เปิดใจ "ผู้พันเบิร์ด" กับบทบาทแห่งความภาคภูมิใจ "พระนเรศวรมหาราช"
“ภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่คู่กับการดำเนินชีวิตของผมเกือบทั้งชีวิต 11 ปี มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่นี่ ผู้พันเบิร์ดพันโทวันชนะ สวัสดี “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยุทธหัตถี
ช่วยอัพเดทสถานภาพปัจจุบันของผู้พันเบิร์ดให้เราฟังกันก่อน
สวัสดีครับ พันโทวันชนะ สวัสดี หรือผู้พันเบิร์ดนะครับ ผลงานปัจจุบันนี้ก็มีภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยุทธหัตถี รวมถึงละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์ก็เล่นเป็นพระเจ้าเสือ ก็คือเป็นกษัตริย์ของอีกยุคหนึ่งนั้นเอง เพราะว่าผมรู้ที่มาที่ไปของอยุธยาตั้งแต่พระนเรศวรแล้ว เพราะฉะนั้นผมไปเล่นเป็นพระเจ้าเสือนี่รู้เลยว่าบรรพบุรุษทำอะไรกันมาบ้าง มีอะไรเป็นมายังไง นี่คืองานทางด้านการแสดง งานแสดงบันเทิงอีกหนึ่งคือติดตามผมได้จากพิธีกรตามรายการต่างๆ ก็จะมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ส่วนเรื่องงานทางการทหารซึ่งผมบอกเสมอครับว่าอาชีพทหารนี่เหมาะกับผมมากกว่าในงานบันเทิง ตอนนี้ผมเป็นผู้บังคับกองพันนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จ.นครนายก ซึ่งมีหน้าที่ในการปลูกฝังอุดมการณ์ให้กับนักเรียนนายร้อยที่จะจบไปเป็นนายทหารในอนาคต มีหน้าที่ที่จะนำประสบการณ์จากการทำงานทั้งหมดของผมไม่ว่าจะประสบการณ์จากงานบันเทิง จากปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชน การทำงานให้กับกองทัพบกของภารกิจต่างๆ ที่ตอบสนองให้กับประเทศชาติในการปราบปรามยาเสพติด ต่อต้านการก่อการร้ายข้ามชาติ ต่อสู้ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากธรรมชาติ ฯลฯ เอาประสบการณ์เหล่านี้ไปสอนให้น้องๆนักเรียนนายร้อยเรียนจบออกมาเป็นนายทหารที่มีคุณภาพ
ในมุมมองของผู้พันเบิร์ด เมื่อเอ่ยชื่อท่านมุ้ยมจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ศิลปินแห่งชาติ ผู้กำกับระดับครูซึ่งเป็นที่ยอมรับและคร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์มากว่า5ทศวรรษ
ผมน่าจะรู้สึกไม่ได้แตกต่างจากคนไทยทั่วไป คือถ้าเอ่ยชื่อท่านมุ้ยทุกคนจะนึกถึงความละเอียดในการทำงานนึกถึงความพิถีพิถันในการถ่ายทำ รวมถึงรายละเอียดของการทำข้อมูลก่อนที่จะมาถ่ายทำภาพยนตร์ ส่วนตัวเองต้องบอกว่าเคยเห็นผลงานของท่านมุ้ยน้อย แต่พอได้มาแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้จึงกลับไปดูผลงานของท่านมากขึ้นและเก็บรายละเอียดในการถ่ายทำของท่านมากขึ้น ผมเชื่อว่าผกก.แต่ละคนก็จะมีสไตล์และวิธีการถ่ายทำของแต่ละท่านไม่เหมือนกัน ของท่านก็มีสไตล์ของท่านโดยเฉพาะเจาะจงด้วยมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวท่านส่วนหนึ่ง
พูดถึง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” อภิมหากาพย์ภาพยนตร์แอ็คชั่นเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย
ในแต่ละภาคก็จะมีความรู้สึกที่ไม่เหมือนกันก็ จะมีการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการตามพงศาวดารประวัติศาสตร์ เรื่องนี้ผมว่าผกก.ต้องการจะถ่ายทอดเรื่องราวของประวัติศาสตร์ ควบคู่กับการทำภาพยนตร์คือต้องการให้ได้ทั้งความรู้ทางประวัติ ศาสตร์ด้วย และให้ได้อรรถรสของความเป็นภาพยนตร์ด้วยคือครบรส คือมีทั้งรัก โกรธ มีแอ็คชั่น มีดราม่า มีความหวงแหน มีทุกๆอารมณ์ ซึ่งต้องการที่จะให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เขาเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของประเทศชาติของเรา และในส่วนที่หายไปในประวัติศาสตร์เป็นช่องว่าง แต่สิ่งที่แทรกเข้าไปนั้นเป็นข้อสันนิษฐานที่มีเหตุผลรองรับซึ่ งวันหนึ่งข้างหน้าผมเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อีก 100 ปีข้างหน้า ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเมืองไทย
การเป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่ทุกคนกล่าวถึงรับบทบาทสำคัญอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำมาซึ่งจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตอย่างไรบ้าง
พอเรามายืนจุดนี้แล้วมองย้อนกลับไปเมื่อเทียบกับชีวิตก่อนแสดงภาพยนตร์ชีวิตเปลี่ยนไปมาก แต่เปลี่ยนไปมากแบบค่อยๆ ทั้ง 2 อาชีพนี้มีข้อที่เหมือนกัน นั่นก็คือความมีระเบียบวินัย มันจะช่วยให้ประสบความสำเร็จ คือปกติถ้าผมเป็นทหารโดยทั่วไปก็จะมีสื่อที่ตามผมที่เป็นสื่อสายการเมือง สื่อในสายทหาร แต่เมื่อเป็นนักแสดงแล้วก็จะมีสื่อบันเทิงตามส่วนหนึ่ง ก็จะมีโอกาสที่จะนำเรื่องราวของกองทัพได้บอกกล่าวกับอีกสื่อหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นข้อเสริมในการทำงานของผม แล้วก็ถือว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่คู่กับดำเนินชีวิตของผมเกือบทั้งชีวิต เพราะว่าพอเริ่มต้นทำงานได้สัก 5 ปี ชีวิตก็เริ่มดำเนินมาคู่กันกับการทำงานทางด้านทหารและการทำงานทางด้านการแสดงภาพยนตร์มาอีก 10 ปี เริ่มแต่งงานก็ในภาพยนตร์เรื่องนี้ มีลูกก็อยู่ในช่วงภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ปัจจุบันลูกชายก็อายุ 8 เดือน ก็ยังโชคดีนะครับที่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ช่วงเวลากว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านไปกับภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากตรงนี้ และคิดว่าประสบการณ์จากการทำงานในภาพยนตร์เรื่องนี้ให้อะไรกับเราบ้าง
จริงๆ ผมถือว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นทำให้เราได้มีความสนิทสนมกับทีมงาน เราเรียกได้ว่าทีมงานเป็นครอบครัวใหญ่ โดยมี มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ ท่านมุ้ย เป็นหัวหน้าครับ อาจจะมีปัญหาหลายๆ อย่างเกิดขึ้นมากมายตลอด 11 ปี ท่านก็เป็นผู้ที่แก้ไขทุกปัญหา อีกส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญเหมือนกันก็คือหม่อมบี๋ (หม่อมกมลา ยุคลฯ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์) ภรรยาของท่านมุ้ยก็ช่วยแก้ปัญหาหลายๆ อย่างให้มันเสร็จสิ้น ให้มันลุล่วงไปด้วยดี หลายๆคนทั้งตัวประกอบหรือทีมงานอื่นๆ นักแสดงอื่นๆ เกิดขึ้นที่นี่ แต่งงานที่นี่ มีลูกที่นี่ ผมเป็นส่วนหนึ่งในนั้น ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเป็นชีวิต 11 ปีถ้าเปรียบเทียบกับเด็กคนหนึ่ง ก็เกือบจะจบประถมแล้ว เพราะฉะนั้นมันต้องมีเรื่องราวเรื่องเล่ามากมาย
ผมก็จะมีหน้าที่ในการที่จะไปเป็น สแตนด์อินก็คือไปเป็นเหมือนกับอายไลน์ ให้กับนักแสดงคนอื่นๆ ผมเชื่อว่าท่านมีกุศโลบายในการถ่ายทำได้เก่งมากๆ เพื่อให้ผมได้ชินกับกอง ชินกับไฟ ชินกับกล้อง ไปยืนอ่านบทคนอื่น ท่องให้เขาได้ต่อบทกัน เหมือนเป็นผู้ช่วยนักแสดงนะครับ เพื่อให้เกิดความชิน 2 ปี การถ่ายทำของท่านไม่ได้เรียงตามเรื่อง คือผมเป็นนักแสดงใหม่ ฉากแรกที่เข้าอาจจะไม่ค่อยคล่อง ท่านเอาฉากท้ายๆ ก่อนแต่พอผมเริ่มดีขึ้นบางส่วนแล้วจะมาอยู่ตรงหัวต้นเรื่อง ทุกคนเชื่อแล้วก็จะดูกลมกลืนกันไป ผมคิดว่าท่านใช้เทคนิคแบบนี้ในการกำกับในการถ่ายทำภาพยนตร์ นักแสดงมีปัญหากันเราก็ช่วยกันแก้ปัญหานะครับ
ในการที่จะต้องถ่ายทอดการแสดงในบทบาทของกษัตริย์นักรบ อย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้มีการพูดคุยหรือหารือกับท่านมุ้ยถึงแนวทางในการค้นหาบุคคลิกคาแรคเตอร์ตัวตนของท่านที่เราจะถ่ายทอดออกมาอย่างไรบ้าง
คือท่านมุ้ย กับผมได้คุยกันว่าคาแรคเตอร์ที่เป็นหลักของพระองค์ที่เราทิ้งไม่ได้ เช่น พระองค์มีความเสียสละ พระองค์มีความกล้าหาญ พระองค์มีความเป็นผู้นำสูงในการที่จะนำกองทัพ ทหารไทยกลัวพระนเรศวรมากกว่ากลัวตาย พระองค์เป็นคนดุด้วย เด็ดขาด กล้าหาญ เสียสละ อันนี้เป็นบุคลิก ลักษณะของคนคนหนึ่งที่เราทิ้งไม่ได้ แต่ในความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวนั้นมันจะซ้อนไปด้วยความเป็นชีวิตจริงของคนที่เราละเลยไม่ได้ด้วย พระนเรศวรเป็นเด็กคนหนึ่งที่เกิดมาในช่วงที่น้าเสียชีวิต ลุงเสียบัลลังก์ พ่อถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎไปเข้ากับบุเรงนอง พี่สาวก็ถูกเอาไปเป็นตัวประกัน สภาวะแวดล้อมของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่เกิดมาแล้วตัวเองก็เคยถูกไปเป็นตัวประกันด้วย นี่คือความกดดันที่เกิดขึ้น เขาจะยืนหยัดอยู่ได้อย่างไร แล้วพระองค์มีความเมตตา แต่บางครั้งต้องมีความเด็ดขาดพระองค์ไม่ยอมสูญเสียเอกราชอีก
พอมีความรักกับ มณีจันทร์การแสดงความรักภายใต้ความเด็ดเดี่ยว ต้องเก็บความรู้สึก แต่ต้องพยายามแสดงให้คนรักของเราได้รู้ว่าเราเป็นคนอย่างไร แต่ก็รักเขามากที่สุดหัวใจเหมือนกัน คือคาแรคเตอร์ที่พยายามสอดแทรกเข้าไป แต่สิ่งหนึ่งที่ละเลยไม่ได้เลยก็คือความเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา มีโกรธมีเสียใจมีร้องไห้แล้วก็มีเรื่องของความใจอ่อน มันก็เกิดขึ้นได้ มณีจันทร์ก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นทั้งกำลังใจให้กับพระนเรศวร เป็นทั้งผู้ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของพระนเรศวร
ในตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยุทธหัตถีคนดูจะได้สัมผัสกับเรื่องราวและเหตุการณ์อะไรในภาคนี้
ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังจะถ่ายทอดความรักให้คนดูได้เห็นว่า ความรัก และความเมตตา ที่นักรบมีให้แก่กันมันแลกกันด้วยใจ พระองค์นั้นมีความรักให้กับทุกคน แต่วัตถุประสงค์เดียวเลยคือต้องการให้อยุธยาเป็นเอกราช และพระองค์เองนึกอยู่เสมอว่าประเทศอยู่ได้ตัวเราอยู่ได้ ความรักในฐานะพระมหากษัตริย์ที่มีต่อไพร่ฟ้าประชาชน สหายคู่ศึก ซึ่งเราจะเห็นความรักความเป็นเพื่อนที่พระนเรศวรมีต่อพระราชมนูเพื่อนสนิทที่คบกันมาตั้งแต่เด็ก เคยร่วมเป็นร่วมตายเคยเสียสละชีวิตของเค้าเองเพื่อพระนเรศวร เราให้กันด้วยชีวิต ให้กันด้วยจิตใจ ภายใต้ความเป็นเพื่อนและความเป็นนักรบ การเป็นเพื่อนเป็นคู่คิดระหว่างพระนเรศวรที่มีต่อมณีจันทร์ ความรักระหว่างพระราชมนูกับเลอขิ่น ความรักระหว่างครอบครัวก็เกิดขึ้น เราจะเห็นความเป็นพ่อของพระมหาธรรมราชาที่มีต่อลูกก็คือพระนเรศวร และความรักของลูกที่มีให้กับพ่อ ในส่วนของหงสาวดีเราจะเห็นพระมหาอุปราชามีความรักและเทิดทูนนันทบุเรง ขณะเดียวกันนันทบุเรงก็จะเป็นพ่อแบบที่อยากให้ลูกมีความเข้มแข็ง เพียงแต่ว่ามีวิธีการแสดงออกที่ออกมาเป็นแบบนั้น เราก็จะได้เห็นถึงความจงรักภักดีที่ทหารทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองนะครับ หงสาวดีก็ทำหน้าที่ของหงสาวดี อโยธยาก็ทำหน้าที่ของเรา ในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีใครเป็นพระเอกไม่มีใครเป็นผู้ร้าย เพียงแต่ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองเท่านั้นเอง
ภาคนี้นอกจากศึกใหญ่อย่างยุทธหัตถีที่ทุกคนรอคอย ก็ยังมีความเข้มข้นของเรื่องราวและชะตากรรมต่างที่เกิดขึ้นกับแต่ละตัวละครที่ดำเนินสืบไป
เราจะได้เห็นถึงความรักที่พ่อมีต่อลูก ที่ตั้งของพระมหาธรรมราชาคืออโยธยาจะต้องอยู่อย่างมีเอกราช ประชาชนของพระองค์ต้องอยู่อย่างมีความสุข ซึ่งนั่นก็คือหน้าที่อย่างหนึ่งของพระเจ้าแผ่นดินนะครับ ความรักของพระมหาธรรมราชาที่มีต่อพระสุพรรณกัลยา (รับบทโดยเกรซ มหาดำรงค์กุล) ผมประทับใจมากเลย ในภาคที่ผ่านมาเราอาจจะสงสัยว่าทำไมพระมหาธรรมราชาถึงส่งลูกสาวไปเป็นองค์ประกันที่หงสา ภาคนี้เราจะได้เห็นจริงๆยังไม่อยากบอกไปดูในหนังดีกว่าซีนนี้ผมดูแล้วโอ้โหจุกครับ ความรักที่พระสุพรรณกัลยามีให้กับอโยธยาให้กับพระนเรศ พระสุพรรณกัลยามีความเชื่อมั่นในสมเด็จพระนเรศวรพระองค์จะนำมาซึ่งความเป็นเอกราช พร้อมที่จะออกหน้ารับแทนน้องทุกอย่างในขณะที่ตัวเอง ต้องยอมถูกกดดันทุกอย่างจากอีกฝั่งหนึ่ง ยอมทั้งพลีกาย ยอมทั้งถวายหัวใจให้ได้มาซึ่งความสุขของสยาม ในฝั่งของหงสาวดีก็ทำเพื่อหงสาวดี ถือว่าเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีภูมิหลังที่ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากพระนเรศวรเลย แถมยังต้องไปอยู่ในเมืองของศัตรูที่เขาพยายามที่จะกดเมืองของตนเองให้อยู่ภายใต้การปกครองของเขาตลอดเวลา ในภาคนี้ก็จะได้เห็นบทบาทของพระสุพรรณกัลยามากพอสมควรครับ
เราจะได้เห็นถึงรายละเอียดในความผูกผันของผู้คนที่อยู่รอบๆ ตัวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่มีความสำคัญ
เราก็จะมีการถ่ายทอดถึงความสัมพันธ์ของทั้งคนกับสัตว์ หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่สมประกอบทางด้านร่างกายคือเป็นใบ้ และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องรบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือเป็นคนที่ร่างกายไม่ครบ 32 ก็ต้องสู้ และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอีกที่เราต้องกล่าวถึง ละเลยไม่ได้เลยคือพระมหาเถรคันฉ่องซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระนเรศวร นอกจากกำลังใจที่ได้จากภรรยาแล้ว ความมั่นใจอีกอย่างหนึ่งคือในเรื่องการศึกการยุทธก็จะต้องไปถามพระอาจารย์ พระมหาเถรคันฉ่องจะมีความรักที่ให้กับพระนเรศวรเปรียบเหมือนกับพระนเรศวรเป็นลูก ผมก็คิดว่าพระนเรศวรก็รักพระมหาเถรเหมือนเป็นพ่อ และอีกบทบาทหนึ่งก็เป็นอาจารย์ก็จะไปขอคำปรึกษา แล้วพระมหาเถรก็จะให้คำปรึกษาที่ให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวังก็ต้องให้คนมีสติ
รู้สึกอย่างไรที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นศิษย์เอกของท่านมุ้ยอีกคนต่อจากพี่เอก-สรพงษ์, พี่นก-ฉัตรชัย มาจนถึงผู้พันบิร์ด-พันโทวันชนะ สวัสดี
ถือว่าได้รับเกียรติจริงๆ ครับ มีคนเคยพูดครับว่าพี่เอก-สรพงษ์ พี่นก-ฉัตรชัย แล้วก็มาผู้พันเบิร์ดถือว่าเป็นศิษย์ของท่านมุ้ย ผมก็ไม่อยากปฏิเสธไมตรีที่ทุกคนมอบให้ แต่ก็ยังอายกับความรู้สึกนั้น ผมรู้สึกภูมิใจที่เราได้เป็นคนหนึ่งที่เป็นเหมือนลูกท่านมุ้ยที่เป็นผกก.ที่มีขีดความสามารถสูง เป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นอาจารย์ของหลายๆ คนในวงการบันเทิง ผมเองเมื่อมีโอกาสได้เล่นกับบุคคลเหล่านี้ เป็นเกียรติกับชีวิตของผม ทั้ง พี่เอก-สรพงษ์ พี่นก-ฉัตรชัย พี่ตั้ว-ศรัณยู พี่แอ๊ว-อำภา ภูษิต นักแสดงสมัยก่อนฝีมือเด็ดขาดมาก พี่ต้น-จักรกฤษณ์ พอเป็นภาพยนตร์แกละเอียดยิบเลย บทก็ยาวนะแต่เล่นถึง พี่ต้อย-เศรษฐา อาสีเทา
ในภาคยุทธหัตถี จะได้เห็นแง่มุมมองทางอารมณ์ความรู้สึกโดยเฉพาะทางด้านความรักความผูกผันที่พระองค์มีต่อคนรักอย่างมณีจันทร์ และพระสหายที่เติบโตมาด้วยกันอย่างบุญทิ้งด้วย และที่สำคัญจะได้เห็นผู้พันเบิร์ดเข้าฉากรักโรแมนติคกับน้องแอฟ ทักษอรด้วย
พูดถึงฉากถวายตัวของมณีจันทร์ก่อน เราจะได้เห็นถึงความพิถีพิถันของท่านมุ้ยมากๆ เราถ่ายทำกันเป็นฉากกลางคืนแล้วเราก็ถ่ายทำกันในห้องพระบรรทมของสมเด็จพระนเรศวร ท่านมุ้ยได้จำลองห้องพระบรรทมจากสถานที่จริง ท่านพาผมไปดูของจริง ใส่ทุกอย่างลงไปในภาพยนตร์เรื่องนี้จริงๆ ฉากนี้ผมต้องฟิตร่างกาย คือท่านบอกผมว่าจะถ่ายทำฉากถวายตัว คุณต้องถอดเสื้อ เพราะว่ามันเป็นเรื่องของภายในที่เราอยู่ในห้อง เป็นห้องนอนของมณีจันทร์ การถวายตัวซึ่งเป็นฉากเลิฟซีนที่ผมคิดว่าเป็นฉากเลิฟซีนแรกของผม ผมไม่เคยถ่ายแบบนี้มาก่อน ซึ่งใช้เวลาถ่ายทำไม่นาน ทุกคนก็ใช้สมาธิ เราก็เขินๆบ้าง แต่ด้วยความที่แอฟกับผมทำงานกันมานานตอนถ่ายทำตอนซ้อมเรามีความสนิทสนมกัน ผมก็มองว่าเป็นน้องสาวคนหนึ่งที่น่าเอ็นดู เวลาถ่ายทำเรารู้สึกได้ว่า ผู้หญิงคนหนึ่งที่เสียสละตัวมาจากแผ่นดินอันห่างเพื่อที่จะมาเป็นคู่คิด ละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อมาอยู่กับผู้ชายคนหนึ่งเรารักผู้หญิงคนนี้ คนดุจะแสดงออกซึ่งความรักแบบไหน ผมต้องมีความทะนุถนอมผู้หญิงคนหนึ่งไม่ให้เขาบอบช้ำ จะดูแลปกป้องชีวิตเขา ด้วยชีวิตของเรา ก็ถ่ายหลายวันหน่อย เพราะว่าเป็นฉากที่สวย เราต้องจัดแสงจัดเทียนจัดอะไรบางทีถ่ายคืนเดียวไม่เสร็จ เพราะว่าเวลามันเปลี่ยนภาพเปลี่ยนมุมกล้องก็ต้องจัดแสงใหม่ ความพิถีพิถันในส่วนของการจัดแสงก็สวย พร็อพประกอบต่างๆ ก็ทำให้เรารู้สึกได้ว่ามันสมจริงสมจัง สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราจะบอกในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือเรื่องของการเป็นกษัตริย์ชาตินักรบของสมเด็จพระนเรศวร พระองค์ไม่ได้มีพิธีรีตองอะไรมากมาย เพียงแค่บางอย่างที่มันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาพระองค์ก็ทำตามนั้น
นอกจากศึกยุทธหัตถีแล้ว ภาคนี้ยังมีเหตุการณ์สำคัญๆทางประวัติศาสตร์ ที่เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ด้วยกัน
จะมีอีกหนึ่งสงครามศึกที่ดำเนินต่อจากภาคที่แล้ว ที่พระเจ้านันทบุเรงบุกเข้ามาปิดล้อมอโยธยาและฉากที่สมเด็จพระนเรศวรทรงขึ้นครองราชย์หลังจากที่พระมหาธรรมราชาสวรรคต เราจะเห็นช่วงปลายของศึกนันทบุเรง ซึ่งเป็นศึกที่ใหญ่มาก ขนาดที่ว่าทัพหลวงโดยทัพกษัตริย์ยกมาเอง มีการรวบรวมไพร่พลจากเมืองขึ้นทุกเมืองขึ้น ศึกครั้งนี้มีความสำคัญมากที่สุดของพม่าครั้งหนึ่ง เพราะต้องการที่จะเอาอยุธยาให้กลับไปเป็นเมืองขึ้นให้ได้ เพราะฉะนั้นศึกครั้งนี้มีความสำคัญ และยกมาล้อมอยุธยาเป็นเกือบครึ่งปี เราจะเห็นถึงการใช้ยุทธวิธีในการรบที่แยบยลของพระนเรศวรในการที่จะต้องเอาชนะกำลังที่มีมากกว่า เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจุดหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ ในการถ่ายเราใช้เวลาถ่ายทำเกือบ 2 เดือน เฉพาะฉากนี้ฉากเดียวในภาพยนตร์จะต้องมีเหตุการณ์ไฟไหม้ซึ่งปรากฎว่าตอนถ่ายทำไฟไหม้จริงๆด้วย ขณะที่กล้องมันยังอยู่ในนั้น มันเกิดเหตุการณ์โกลาหล คือ หิ้วกล้องหนีออกมาแล้วปล่อยให้เครนถูกไฟไหม้ไปเลย แต่ท่านก็ไม่ได้ปล่อยให้โอกาสนั้นเสียไปตั้งกล้องถ่ายเลย ภาพที่เราเห็นในหนังนั้นมันเป็นไฟไหม้จริงที่ท่านเอามาเสริมไป คือความยากในเบื้องหลังการถ่ายทำ แล้วก็จังหวะที่มันต้องพอดีกัน
ไฮไลท์สำคัญที่ทุกคนรอคอย เมื่อพูดถึงตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั่นคืออภิมหาสงครามศึกยุทธหัตถี กำลังจะปรากฎสู่สายตาเป็นครั้งแรก
ความน่าสนใจที่เราจะได้เห็นในศึกยุทธหัตถีที่เป็นช้างชนกันแบบมันส์ๆ เป็นคอมพิวเตอร์กราฟฟิกที่เขียนขึ้นมาผสมกับการถ่ายทำที่เป็นของจริงบนแผ่นฟิล์ม และก็คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องสุดท้ายของประเทศไทยที่ออกโรงภาพยนตร์ใหญ่ขนาดนี้ ฉากยุทธหัตถีเป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คือพอทันทีที่จะเริ่มต้นโปรเจ็คต์ ท่านก็บอกว่าเดี๋ยวคุณต้องขี่ช้างนะ ผมต้องไปเรียนคือนั่งเก้าอี้แล้วก็ถือง้าวแล้วก็ซ้อมคิวฟันกันก่อนครั้งแรกเลย และเป็นความทรงจำของคนไทยทั้งประเทศที่อยากเห็นการบันทึกภาพประวัติศาสตร์ของการที่มีช้างชนกันลงบนแผ่นฟิล์มซะที
การมาซึ่งการศึกในครั้งนี้ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่พระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้มาเอง แต่เป็นการยุทธ์ของสุภาพบุรุษ เป็นการยุทธ์ที่ถ้าใครได้ชัยชนะในครั้งนี้จะเป็นการตอกย้ำชัยชนะต่อไป ถ้าพระนเรศวรรบชนะพระอุปราชาในศึกครั้งนี้ จะเป็นการตอกย้ำความเป็นเอกราชที่มันจะยืนยาวต่อไป ความสำคัญของยุทธหัตถีอยู่ที่ตรงนี้ครับ การยุทธที่ใช้ช้างชนกัน การบังคับช้างของควาญช้าง ความเป็นสุภาพบุรุษในการรบของขุนศึกคนอื่นๆ ที่ปล่อยให้พระมหากษัตริย์สองพระองค์รบกัน ผมเชื่อว่าทุกคนรอคอยที่จะชมฉากศึกยุทธหัตถีตั้งแต่เริ่มฉายภาคหนึ่งเป็นต้นมาทุกคนรอคอยที่จะชมฉากยุทธหัตถี เพราะฉะนั้นก็เชิญชวนให้ทุกคนได้ไปชมฉากยุทธหัตถีที่เราได้พยายามสรรค์สร้าง ได้พยายามใช้ความสามารถในการถ่ายทำ ใช้ความสามารถของนักแสดงที่เราซ้อมกันมาตั้งแต่สิบปีที่แล้ว แล้วก็ซ้อมกันมาเรื่อยๆ ความที่เรามีความเชี่ยวชาญ บังคับช้างจริง ผมจึงอยากฝากไว้ว่า ตัวผมไม่เคยลืมภาพยนตร์เรื่องนี้เลย
ในภาพยนตร์ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราว และรายละเอียดปลีกย่อย ทั้งเสื้อผ้า ไปจนถึงความเชื่อต่างๆ ที่มีการสืบทอดกันมา
ฉากยุทธหัตถี ชุดเกราะของผมถ้าใครจำได้ในภาคที่ผ่านๆมา ลายของชุดเกราะของผมเป็นรูปนรสิงห์ แต่พอหลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นครองราชย์แล้ว ชุดเกราะที่ผมต้องสวมจะถูกเปลี่ยนเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ เพราะมันมีคติความเชื่อและมีเรื่องของสัญลักษณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง คติความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือพระนารายณ์ ฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนลายชุดเกราะเป็นพระนารายณ์นะครับ ถ่ายทำฉากนี้ผมต้องเรียนอาวุธยาวบนหลังช้าง ฝึกบนพื้นดินการเคลื่อนไหวบนพื้นดิน แต่การเคลื่อนไหวเหล่านี้มันต้องเกิดจากการเคลื่อนไหวใช้เท้าด้วย นักแสดงท่านอื่นๆก็ต้องฝึกอย่างนี้เหมือนกัน แล้วหลังจากนั้นผมก็ไปฝึกขี่ช้าง พอฝึกขี่ช้างเสร็จแล้วอุปสรรคที่ตามมามันก็คือชุดเกราะที่ผมใส่ หมวกที่ใส่ก็บังหน้า หรือในบางจังหวะบางทีที่ช้างมันเงิบขึ้นมาหรือมันฮุบลงไป ตัวผมไหลตกลงไปก็มี หรือพอเวลาเราหลบไปครั้งหลังก็ไปชนสัปคับ(ที่สำหรับนั่งจะผูกติดกับหลังช้าง)ข้างหลังอีก คนที่ยากอีกสองคนก็คือ 1.คนที่นั่งอยู่บนสัปคับข้างหลัง ยิ่งพอช้างมันโยกก็นั่งยากด้วยนะครับเพราะนั่งแล้วมือเขาต้องถือหางนกยูงที่โบกแล้วนั่งคุกเข่า ผมยังไม่ยากเท่าไหร่นี่นั่งยิ่งยากกว่า และกว่าจะได้เป็นฉากนี้ทีแรกเราเอาช้างสองเชือกที่เป็นช้างจริงๆมาชนกัน ช้างชนหนักจริงๆ ผมร่วงเลยครับ และมันช้า เขาก็เลยต้องไปหาวิธีการ บางวันเราถ่ายทำได้แค่คัทเดียว เพราะว่าเวลาถ่ายไปแล้วแล้วเอาไปแม็ทช์กับคอมพิวเตอร์กราฟฟิกมุมมันไม่ได้ครับ ต้องมาถ่ายใหม่ครับ ฉากยุทธหัตถีมันใช้ความพิถีพิถัน และมีองค์ประกอบเยอะมากเฉพาะคอมพิวเตอร์กราฟฟิกของช็อตนี้ช็อตเดียว ผมว่าไม่ต่ำกว่า 300
ผมก่อนที่จะใช้ง้าวบนหลังช้างได้ ต้องมีอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญมาบวงสรวงและสอนรำง้าวให้ ผมจะต้องรำง้าวให้ถูกต้องตามประเพณีโบราณ ระหว่างผมรำอยู่เขาเอาช้าง10กว่าเชือก ผมต้องรำต่อหน้าช้างและจุดธูป ทุกคนต้องแต่งกายจริงแต่งชุดในหนังเลย ช้าง ควาญช้างแต่งชุดหมด ผม พี่ตั๊ก(นภัสกร) พี่ต๊อก(ศุภกรณ์) หนึ่ง(ชลัฏ) 4 คนที่ต้องทำยุทธหัตถีกัน รำบวงสรวง รำง้าวคือทำจริง เพื่อต้องการให้ถูกต้องตามประเพณี และต้องการให้เกิดความปลอดภัยในการถ่ายทำ ต้องการให้สมพระเกียรติของทั้ง 4 พระองค์ที่เกิดขึ้น
ความโดดเด่นมากๆอีกอย่างหนึ่งของภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่มองข้ามไปไม่ได้เลยคืองานทางด้านการกำกับภาพ และแสง
เรามีช่างภาพอยู่ 3 คน คนแรกนี้เมื่อพูดถึงผู้กำกับภาพระดับแถวหน้าของเมืองไทย 2 คนก็คือ น้ากล้วย-ณัฐวุฒิ กิตติคุณ คนที่สองอาเปี๊ยก-อานุภาพ บัวจันทร์ อีกคนหนึ่งเป็นฝรั่งชื่อสตาโน่ (Stanislav Dorsic) ครับ อย่างน้ากล้วยกับอาเปี๊ยกนี่ผมว่าเชี่ยวชาญแน่นอน เป็นคนหนึ่งที่ผมเชื่อว่าใช้เครนมากที่สุดในประเทศไทยถ่ายทำแบบนี้ สตาโน่จะคอยทำหน้าที่จัดแสงด้วย แล้วก็ถ่ายทำเองด้วย อาเปี๊ยกกับผมนี่เหมือนลิงค์รู้กัน น้ากล้วยลิงค์กับผมรู้กันว่าผมมักมีลักษณะนิสัยของการควบม้าแบบนี้ แกจะจับได้ตามได้ครับ
คงไม่มีคู่พระเอกนางเอกคู่ไหนที่ผ่านการทำงานในโปรเจ็คต์เดียวกัน รู้จักกันร่วมงานกันตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบันได้ยาวนานขนาดนี้ ผู้พันเบิร์ดช่วยพูดถึงนางเอกอย่างน้องแอฟ ทักษอรบ้าง
นี่เป็นคนที่เราสนิทเพราะว่าเราเริ่มต้นเรียนการแสดงกันในห้องเรียน เราเริ่มขี่ม้าด้วยกันที่จังหวัดกาญจนบุรี เรารู้สึกว่าแอฟนี่ก็เป็นคนหนึ่งที่ลุยตลอดเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกก็คือแอฟเป็นคนพูดช้า “สวัสดีค่ะ พี่เบิร์ด”(ทำเลียนแบบเสียงช้าๆ) เราก็จะล้อกันในกอง เขานิ่มมากครับ แต่เขาลุยนะ อย่างฉากข้ามแม่น้ำสะโตงนี่เราให้เขาขี่ม้าแล้วระเบิดไล่หลัง แอฟเอา ระเบิดตูมๆๆ ม้าก็เร่งขึ้นเรื่อยๆ พอระเบิดทีหนึ่งม้าก็เร่งขึ้นอีก เราใช้วิธีการแอฟไม่ต้องกลัว แอฟสบายใจได้ว่าพี่ขี่ม้าข้างหลังนี่พี่ไม่เหยียบแอฟแน่ ขอให้แอฟมั่นใจ 2 คือแอฟไม่ต้องกลัว เราเอาม้าที่แอฟขี่อยู่น ให้เพื่อนของมันทั้งหมดจะไปอยู่อีกฝั่งของสะพาน ม้ามันติดฝูง เพราะฉะนั้นเมื่อมันตะเลิดไปแล้วมันจะเข้าไปหาฝูงแน่นอน ขอให้แอฟนั่งไปกับม้าให้ได้ อย่าร่วง มันจะกลับไปที่ฝูงทันที นี่คือฉาก Action ของเขา แต่ผมเชื่อว่าแอฟถนัดฉากอารมณ์มากกว่าแล้วเขาก็ถ่ายทอดออกมาได้ดี เพราะว่าเขาเป็นนักแสดงมืออาชีพจริงๆนะครับ แล้วมันก็ทำให้เรารู้สึกได้ว่าเราอยากที่จะเล่นให้ดีมากๆ ให้สมกับที่เขาทุ่มสุดตัว
ตลอดระยะเวลา 10 ปีตั้งแต่ ศรีษะจรดปลายเท้าของผู้พันเบิร์ด มีร่องรอยบาดแผลประทับเป็นความทรงจำในส่วนไหนของร่างกายบ้าง
สิ่งที่ผมจำได้เลยคือเอ็นหัวเข่าข้างขวาผมขาด ก็ส่งผลถึงปัจจุบันด้วยนะ แต่ผมก็มีความภาคภูมิใจกับเอ็นขาดข้างนี้ คือผมถือว่าเราบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในการถ่ายทำทุกวัน บวงสรวงฉากใหญ่ ประกาศอิสรภาพ ฉากยุทธหัตถี ฉากขึ้นครองราชย์ ผมเลยถือว่าการบาดเจ็บของผมมันเป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ ผมยอมฟันบิ่นคาบดาบ คือเวลาโคลสอัพใกล้ๆนี่ต้องกัดดาบที่เป็นเหล็กจริง ส่วนการบาดเจ็บอื่นๆที่ถูกดาบถูกอะไรตอนช่วงระหว่างซ้อมระหว่างไรก็ถือเป็นเรื่องปกติที่หนังแอ็คชั่นต้องเกิดขึ้น ตกม้า ผมว่าก็ตกทุกคนนะ ผมเองนี้ตกเยอะที่สุดในกองถ่ายเลย ผมแข็งแรงพอที่จะตกและกลิ้งได้ คือไม่อยากที่จะอยู่บนหลังม้าแล้วปล่อยให้ม้าวิ่งไปและเราตกใจ ผมเลยเลือกที่จะร่วงคือไหลลงไปทุกอย่าง ม้าก็จะหยุดทุกครั้ง
อากาศมันร้อนมากที่กาญจนบุรี บ้างครั้งที่เราซ้อมแล้วช้างเตลิด มีอยู่วันหนึ่งตากแดดนี่แหละกำลังขี่ช้างเพลินๆ ควาญก็อยู่ข้างล่าง เขาระเบิดเพื่อที่จะทำคูหน้ากำแพงหงสา ช้างร้องแป๊น วิ่งตูมๆๆๆ พี่ควาญเกาะไว้ๆๆๆ ป่าพุทรานี่มันลุยแบบตัวผมถลอกปอกเปิกหมด หมวกปลิวกระจายเลย
ตัวภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เองไม่ได้ถ่ายเทน้ำหนักหรือให้ความสำคัญในแค่ฝั่งอโยธยาเท่านั้น แต่ในส่วนของหงสาวดีเองก็จะมีรายละเอียดที่ดำเนินไปด้วย
ครับ น้ำหนักมันถูกแบ่ง ในส่วนของหงสาวดี เขามีความเก่งกาจสามารถแค่ไหน ความเกรียงไกรยิ่งใหญ่ของอยุธยาไม่มาทางเกิดขึ้นได้ พระเจ้านันทบุเรงกับพระมหาอุปราชา สองคนนี้เป็นตัวดำเนินเรื่องของหงสาวดีแล้วมีความสำคัญ มันมีจุดเปลี่ยนผันของหนังเรื่องนี้จากนันทบุเรงที่เกิดเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นเรื่องเลย การแสดงของพี่ต้น เป็นตัวดำเนินเรื่องที่มีความน่าสนใจในเรื่องนี้ลักษณะของการเป็นพ่อ ที่ถูกพ่อของตัวเองครอบงำมาตลอด ทุกคนนึกถึงบุเรงนอง แกต้องพยายามประกาศเอกราช หรือความมีศักยภาพของตัวเอง ต่อให้ หงสาวดีรบชนะมองโกล ต่อให้รบชนะจีน ไม่มีความหมายเท่ากับหงสาวดีรบชนะอยุธยา เพื่อศักดิ์ศรี ความเป็นพ่อ ถามว่ารักลูกไหม เราจะรู้ได้เลยว่านันทบุเรงรักลูกขนาด
เมื่อพูดถึงลูกก็คือมังสามเกียด ที่เราบอกว่ามังสามเกียดไม่ค่อยเอาไหนนะไม่ใช่เลย แกคือนักรบคนหนึ่งที่มีศักดิ์ศรี ที่เราอาจจะรู้สึกว่าพระองค์ไม่ได้เรื่องภาพยนตร์เรื่องนี้จะแสดงให้เห็นถึงความที่เป็นกษัตริย์ชาตินักรบ เป็นลูกกษัตริย์ชาตินักรบที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกร มิได้แพ้บุเรงนอง มิได้แพ้นันทบุเรงเลย มังสามเกียดถือเป็นนักรบที่เราต้องให้เครดิตพระองค์เหมือนกับให้พระนเรศวรเพราะสู้กันอย่างชายชาติทหาร ชายชาตินักรบ และพี่ตั๊ก(นภัสกร) แสดงมีฉากหนึ่งนี่ต้องพูดถึงคือฉากที่พี่ตั๊กอุ้มพี่ต้น-จักรกฤษณ์ ฉากนั้นนี่ทีมงานฝ่ายเมคอัพแต่งเอ็ฟเฟ็คต์พี่ต้นโดยใส่ยางที่เป็นแผล และชุดที่พี่ต้นใส่เข้าไปอีกน้ำหนักพี่ต้นนี่เกือบ 100 กิโล พี่ตั๊กยกพี่ต้นฉากนั้นนะครับ กล้องไม่เทกเลยนะยกขึ้นแล้วก็เดิน บนบัลลังก์ที่มีเตียง พี่ตั๊กเดินสะดุดบันไดเหมือนจะล้มทีหนึ่งมันธรรมชาติจริงๆ ผมรู้สึกว่าพี่ตั๊กทุ่มสุดตัว แล้วฉากพ่อลูกทะเลาะกันซึ่งได้อารมณ์มากคือลูกรักพ่อนะ แต่พ่อไม่เข้าใจเลย เป็นนักแสดงที่เราต้องพูดถึง ซึ่งเขาเป็นตัวดำเนินเรื่องที่ดีมากๆเลยครับควบคู่ไปกับฝั่งอยุธยา
ในตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยุทธหัตถี ผู้ชมจะได้สัมผัสกับความเข้มข้นในเรื่องของอารมณ์ของตัวละครไม่แพ้กัน
คือที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงการรบ เพราะนั้นฉาก Action เราให้ความสำคัญ แต่ผมอยากจะบอกว่าฉากที่ยากเลยคือฉากดราม่า ฉากอารมณ์ที่ดำเนินเรื่องเพื่อให้เติมเต็มความเป็น action ให้เข้มข้นมากขึ้น มันมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และผมเชื่อเลยครับว่าหนังภาคนี้มันเป็นดราม่าแอ็คชั่นคือมีความเป็นดราม่านำมาก่อน แล้วก็ไปดูวิธีการเล่นของนักแสดงแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น พี่ต้น-จักรกฤษณ์ พี่ตั๊ก-นภัสกร พี่นก-ฉัตรชัย พี่เอก-สรพงษ์ แอฟ-ทักษอร ปีเตอร์-นพชัย หรือแม้กระทั่ง พี่ต๊อก- ศุภกรณ์ มันดราม่าที่แบบจะบอกว่ามันมีความเข้มข้นไม่แพ้ฉากแอคชั่นเลยทีเดียว
อยากฝากอะไรถึงผู้ชมที่รอชมภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยุทธหัตถี
ภาพยนตร์เรื่องนี้ผมอยากให้ทุกคนได้ไปดู ผมเชื่อว่าเราจะได้ได้ฟังภาษาที่ไพเราะ คำพูดที่มีคติสอนในการดำเนินชีวิต คติพจน์เหล่านั้นยังคงใช้ได้กับในปัจจุบัน และสิ่งที่ได้ก็คือขนบประเพณีที่ท่านมุ้ยต้องการจะแทรกเข้าไปในหนังตั้งแต่ภาค 1 ถึงภาคสุดท้าย เก็บไว้ได้ ดูเท่าไหร่ก็จะไม่เบื่อ ดูรอบหนึ่งได้ข้อคิดตรงนี้ ดูรอบหนึ่งได้ข้อคิดตรงนี้ และภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างขึ้นมาพร้อมกับได้องค์ความรู้ใหม่ๆ และการก้าวข้ามเทคโนโลยีการถ่ายทำแบบใหม่ แล้วทีมงานเกิดองค์ความรู้และกระจายไปสู่หนังเรื่องอื่น คือทำหนังเรื่องนี้เรื่องเดียวครบวงจร หนังสือหลายเล่มก็เขียนถึงประวัติของพระนเรศวร การท่องเที่ยวหลายที่ก็บูมขึ้นมาเพื่อจะไปเที่ยวหงสาวดีไปเที่ยวพม่าไปเที่ยวอยุธยา เพราะฉะนั้นผมอยากให้ทุกคนได้ไปดูแล้วมันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของภาพยนตร์ไทย กลายเป็นเรื่องเล่าใหม่ของประวัติ ศาสตร์ของคนไทย
จากศิลปะบนใบปิดสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มผ่านมุมมองภาพยนตร์โดย ผู้พันเบิร์ด พันโทวันชนะ สวัสดีผู้ถ่ายทอดบทบาทของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์นักรบผู้นำพาอิสรภาพสู่แผ่นดินไทย
“เราจะไม่เคยเห็นชุดเกราะพม่าชุดนี้มาก่อน สวยจริงๆผมเองยังชอบชุดเกราะพี่ตั๊กเลย คือมันสวยครับ คือหัวที่ใส่มันมีความหมายหมดเลยครับ เป็นรูปสัตว์ และก็ชุดเกราะแบบที่เห็นเป็นเกล็ดปลานี่อาจจะได้อิทธิพลมาจากทางจีน เราจะเห็นหนังจีนที่เขาใช้ชุดเกราะแบบนี้กัน และเราจะเห็นความวิจิตรบรรจงความยิ่งใหญ่ของหงสาวดี เมื่อก่อนหงสาวดีนี้คือประเทศที่เป็นหนึ่งในอุษาคเนย์(เอเชียตะวันออกเฉียงใต้)คือบริเวณภูมิภาคนี่ เขาใหญ่มาก ยิ่งใหญ่จริงๆ แต่ในขณะเดียวกันจะเห็นถึงความเรียบง่ายของฝั่งไทยนะครับ เป็นเกราะเหล็ก เห็นว่าช้างทรงเขาอันนี้เกล็ดสวยเป็นทอง ของเราเป็นผ้าปักดิ้นทอง ชุดพระนเรศวรเป็นแบบเรียบง่าย ความพอเพียงที่เราเห็นในส่วนนี้เพราะอะไรรู้มั้ยครับ เราเป็นประเทศที่เป็นเมืองขึ้นเขา เราเป็นประเทศที่ต้องอยู่ด้วยความขาดแคลน เราเป็นประเทศที่ช้างของเราถูกส่งไปเป็นเมืองขึ้นของหงสาวดีมาหลายปีแล้ว เพราะฉะนั้นตัวเลือกของช้างที่เราเห็นนี่ช้างเราตัวเล็ก เราไม่มีโอกาสเลือกช้างตัวใหญ่ เพราะช้างที่ได้รับการฝึกแล้วเราส่งส่วยไปให้หงสาวดีแล้ว เพราะฉะนั้นเขามีโอกาสเลือกช้างที่ใหญ่ เรารบภายใต้ความขาดแคลน เรารบภายใต้ที่ช้างเราตัวเล็ก นี่แหละคือความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ต้องการจะบอกว่าเล็กพริกขี้หนู แล้วความสวยงามจะเห็นได้ว่าเขาเป็นประเทศพัฒนามาก่อน มีความยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นตอนนี้คิดได้อย่างหนึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันเราอาจมีความจริญรุดหน้ากว่าเมื่อเทียบกันแล้ว เรามีความเจริญกว่า นั่นเพราะว่าผู้นำประเทศของเรามีความใส่ใจในการที่จะพัฒนาประเทศมาโดยตลอด จากครั้งหนึ่งที่เราเคยรบกันแบบนี้เราด้อยกว่าเขาเยอะ แต่ปัจจุบันเราแซงหน้าเขา ผมอยากจะบอกว่าผู้นำของประเทศเราที่พยายามให้ประโยชน์กลับสู่ส่วนรวมเป็นความสำคัญ ทำให้เรายืนอยู่ได้โดยไม่อายใคร ณ ปัจจุบัน”