สวธ. เผยแพร่องค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี 2565 จำนวน 14 รายการเปิด 77 เมนู “รสชาติ...ที่หายไป The Lost Taste” ทั่วประเทศ
วันที่ 21 กันยายน 2566 เวลา 09.30 น. กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงาน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งในช่วงเช้ามีพิธีเปิดการประชุมวิชาการทางวัฒนธรรม “วิจัยวัฒนธรรม ครั้งที่ 13” และกิจกรรมการบรรยาย การเสวนาทางวิชการมรดกภูมิปัญญาที่เตรียมนำเสนอยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียน
อ่านข่าวต่อ:“นก บริพันธ์” นายกสมาคมเพลงลูกทุ่งแห่งประเทศไทยร่วมงาน 84 ปี “ชาย เมืองสิงห์”
โดยนายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประธาน กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นด้วย มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสาระความรู้ทางวัฒนธรรมในประเด็น อันเป็นประโยชน์ต่อสังคม พร้อมเผยแพร่สาระงานวิจัยทางวัฒนธรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
กิจกรรมภายในงานเริ่มด้วย การบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางวัฒนธรรมภายใต้ การเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกยุคใหม่” โดยรองศาสตราจารย์ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา ต่อด้วยการเสวนา “งานวิจัยภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อการใช้ประโยชน์” 2 เรื่อง คือ “หนังใหญ่และการขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโก” โดย ผศ. เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรื่อง “การสืบทอดละครชาตรี ชุมชนนางเลิ้ง” โดย ผศ.สิทธิชัย สุขธรรมสถิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ ดำเนินรายการเสวนาโดย ผศ.สุรศักดิ์ จำนงค์สาร จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
จากนั้น เป็นการเสวนาพิเศษ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เตรียมขอขึ้นทะเบียนยูเนสโก ในปี พ.ศ. 2567” จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ “ชุดไทยพระราชนิยม” โดย ผศ.อนุชา ทีรคานนท์ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อด้วยเรื่อง “ประเพณีลอยกระทง” โดย รศ.ฤทธิรงค์ จิวากานนท์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “มวยไทย” โดย ดร.ประไพร จันทะบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ดำเนินรายการโดย นายชาคริต สิทธิฤทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ภายในงานยังมี การสาธิตเพื่อเสริมความรู้ด้านงานวิจัย คือ สาธิตการตอก-แกะสลักหนังใหญ่ วัดขนอน จังหวัดราชบุรี การแสดงรำซัดชาตรี ของกรุงเทพมหานคร และการจัดแสดงนิทรรศการสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ขึ้นบัญชีของชาติ ประจำปี 2565 จำนวน 14 รายการ ณ บริเวณหน้าอาคารอเนกประสงค์ และทางเดินหน้าหอประชุมใหญ่ ประกอบด้วย 1. บ่อเกลือ สาธิตการจำลองบ่อเกลือ และการทำสปาเกลือ 2. ตำนานนางผมหอม พิธีกรรมวรรณกรรมตำนานนางผมหอม 3. ตำนานหลวงพ่อพระใส พิธีกรรมการสักการะบูชาและสรงน้ำหลวงพ่อพระใสจำลอง ผ่านประเพณีสงกรานต์ 4. แห่นกบุหรงซีงอ สาธิตการทำผลิตภัณฑ์นกบุหรงซีงอ 5. ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ สาธิตการทำบายศรี และอาหาร กระยาสารท ข้าวต้มมัดที่ใช้ถวายพระพุทธมหาธรรมราชาจำลอง 6. น้ำผักสะทอน สาธิตการทำเมี่ยงน้ำผักสะทอน 7. ผ้าไหมหางกระรอกโคราช สาธิตกระบวนการทอผ้า 8. ผ้าซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ สาธิตกระบวนการทอผ้า 9. ผ้าโฮลสุรินทร์ สาธิตมัดหมี่ผ้าโฮล 10. เมรุลอย สาธิตการจำลองโมเดลเมรุลอย-งานช่างตอกกระดาษ 11. การเส็งกลองกิ่ง สาธิตกิจกรรมการเส็งกลองกิ่ง 12. การเล่นโหวด สาธิตขั้นตอนการทำโหวด เป่าโหวด และแกว่งโหวด 13. เรือบก สาธิตการทำหุ่นฟางคนแสดงท่าทาง พร้อมแต่งชุดแข่งขันเรือบก และอุปกรณ์ไม้ไผ่ใช้สำหรับแข่งขัน และ 14. กลองกิ่ง การแสดงการเส็งกลองกิ่ง
นอกจากนี้ ผู้มาร่วมงาน ประชาชนทั่วไปยังได้ศึกษาที่มา ความสำคัญของเมนูอาหาร 77 เมนู ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ประกาศให้เป็น “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” รสชาติ...ที่หายไป The Lost Taste ประจำปี 2566 ณ ลานหน้าหอประชุมใหญ่ ได้ชิมรสชาติอาหารท้องถิ่นที่ใกล้สูญหาย อีกด้วย..
#1จังหวัด1เมนูเชิดชูอาหารถิ่น #รสชาติที่หายไป #มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม