“รัฐมนตรีปุ๋ง สุดาวรรณ” เผย “ยูเนสโก” รับรอง “ต้มยำกุ้ง” อาหารชื่อดังของประเทศไทย ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ประจำปี 2567

“รัฐมนตรีปุ๋ง สุดาวรรณ” เผย “ยูเนสโก” รับรอง “ต้มยำกุ้ง” อาหารชื่อดังของประเทศไทย ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ประจำปี 2567

0

“รัฐมนตรีปุ๋ง สุดาวรรณ” เผย “ยูเนสโก” รับรอง “ต้มยำกุ้ง” อาหารชื่อดังของประเทศไทย ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ประจำปี 2567

        “นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 (The nineteenth session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage: IGC-ICH) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ระหว่างเวลา 14.50 - 16.30 น. (เวลาท้องถิ่น) ณ นครอซุนซิออน (Asuncion) สาธารณรัฐปารากวัย หรือตรงกับ วันที่ 4 ธันวาคม 2567 ระหว่างเวลา 00.50 – 02.30 น. (ของประเทศไทย) มีมติรับรองให้ “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity : RL) ประจำปี 2567 ต่อจากรายการ โขน นวดไทย โนรา และ สงกรานต์ ในปีที่ผ่านมา

UNESCO ต้มยำกุ้ง

UNESCO ต้มยำกุ้ง

        รมว.วธ. กล่าวว่า ในการเสนอ ต้มยำกุ้ง ขึ้นทะเบียนมรดกฯ กับยูเนสโก นี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564 เห็นชอบให้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เสนอขอขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ของยูเนสโก หลังจากที่ ต้มยำกุ้ง ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเมื่อปี พ.ศ. 2554 ในสาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ประเภทอาหารและโภชนาการ ด้วย ต้มยำกุ้ง เป็นมรดกภูมิปัญญาฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย ที่มีความเรียบง่าย มีสุขภาวะทั้งกายและใจที่แข็งแรง รู้จักการพึ่งพาตนเองด้วยวิธีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็น “กับข้าว” ที่คนในชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำในพื้นที่ภาคกลาง นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยชื่อ ต้มยำกุ้ง เกิดจากการนำคำ 3 คำมารวมกันได้แก่ “ต้ม” “ยำ” และ “กุ้ง” ซึ่งหมายถึงกระบวนการทำอาหารที่นำเนื้อสัตว์ คือ กุ้ง ต้มลงในน้ำเดือดที่มีสมุนไพรซึ่งปลูกไว้กินเองในครัวเรือนอย่างข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และปรุงรสจัดจ้านแบบยำ ให้มีรสเปรี้ยวนำด้วยมะนาว ตามด้วยรสเค็มจากเกลือหรือน้ำปลา รสเผ็ดจากพริก รสหวานจากกุ้ง และขมเล็กน้อยจากสมุนไพร นั่นเอง

UNESCO ต้มยำกุ้ง

UNESCO ต้มยำกุ้ง

        “ปัจจุบัน ภูมิปัญญาการทำต้มยำกุ้งได้มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่อง และแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สูตรต้มยำกุ้งที่แปลกใหม่มากมาย เพื่อตอบสนองต่อสภาพทางภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต และรสนิยมการบริโภคอาหารที่แตกต่างกันไปของคนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งยังเป็นอาหารที่ได้รับความนิยม ชื่นชอบของชาวต่างชาติ ถือเป็น Soft power ด้าน อาหาร เมนูสำคัญของประเทศไทย ที่กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็นเมนูยอดนิยมของคนทั่วโลก” รมว.วธ. กล่าว

UNESCO ต้มยำกุ้ง

        รมว.วธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่มรดกวัฒนธรรมของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว วธ. มีแนวทางการส่งเสริมและต่อยอดตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม ในการขับเคลื่อน Soft power ด้านอาหาร และ ด้านแฟชั่น โดยใช้เศรษฐกิจทางวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ อาทิ  ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร เกม รายการโทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์ ให้สอดแทรกเนื้อหา ต้มยำกุ้ง เพื่อสร้างกระแสความนิยมในวงกว้าง และบูรณาการกับภาคธุรกิจ-การท่องเที่ยว ในการนำ ต้มยำกุ้ง เป็นเมนูหลัก เมนูอาหารต้องชิม เมื่อมาเที่ยวเมืองไทย บรรจุลงในโปรแกรมการท่องเที่ยว และเป็นเมนูอาหารที่ต้องระบุไว้ในรายการอาหารขึ้นโต๊ะผู้นำ รวมทั้งผู้เข้าร่วมในการประชุมที่จัดในประเทศไทย หรือที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ตลอดจนเชิญชวนให้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวและการบริการ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร่วมจัดแคมเปญพิเศษในการส่งเสริมการขาย
เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายเมนูต้มยำกุ้ง และยังเป็นการสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าและสาระของเมนูต้มยำกุ้งไปสู่ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติอีกด้วย

UNESCO ต้มยำกุ้ง

UNESCO ต้มยำกุ้ง

        รมว.วธ. เปิดเผยอีกว่า นอกจากรายการต้มยำกุ้งแล้ว ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลาระหว่าง 09.30 - 12.30 น. (เวลาท้องถิ่น) สาธารณรัฐปารากวัย ซึ่งตรงกับวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลาระหว่าง 19.30 – 22.30 น. (เวลาประเทศไทย) ขอเชิญชวนชาวไทย โดยเฉพาะพี่น้องภาคใต้ เตรียมลุ้น “เคบายา” รายการมรดกวัฒนธรรมที่เสนอขอขึ้นร่วม 5 ประเทศ คือ ประเทศมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย จะได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียน
ในปีเดียวกัน อีกด้วย

        ในโอกาสที่น่ายินดีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงขอเชิญพี่น้องประชาชนร่วมกิจกรรม งานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ระหว่างที่ 6-8 ธันวาคม 2567 ณ Quartier Avenue ชั้น G ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์ โดยในวันที่ 6 ธันวาคม เวลา 18.00 น. จะมีพิธีเปิดงานโดย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติเปิดงานอย่างเป็นทางการ ภายในงานพบกับเชฟไอซ์ ศุภักษร จงศิริ ผู้สร้างประวัติศาสตร์พาร้านอาหารไทย 'ศรณ์' คว้ารางวัล สามดาวมิชลินเป็นแห่งแรกของโลก และการสาธิตการทำต้มยำกุ้ง โดยเชฟตุ๊กตา (ครัวบ้านยี่สาร) หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย พร้อมให้ชิมต้มยำกุ้งฟรี รวมถึงการแสดงแฟชั่นโชว์ชุดเคบายา นำโดยนางสาวไทยและรองนางสาวไทย และร่วมชมนิทรรศการ “ต้มยำกุ้ง” และนิทรรศการ/สาธิตการปักชุด-เครื่องประดับ “เคบายา” และอาหารเปอรานากัน จากจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรังและสตูล และยังได้เพลิดเพลินกับการแสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรมให้รับชมตลอดงาน โดยติดตามรายละเอียดได้ที่ www.culture.go.th และเฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

        และในการนี้นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตรคำกล่าวขอบคุณต่อที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ครั้งที่ 19 ในการพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกอีกด้วย

UNESCO ต้มยำกุ้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Comments