จุดเปลี่ยน...ทีวีดิจิตอล ใครได้-ใครเสีย ?

จุดเปลี่ยน...ทีวีดิจิตอล ใครได้-ใครเสีย ?

1

จุดเปลี่ยน...ทีวีดิจิตอล ใครได้-ใครเสีย ?

   ตลอดระยะเวลา 58 ปีที่ผ่านมาของวงการโทรทัศน์ระบบภาคพื้นดิน นับตั้งแต่การเกิดสถานีโทรทัศน์ช่องแรกของไทย เมื่อปี พ.ศ.2498 เป็นต้นมา อาจกล่าวได้ว่า วงการโทรทัศน์ไทยไม่เคยหยุดนิ่งในการเติบโตและพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการเกิดโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ในปี พ.ศ.2501 การเกิดสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 ในปี พ.ศ.2510 การเกิดโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) ในปี พ.ศ.2511 การเกิดสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 ในปี พ.ศ.2513 ต่อมาช่อง 4 บางขุนพรหม เปลี่ยนเป็น ช่อง 9 เช่นเดียวกับโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 เปลี่ยนเป็น ช่อง 5 และเปลี่ยนจากระบบขาว-ดำมาเป็นระบบสี พร้อมนำเข้าละครจากประเทศจีน ในปี พ.ศ.2531 สถานีโทรทัศน์ สทท.11 ซึ่งเป็นสถานีแม่ข่ายให้สถานีส่วนภูมิภาคได้ถือกำเนิดขึ้น และในปี พ.ศ.2538 ทีวีเสรีอย่างช่อง ไอทีวี ก็ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งในขณะนั้น ไอทีวี ถือเป็นสถานีบนช่องฟรีทีวีที่มีความแตกต่างจากสถานีอื่นๆ อย่างชัดเจน ทั้งด้านการนำเสนอข่าวสาร รายการ และสาระบันเทิง หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.2551 ไอทีวี ได้ยุติการออกอากาศลง และเปลี่ยนเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของไทย ภายใต้ ชื่อ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) เริ่มออกอากาศครั้งแรก ในวันที่ 15 มกราคม 2551 เป็นต้นมา

   ภายใต้การดำเนินงานโดย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และในปี 2557 นี้ วงการโทรทัศน์ไทยระบบภาคพื้นดิน กำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านระบบการรับ-ส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอะนาล็อก มาเป็นระบบดิจิตอล (Digital) ตามประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญอันยิ่งใหญ่ของวงการโทรทัศน์ไทยอีกครั้ง ซึ่งทันทีที่มีการประกาศเปิดขายซองประมูล เอกชนผู้สนใจต่างแห่ตบเท้าเข้ามารับเอกสารและให้ความสนใจกับการประมูลครั้งนี้อย่างล้นหลาม สำหรับการเปิดการประมูลให้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลเบื้องต้น กสทช. เปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลช่องบริการธุรกิจ (เชิงพาณิชย์) 24 ช่องก่อนเป็นอันดับแรก จากจำนวนทั้งหมด 48 ช่อง ที่มีการแบ่งออกเป็นช่องบริการชุมชน 12 ช่อง ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง ส่วนช่องฟรีทีวีเดิม 6 ช่องยังคงรวมอยู่ใน 48 ช่องนี้ด้วย โดยช่อง 3, ช่อง 7 และ MCOT ถูกจัดอยู่ในช่องธุรกิจ ส่วนช่อง 5, ช่อง NBT และช่อง ThaiPBS ถูกจัดอยู่ในช่องสาธารณะ ทั้งนี้ การประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลประเภททีวีช่องบริการธุรกิจ จำนวน 24 ช่อง ได้แก่ ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว จำนวน 3 ช่อง ช่องรายการข่าวสารและสาระ จำนวน 7 ช่อง ช่องรายการวาไรตี้แบบความคมชัดมาตรฐาน (SD) จำนวน 7 ช่อง และช่องวาไรตี้แบบความคมชัดสูง (HD) จำนวน 7 ช่อง ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 26-27 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยมียอดรวมมูลค่าการประมูลทั้งสิ้น 50,862 ล้านบาท มากกว่ารายได้จากการประมูลเริ่มต้น 15,120 ล้านบาท และมากกว่ารายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ หรือ 3G ในกิจการโทรคมนาคมเมื่อปี 2555 ที่ 41,625 ล้านบาท

   ซึ่งรายได้จากการประมูลครั้งนี้ จะถูกนำเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมทั้ง จัดสรรเป็นคูปองสนับสนุนกล่องรับสัญญาณ หรือ Set Top Box ให้ประชาชนรับชมทีวีดิจิตอลอีกด้วย สำหรับมูลค่าการประมูล 50,862 ล้านบาท แบ่งออกเป็นรายได้จากผู้ได้รับสิทธิ์จากหมวดช่องวาไรตี้แบบความคมชัดสูง (HD) มูลค่า 23,700 ล้านบาท ได้แก่ บีอีซี-มัลติมีเดีย (ช่อง 3) มูลค่า 3,530 ล้านบาท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง มูลค่า 3,460 ล้านบาท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ (ช่อง 7) มูลค่า 3,370 ล้านบาท ทริปเปิลวี บรอดคาสท์ (ไทยรัฐ) มูลค่า 3,360 ล้านบาท บมจ.อสมท มูลค่า 3,340 ล้านบาท อมรินทร์ เทเลวิชั่น มูลค่า 3,320 ล้านบาท และ GMM HD Digital TV 3,320 ล้านบาท รายได้จากผู้ได้รับสิทธิ์จากหมวดช่องรายการวาไรตี้แบบความคมชัดมาตรฐาน (SD) มูลค่ารวม 15,950 ล้านบาท ได้แก่ ไทย บรอดคาสติ้ง (เวิร์คพอยท์) มูลค่า 2,355 ล้านบาท ทรู ดีทีที มูลค่า 2,315 ล้านบาท GMM SD Digital TV มูลค่า 2,290 ล้านบาท บีอีซี-มัลติมีเดีย (ช่อง 3) มูลค่า 2,275 ล้านบาท อาร์เอส เทเลวิชั่น มูลค่า 2,265 ล้านบาท โมโน บรอดคาซท์ มูลค่า 2,250 ล้านบาท และแบงคอก บิสสิเนส (เครือเนชั่น) 2,200 ล้านบาท รายได้จากผู้ได้รับสิทธิ์หมวดช่องข่าวสารและสาระ มูลค่ารวม 9,238 ล้านบาท ได้แก่ NBC Next Vision (เครือเนชั่น) มูลค่า 1,338 ล้านบาท Voice TV มูลค่า 1,330 ล้านบาท ไทยทีวี (ทีวีพูล) มูลค่า 1,328 ล้านบาท สปริงนิวส์ มูลค่า 1,318 ล้านบาท TNN (ทรู) มูลค่า 1,316 ล้านบาท DN Broadcast (เดลินิวส์) 1,310 ล้านบาท และ 3A Marketing มูลค่า 1,298 ล้านบาท สุดท้าย รายได้จากผู้ได้รับสิทธิ์หมวดช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลค่ารวม 1,974 ล้านบาท ได้แก่ บีอีซี-มัลติมีเดีย (ช่อง 3) มูลค่า 666 ล้านบาท บมจ.อสมท มูลค่า 660 ล้านบาท และไทยทีวี (ทีวีพูล) มูลค่า 648 ล้านบาท

   เมื่อพิจารณาเม็ดเงินลงทุนในการประมูลและผลการประมูลแล้วจะเห็นได้ว่า กลุ่มช่อง 3 ในนาม บีอีซี-มัลติมีเดีย ใช้งบลงทุนในการประมูลครั้งนี้สูงที่สุด รวมมูลค่าทั้งสิ้น 6,471 ล้านบาท โดยได้รับใบอนุญาต 3 ใบ รองลงมาคือ กลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, อสมท, กลุ่มทรู, เครือเนชั่น และไทยทีวี (ทีวีพูล) ซึ่งได้รับใบอนุญาตไปที่ละ 2 ใบ นอกจากนี้ ก็มีกลุ่มทุนรายใหญ่หลายราย ซึ่งเคยวางไว้ให้เป็นตัวเก็งจะชนะการประมูลทีวีดิจิตอล กลับต้องพลาดหวังไปเรียกได้ว่า “ยักษ์ล้ม” เช่น กลุ่มมหากิจศิริ กลุ่มอินทัช หรือ ชินคอร์ปอเรชั่น โพสต์ทีวีของกลุ่มโพสต์พับลิชชิ่ง ไอ-สปอร์ต มีเดีย ของกลุ่มสยามกีฬา และสามารถ รวมทั้ง โรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ซึ่งบางรายได้มีการลงทุนเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับทีวีดิจิตอลไปล่วงหน้าแล้ว ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประมูล กสทช. จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลภายใน 15 วัน นับแต่สิ้นสุดการประมูล และชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดแรก 50% ของราคาขั้นต่ำ พร้อมวางหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินสำหรับค่าธรรมเนียมงวดที่ 2 ภายใน 30 วัน หลังได้รับใบอนุญาต รวมถึงต้องดำเนินการขอใช้โครงข่ายโทรทัศน์กับผู้ให้บริการ ภายใน 30 วัน แค่เริ่มต้นเส้นทางของอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลก็เปิดด้วยตัวเลขมหาศาลทั้งจากเงินลงทุนในการประมูลเพื่อให้ได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าของสถานี ซึ่งยังไม่นับรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเช่าโครงข่ายต่อเดือน ค่าธรรมเนียมรายได้ 4% ต่อปี ที่ผู้ได้รับสิทธิ์จะต้องจ่ายในอนาคตอีก ดังนั้น เรียกได้ว่า งานนี้ในช่วงแรกผู้ชนะการประมูลคงต้องแบกรับภาระต้นทุนกันอ่วมกว่าจะคืนทุน สอดคล้องกับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่มีการคาดการณ์ว่า ในช่วง 1 - 4 ปีแรกของการดำเนินธุรกิจ

   กลุ่มผู้ประกอบการให้บริการช่องรายการทีวีดิจิตอล โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหม่ อาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการบริหารด้านการเงิน เนื่องจากในช่วงแรกของการดำเนินงาน จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง เช่น เงินลงทุนด้านการผลิตและจัดหารายการโทรทัศน์ การประมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการรายปี ค่าเช่าโครงข่ายทั้งโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินและทีวีดาวเทียมรายปี เป็นต้น ในขณะที่รายได้หลักจากค่าโฆษณาอาจจะยังไม่ได้มาอย่างเต็มที่เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือเอเยนซีโฆษณาอาจจะยังไม่มั่นใจในความนิยมหรือเรตติ้งในการรับชมรายการโทรทัศน์ในช่องรายการนั้นๆ เพราะเป็นรายการใหม่ ประกอบกับในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่าน สู่ระบบทีวีดิจิตอลนั้น การขยายโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินยังไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้กลุ่มคนดูส่วนใหญ่อาจจะยังคงกระจุกตัวอยู่ที่ช่องรายการฟรีทีวีเดิม นอกจากนี้ ธุรกิจการให้บริการด้านบรอดแคสต์ ตั้งแต่ธุรกิจให้บริการโครงข่ายและการวางโครงข่ายโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล (MUX) ธุรกิจให้บริการช่องรายการ รวมถึงธุรกิจให้บริการผลิตรายการโทรทัศน์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจให้เช่าสตูดิโอ อุปกรณ์การถ่ายทำ เสื้อผ้านักแสดง และธุรกิจการให้บริการเทคนิคพิเศษ

   ต่อจากนี้จะได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการเกิดทีวีดิจิตอล และคาดว่าจะกลายเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการผลักดัน เนื่องจากการแข่งขันของสื่อโทรทัศน์ในยุคทีวีดิจิตอลจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ที่อาจจะเป็นผู้ให้บริการช่องรายการเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมเดิม ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ หรือผู้ประกอบการธุรกิจสื่ออื่นๆ เข้ามาในอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ฟรีทีวี ก่อให้เกิดการแข่งขันในเชิงคุณภาพของรายการโทรทัศน์ เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับชมหลากหลาย ส่งผลให้การจัดหารายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาที่ดีแปลกใหม่และโดดเด่น รวมถึง การบริหารจัดวางผังของประเภทรายการโทรทัศน์ตามช่วงเวลาต่างๆ กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญในการดึงดูดสายตาคนดู และเมื่อธุรกิจสื่อโทรทัศน์มีการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลให้เนื้อหารายการโทรทัศน์มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย นั่นหมายถึงการยกระดับภาพรวมของเนื้อหารายการโทรทัศน์ไทยให้มีคุณภาพ มีความหลากหลาย และตรงกับความต้องการของคนดูมากที่สุด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดผลิตรายการโทรทัศน์ในปี 2557 จะมีมูลค่าสูงถึง 32,690-33,260 ล้านบาท เติบโตกว่าร้อยละ 14 -16 จากปี 2556 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 28,780 ล้านบาท คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ทีวีดิจิตอลที่จะเริ่มออกอากาศในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เป็นต้นไป จะมีหน้าตาออกมาเป็นเช่นไร เส้นทางจะสดใสตามที่มีการคาดการณ์กันไว้หรือไม่ ต้องติดตามชม

จุดเปลี่ยน...ทีวีดิจิตอล ใครได้-ใครเสีย ?

จุดเปลี่ยน...ทีวีดิจิตอล ใครได้-ใครเสีย ?

จุดเปลี่ยน...ทีวีดิจิตอล ใครได้-ใครเสีย ?

จุดเปลี่ยน...ทีวีดิจิตอล ใครได้-ใครเสีย ?

จุดเปลี่ยน...ทีวีดิจิตอล ใครได้-ใครเสีย ?

จุดเปลี่ยน...ทีวีดิจิตอล ใครได้-ใครเสีย ?

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“บอสณวัฒน์” ฟาดยับ! เปลี่ยนชื่อแล้ววัวลืมตีน ด้าน “อุ้ม ทวีพร” ตอบกลับเดือด

ศาลสั่งจำคุก 2 ปี ปรับ 60,000 บาทคู่กรณีกล่าวหา “บุ๋ม” และ “มูลนิธิองค์กรทำดี” หากินกับศพ

กรี๊ดรอ! หมอชิตส่งพระ-นางขวัญใจแฟนคลับจับคู่ลุ้นปริศนาคดีฆาตกรรม

“วิน เมธวิน - เต้ย จรินทร์พร” ปิดกล้อง “Enigma 2 บุหงาหมื่นภมร” แล้ว

ยูทูบเบอร์และนักร้องวัยรุ่นชาวจีนแกรนด์โอเพนนิ่งซุปตาร์ไทย ?

บุตรชายคนโตของดาราดังเข้าพิธีวิวาห์เรียบง่าย

ส่องเคมีที่รอ “ภณ-มุกดา” ผลงานเรื่องหลอนจากพื้นถิ่นอีสานยุคใหม่

Gallery ที่เกี่ยวข้อง

Comments