพระเถระสายกรรมฐานชั้นผู้ใหญ่อายุ 98 ปีและบวชมาเกือบทั้งชีวิตและไม่มีประวัติเสื่อมเสีย จนเกิดเหตุการณ์กระแสตีกลับซึ่งสังคมให้ความสนใจปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ให้บทเรียนกับหลายหน่วยงานดังนี้
อ่านต่อ: เกลี้ยงแผง หากันวุ่น เหรียญหลวงปู่แสง รุ่นปราบมาร | daradaily
1. ในส่วนของ “หมอปลา” และทีมงานในกรณีนี้มีความผิดพลาดที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงให้ดีว่าหลวงพ่อแสงมีอาการป่วยอย่างไรหรือมีประวัติความประพฤติและวัตรปฏิบัติเป็นอย่างไรที่ผ่านมา แต่ไปฟังข้อเท็จจริงจากบุคคลอื่นซึ่งไม่ทราบว่าจริงหรือไม่จนเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ปฏิบัติไม่เหมาะสมกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่เป็นการละเมิดสิทธิของท่านซึ่งประชาชนที่เคารพเลื่อมใสรับไม่ได้กับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งการกระทำครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนอันสำคัญที่การกระทำครั้งต่อไปจะต้องทำการตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนและต้องไม่กระทำในลักษณะที่เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นจนเกินสมควรและเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายด้วย
แต่อย่างไรก็ตามการกระทำของหมอปลาในบางกรณีก็เป็นการตรวจสอบพระภิกษุที่ประพฤติไม่อยู่ในพระธรรมวินัยหรือประพฤตินอกรีต ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยกับ กรณีดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม
2. ผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนบางสำนักไม่มีจรรยาบรรณในวิชาชีพไปร่วมด้วยช่วยสนับสนุนการกระทำที่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นโดยเฉพาะกรณีดังกล่าวนี้กระทบกระเทือนต่อศรัทธาของประชาชนโดยในกรณีหลวงปู่แสงตัวผู้สื่อข่าวมีการกระทำลักษณะล่อซื้อโดยใช้ ตัวผู้สื่อข่าวเอง เพื่อสร้างพยานหลักฐานในการกล่าวหาหลวงปู่แสงจึงเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง ผู้สื่อข่าวควรรายงานข่าวไปตามข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับรู้มิใช่สร้างเรื่องขึ้นเองเพื่อใช้ประโยชน์จากข่าวดังกล่าว
3. ทนายความบางคนที่ไม่รักษาเกียรติศักดิ์แห่งการเป็นทนายความทั้งที่เป็นผู้รู้กฎหมายเป็นทนายความซึ่งเป็นวิชาชีพที่จะต้องดำรงไว้ซึ่งคุณธรรมและศีลธรรม กรณีดังกล่าว ทนายความรู้ทั้งรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีทนายความซึ่งเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวจะต้องว่ากล่าวห้ามปรามมิให้เกิดการลุกลามบานปลาย แต่กลับเห็นดีเห็นงามช่วยสนับสนุนส่งเสริมผู้ที่ไม่รู้กฎหมายจนทำให้เกิดเรื่องราวดังกล่าว การกระทำดังกล่าวจึงควรได้รับการตรวจสอบ
4.นายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปกครองอยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฏหมายพบเห็นการกระทำที่เป็นการละเมิดต่อกฎหมายและเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของพระเถระชั้นผู้ใหญ่แต่ก็ไม่ห้ามปรามถือได้ว่าเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ
5. เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติในจังหวัดซึ่งถือเป็นเจ้าพนักงานเช่นเดียวกันซึ่งหน้าที่ของผู้อำนวยการพุทธะศาสนาประจำจังหวัดนอกจากจะมีหน้าที่กำกับดูแลพระภิกษุที่ประพฤติไม่สมควรแล้วจะต้องมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมีวัดปฏิบัติและปฏิปทาดีเป็นที่เคารพเลื่อมใสของสาธุชนด้วยแต่กรณีของหลวงปู่แสงอยู่ในพื้นที่ ผู้อำนวยการพุทธะศาสนาประจำจังหวัดจะต้องรู้ดีกว่าทีมงานของหมอปลาที่มาตรวจสอบ ไม่ใช่เดินตามที่หมอปลาได้ชี้นำจนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวงานนี้ถือว่าเจ้าพนักงานของสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติพลาดอย่างแรง
6. พระอุปัฏฐากที่อยู่รอบกายหลวงพ่อแสงจะต้องมีการเข้มงวดกว่านี้ในการดูแลหลวงปู่โดยไม่ให้บุคคลอื่นโดยเฉพาะสตรีเข้าใกล้หลวงพ่อรวมทั้งจะต้องไม่ใช้ตัวหลวงพ่อซึ่งเป็นที่เคารพรักศรัทธาในการแสวงหาผลประโยชน์ไม่ว่าในทางใดเช่นการจำหน่ายวัตถุมงคลหรือการอวดอ้างสรรพคุณความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อในการรักษาโรคภัยต่างๆนอกจากให้พุทธศาสนิกชนประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของหลวงพ่อเท่านั้น
7.บทเรียนของประชาชนที่ชอบติดตามการทำงาน ของบุคคลหรือหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการแต่ทำอะไรที่เป็นการรวดเร็วสะใจไม่คำนึงถึงกฎหมายซึ่งเป็นขื่อแปของบ้านเมือง เมื่อการกระทำดังกล่าวได้รับความยอมรับและมีคนนิยมชมชอบและนำความนิยมชมชอบดังกล่าวในการแสวงหาผลประโยชน์ก็เกิดการลุแก่อำนาจ จนทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่สมควรดังกล่าว
การจะตรวจสอบบุคคลอื่นจะต้องทำให้ถูกต้องและไม่เป็นการคุกคามละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นจนเกินสมควรทั้งนี้จะต้องไม่ทำตัวเป็น”ศาลเตี้ย”เพื่อตัดสินคนอื่นในทันทีทั้งทั้งที่ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏชัด