"อาถรรพ์..พิษสวาท"

"อาถรรพ์..พิษสวาท"

1

       เรื่อง "พิษสวาท" ของ ทมยันตี กลับมาทําอีกครั้ง โดยให้ "ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์" รับบท "อัคนี" ที่อดีตชาติเป็นขุนศึกในสมัยอยุธยา ครั้งสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงครองราชย์ และกลับชาติมาเกิดใหม่เป็นนักโบราณคดีที่มีสัญญากับอดีตอยู่เสมอ จึงอยากค้นหาความจริงว่าตนคือใครกันแน่

ส่วนนางละคอนขับฟ้อนที่เป็นเมียพระราชทานนาม "อุบล" ซึ่งมอบหัวใจรักทั้งชีวิตให้กับขุนศึก และต่อมากลายเป็นผู้เฝ้าทรัพย์แผ่นดินที่มีทั้งเพลิงแค้นเพลิงรักอาฆาตเพื่อต้องการให้ขุนศึกมารับหน้าที่นี้แทนเธอ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า "สโรชินี" ได้ให้ "บี-น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์" มารับบทนี้

ส่วนผู้เขียนบทละครโทรทัศน์คือ ฐานวดี สถิตยุทธการ ซึ่งได้รับทราบมาว่า ในขณะนี้ได้มีการประชุมปรับบทให้มันแรงและแหลมขึ้นกว่าเดิมอีกมาก แต่จะลงตัวเมื่อไรนั้นยังไม่สรุป เพราะเป็นขั้นเริ่มเตรียมงานกันอยู่ อย่างไรก็ตาม ก็อยากจะบอกเล่าถึงเบื้องหลังของนวนิยายเรื่องนี้ว่ามีอาถรรพ์อะไรมาบ้าง

ในขณะที่ทมยันตีกําลังเขียนนวนิยายเรื่องนี้ลงตีพิมพ์นิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์ในเวลานั้น ก็ร่วม ๔๐ ปีมาแล้ว คุณหญิงได้ทั้งเล่าให้คนใกล้ชิดและสัมภาษณ์เบื้องหลังนวนิยายเรื่องนี้ว่า ระหว่างที่เขียนถึงอุบลหรือสโรชินีในเวลากลางคืนอยู่นั้น คุณหญิงจะได้กลิ่นหอมของดอกบัวโชยตลบทั่วห้องทํางาน และเห็นภาพผู้หญิงนุ่งห่มสไบมายืนอยู่ที่มุมห้องเสมอ ซึ่งคุณหญิงไม่กลัวแต่กลับพูดคุยด้วย โดยเรียกหญิงนางนั้นว่า "คุณบัว" อยู่เสมอ พร้อมทั้งจุดธูปไหว้ขออนุญาตหญิงนางนั้นไปด้วย ทําให้คุณหญิงเขียนเรื่องนี้ได้อย่างราบรื่นจนจบเรื่อง และหญิงนางนั้นก็หายไปพร้อมกับอุบลด้วยเช่นกัน

 


กระทั่งต่อมา เทิ่ง สติเฟื่อง นักจัดละครฟอร์มใหญ่คนแรกของวงการละครโทรทัศน์ไทยที่ว่า "ฉิบหายไม่ว่า ต้องการชื่อเสียง" ซึ่งต่อมา "ไก่-วรายุธ มิลินทจินดา" ซึ่งเป็นคนที่สองที่มีคติพจน์นี้เช่นกัน คือ "เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ไก่ทํา"

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นครั้งแรกที่ พิษสวาท ปรากฏบนจอโทรทัศน์ขาว-ดํา โดยทมยันตี และเทิ่ง สติเฟื่อง ต่างร่วมกันเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่องนี้ พร้อมทั้งมีเพลงประกอบละครถึง ๒ เพลงด้วยกัน โดยทมยันตีเขียนคําร้องทั้งสองเพลง และครูใหญ่ นภายน เรียบเรียงเสียงประสาน เพลงทั้งสองนี้คือ เพลงมิ่งมิตร ร้องโดย ชาญวิทย์ ผลประเสริฐ และเพลงอุบล ร้องโดย บุษยา รังสี เป็นเพลงที่ไพเราะมาก ซึ่งทั้งคนจัดและคนดูต่างติดตามเรื่องนี้ด้วยความสนุกปนหวาดกลัว และยิ่งหวาดกลัวมากขึ้นเมื่อนางเอกของเรื่อง คือ เสาวนีย์ สกุลทอง ที่กําลังเล่นเรื่องนี้ได้เพียงตอนเดียว จากกําหนดไว้ ๓ ตอนจบ เกิดอุบัติเหตุรถชนกันจนเสียชีวิตทันที ทั้งเทิ่ง และนักแสดงต่างๆ ของเรื่องนี้ต่างตกใจอย่างไม่คิดฝัน ทําให้เทิ่งต้องหานางเอกใหม่มาแทนซึ่งหายากมาก เพราะไม่มีใครกล้าที่จะมารับบทนี้ เทิ่งจึงตัดสินใจจบละครเรื่องนี้ภายใน ๒ ตอนทันที

อีก ๓ ปีต่อมา พิษสวาทก็ถูกนํามาทําเป็นทั้งละครวิทยุและภาพยนตร์ ครั้งนี้ก็เริ่มอาถรรพ์อีก โดยเริ่มที่คณะละครวิทยุอัชชาวดี ของจีรภา ปัญจศิลป์ พี่สาวแท้ๆ ของไพโรจน์ สังวริบุตร ซึ่งในระหว่างที่คนฟังละครวิทยุกําลังสนุกกับการแสดงอยู่นั้น ก็เกิดได้ยินข่าวมาว่าห้องเสียง จาตุรงค์ สถานที่ที่ชาวคณะอัชชาวดีกําลังอัดเทปเล่นเรื่องนี้อยู่ เกิดระเบิดไฟลุกไหม้โดยไม่รู้สาเหตุ ดีว่าดับไฟทัน ไฟจึงไม่ลุกลามจนมอดไหม้ไปหมด แต่ก็ทําให้นักแสดงละครวิทยุต่างอกสั่นขวัญแขวนกันทุกคน ผู้จัดจึงตัดสินใจรีบจบเรื่องนี้เร็วขึ้นกว่ากําหนดทันที

และในปีเดียวกันนั้นเอง เมื่อเป็นภาพยนตร์ก็มีคนดูกันมาก แต่ก็เริ่มพูดถึงอาถรรพ์กันบ้างแล้ว ทว่า รุจน์ รณภพ กลับไม่เชื่อเรื่องนี้ เหมือนที่เขารับบทเป็นเชษฐา ซึ่งเป็นดอกเตอร์สาขาวิทยาศาสตร์ แต่แล้วก็ปรากฏข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ทั้งที่ภาพยนตร์พิษสวาทกําลังฉายในช่วงต้นๆ ของโปรแกรม และกําลังทํารายได้ดี คือ รุจน์ รณภพ และ อรัญญา นามวงศ์ ได้ประกาศแยกทางกันโดยไม่มีใครทันตั้งตัวสักคน ซึ่งสร้างความตระหนกตกใจให้กับแฟนหนังกันทั้งสิ้น ส่วนสาเหตุใดนั้น ขอละไว้ ไม่กล่าวถึง

อีก ๗ ปีต่อมา เมื่อ ตุ้ย-วรยุทธ พิชัยศรทัต นํามาทําอีกครั้ง ครั้งนี้เขาได้ทําการบวงสรวงทุกครั้งที่มีการอัดเทป โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอุบลหรือสโรชินี จึงไม่เกิดเหตุการณ์ใดๆ แต่กลับไปปรากฏกับ รัชนู บุญชูดวง ที่รับบทนี้ เธอเล่าให้คนใกล้ชิดฟังว่า เธอทั้งสัมผัสและฝันถึงหญิงสาวโบราณอยู่เสมอ และบอกเธอว่า ขอให้เล่นเป็นตัวเธอ (หญิงสาวโบราณ) ให้ดีที่สุดนะ รัชนูจึงต้องคอยทําบุญอุทิศส่วนกุศลให้หญิงสาวโบราณตราบจนปิดกล้อง หญิงสาวคนนั้นก็หายไปพร้อมกัน

อีก ๑๐ ปี ต่อมา เมื่อบริษัทกันตนาทําละครเรื่องนี้ คราวนี้ไม่ปรากฏกับ ลีลาวดี วัชโรบล ที่รับบทอุบล แต่กลับไปปรากฏกับ วรรณิศา ศรีวิเชียร ที่รับบทเป็นทิพย์ เพื่อนของอุบล ที่กลับชาติมาเกิดเป็นทิพอาภา โดยเล่นเรื่องนี้ไปได้ครึ่งเรื่อง เกิดประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างมาก จนต้องขอถอนตัว ทางบริษัทกันตนาจึงให้ ดี้-ปัทมา ปานทอง มารับบทนี้ในครึ่งหลังของเรื่องแทน

 


มาในปีนี้ คือ ปีพ.ศ. ๒๕๕๓ บริษัทเอ็กแซ็กท์ได้นํากลับมาทําอีกครั้งซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดอาถรรพ์อีกหรือไม่ หากมองในเชิงวิเคราะห์วิทยาศาสตร์แล้วเห็นว่ามันเป็นเรื่องของอุบัติเหตุเสียส่วนใหญ่ ซึ่งจะเกิดเมื่อใดก็ได้ อีกทั้งบางเรื่องก็เป็นเรื่องของอุปาทาน ของแต่ละปัจเจกบุคคลกันไป ซึ่งเรื่องนี้ว่ากันไม่ได้ เพราะเรื่องศาสตร์ลี้ลับนี้ไม่สามารถหาข้อพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน เหมือนวิทยาศาสตร์ที่ต้องค้นหาข้อพิสูจน์ความจริงเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในโลกของศิลปะต่างเชื่อถือเรื่องนี้ว่ามีอยู่จริง แม้จะพิสูจน์ไม่ได้ก็เถอะ จึงอยากจะขอเสนอแนะแก่ผู้จัดค่ายเอ็กแซ็กท์นี้ว่า หากคิดจะบวงสรวงแล้ว ขอให้ไปใช้สถานที่จริงจะเป็นการดีที่สุด เพราะเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับสมัยอยุธยา ครั้งกรุงแตก ครั้งที่ ๒ คือ พระราชวังโบราณ อยุธยา เหมือนที่ค่ายดีด้า เมื่อครั้งถ่ายทําละครอิงประวัติศาสตร์เรื่องฟ้าใหม่ ก็ทําการบวงสรวงสถานที่แห่งนี้เช่นกัน และก็ไม่พบกับความอาถรรพ์แต่อย่างใดทั้งสิ้น

ยกเว้นนักแสดงบางคน เช่น เจค-ศตวรรษ ดุลยวิจิตร เป็นต้น ที่ไม่ได้ทําการบวงสรวงจึงพบเหตุการณ์บางอย่างเหมือน รัชนู บุญชูดวง ที่เคยประสบมาแล้ว ส่วนจะเชื่อหรือไม่...เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Gallery ที่เกี่ยวข้อง

Comments