บทสัมภาษณ์ "ท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม" จากภาพยนตร์เรื่อง "พันท้ายนรสิงห์"

บทสัมภาษณ์ "ท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม" จากภาพยนตร์เรื่อง "พันท้ายนรสิงห์"

1

บทสัมภาษณ์ "ท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม" จากภาพยนตร์เรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" 

         ในรอบ2ทศวรรษที่ผ่านมาจากภาพยนตร์แห่งสยามประเทศอย่างสุริโยไท ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทั้ง6ภาค และที่เรากำลังจะได้ชมกันก็คือ พันท้ายนรสิงห์ พูดได้ว่าภาพจำของ ท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรี เฉลิมยุคล คือผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่ปฏิวัติการทำหนังย้อนยุค ,พีเรียด ,อิงประวัติศาสตร์ ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่กระบวนการสร้าง ที่มีการสร้างโรงถ่ายทำอย่างเป็นทางการ มีการเอานักแสดงมาเข้าโรงเรียนฝึกฝนทางด้านการแสดงก่อนการถ่ายทำเป็นปีๆ  มีการสร้างฉากเซ็ทโลเกชั่นเสมือนจริงใหญ่โตอลังการ ในสายตาของท่านมุ้ย ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์มีเสน่ห์ชวนหลงใหลอย่างไร กว่าจะถ่ายทำได้ในแต่ละฉาก นักแสดงจำนวนมหาศาล ทีมงานหลายพันชีวิต ใช้เวลาก็นานกว่าจะปิดกล้องถ่ายทำ ฯลฯ

ท่านมุ้ย : ปัญหาก็คือผมไม่เคยถือว่าเป็นหนังประวัติศาสตร์หรือว่าอะไรนะ เพราะว่าหนังหรือภาพยนตร์ก็คือภาพยนตร์เพราะต้องบอกอย่างนี้ครับ ไม่ว่าผมทำหนังอย่างทองพูนโคกโพซึ่งเกี่ยวกับคนขับแท๊กซี่กับพระสุริโยไท ผมก็treatให้เหมือนกันหมด เพราะว่าเราตั้งใจทำ100เปอร์เซ็นต์ 150เปอร์เซ็นต์ เผื่อถ้ามี50เปอร์เซ็นต์เพิ่ม คือทำให้ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ส่วนที่ว่าทำไมถึงมาหลงใหลในพระสุริโยไทหรือนเรศวรอะไรพวกนี้ คือเมื่อเราทำแล้วเราก็ต้องทำให้เสร็จ อย่างนเรศวรมันยาวมากนะครับ เพราะว่ามันมีหลายตอน ถ้าเผื่อว่าเราตัดตอนใดตอนหนึ่งออกมันก็จะไม่สมบูรณ์ เพราะว่ามันมีที่คนเขารู้เยอะมาก อย่างพระแสงดาบคาบค่าย หรือพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง  ยุทธหัตถี ประกาศอิสรภาพ คืออันนี้ที่รู้ๆกันนะ และยังมีที่ไม่รู้อีกเป็นจำนวนมาก ยังมีศึกตองอู ศึกนันทบุเรง คือมันมีมากมายมหาศาลซึ่งแต่ละอันสามารถทำหนังได้เรื่องหนึ่งเต็มๆเลยนะครับอย่างศึกนันทบุเรง แค่ศึกเดียวหรือพระยาจีนจันตุจากเหตุการณ์ๆเดียวเราสามารถทำหนังได้ทั้งเรื่องเช่นเดียวกัน

ผลงานภาพยนตร์พีเรียดย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์เรื่องล่าสุดของท่าน “พันท้ายนรสิงห์”

ท่านมุ้ย : สำหรับเรื่องราวของ “พันท้ายนรสิงห์” คือเป็นเรื่องที่Controversial (มีข้อโต้แย้งเป็นที่ถกเถียง)กันมากๆเลย คือเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าเสือกับพันท้ายซึ่งเราก็ไม่รู้เลยว่าเป็นจริงแท้แค่ไหน แต่ว่าเรื่องของพันท้ายเป็นเรื่องที่อยู่ในพงศาวดารพูดถึงนายสินที่ทำให้หัวเรือหักและโดนประหารชีวิตในที่สุด ซึ่งเป็นคนเดียวในประวัติศาสตร์ไทย เป็นคนเดียวที่ขอให้ตัดหัวเพื่อรักษาพระเกียรติของพระเจ้าเสือ ซึ่งทำให้เราคิดว่าพระเจ้าเสืออาจไม่เลวร้ายเหมือนอย่างที่บางข้อมูลมีการพูดถึง แต่จะว่าไปแล้ว จริงๆแล้วท่านต้องมีอะไรดีอย่างน้อยที่สุดพันท้ายถึงยอมถวายชีวิตให้พระเจ้าเสือ จากจุดนี้ทำให้เราเริ่มค้นคว้าลึกเข้าไป แต่จริงๆก็ไม่ได้จำเป็นต้องค้นคว้าอะไรมากมายนะครับ เพราะว่าเรื่องบทของพันท้ายนรสิงห์เป็นเรื่องที่ลุงผม(พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล)เอามาทำเป็นหนัง(พ.ศ.2493) เป็นละคร(พ.ศ.2487)มาก่อนในสมัยโน้น แต่ว่าเรารู้อย่างหนึ่งว่าพระเอกก็คือชูชัย พระขรรค์ชัย(ฉบับภาพยนตร์)นะครับ แล้วนางเอกคือสุพรรณ บูรณะพิมพ์(ทั้งฉบับละครเวทีและภาพยนตร์) แล้วบทของท่าน มันค่อนข้างลึกซึ้งพอสมควร นั่นแสดงว่าท่านศึกษามากมายพอสมควรนะครับ ซึ่งเราก็ไปศึกษาต่อ ต่อยอดมาจากท่าน แล้วเราก็นำมาทำ(พันท้ายนรสิงห์ฉบับปีพุทธศักราช2558)

นั่นหมายความนอกจากท่านมุ้ยทรงประทับใจในพระราชนิพนธ์ “พันท้ายนรสิงห์” ของพระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่ทรงเลือกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ให้ได้ชมกันแล้ว ระยะเวลาที่ผ่านไปกว่า70ปีไม่ได้ลดทอนคุณค่าในแก่นสารหรือสาระสำคัญที่บทพระราชนิพนธ์มีท่านมุ้ยมองว่าไม่ได้เป็นความล้าสมัยเลยที่จะนำเสนอในยุคปัจจุบันนี้

ท่านมุ้ย : เรื่องความรักนะเหรอครับ ผมว่าเรื่องความรักเป็นสิ่งที่ไม่ล้าสมัยนะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรักระหว่างเพื่อนระหว่างพันท้ายนรสิงห์หรือไอ้สินกับพระเจ้าเสือ กับผู้หญิงซึ่งเป็นตัวกลางที่อยู่ระหว่างคนสองคนคือนวล ซึ่งพระเจ้าเสือในบทของผมท่านก็รักนวลพอสมควร แล้วก็เวลาเดียวกันไอ้สินรักนวล ขนาดถวายชีวิตด้วยกันตายแทนกันได้ มันเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆเลย

ฟังๆดูแล้วนอกจากความเป็นภาพยนตร์พีเรียดอิงประวัติศาสตร์ใน “พันท้ายนรสิงห์” ผู้ชมจะได้สัมผัสถึงอารมณ์ในรูปแบบของความดรามาติก-โรแมนซ์อยู่พอสมควรเลยทีเดียว

ท่านมุ้ย : ต้องบอกอย่างนี้ครับมันเป็นแกนของเรื่องเลยนะครับ เรื่องโรแมนติคหรือเรื่องอะไรพวกนี้ คือผมก็ไม่รู้นะ คือเราก็พยายามที่จะให้เห็นถึงความรัก ถามว่าแล้วในพันท้ายนรสิงห์มีกี่ความรักละ มโนมอบพระผู้ เสวยสวรรค์ แขนมอบถวายทรงธรรม์ เทอดหล้า ดวงใจมอบเมียขวัญและแม่ เกียรติศักดิ์รักข้ามอบไว้แก่ตัว อันนี้พูดไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องเลยเป็นโคลงที่รัชกาลที่6ทรงเขียนไว้ ซึ่งตรงกับในเรื่องนี้ แล้วทุกอย่างนี้เกี่ยวกับความรักทั้งหมด เรื่องแรกเลยคือรักแผ่นดิน รักพระเจ้าแผ่นดิน รักพ่อแม่ รักเมียและท้ายที่สุดคือรักเกียรติศักดิ์ของตัวเอง นี่คือคอนเซ็ปท์ที่อยากให้มันมีการถูกพูดถึงให้ได้

ที่ผ่านมาเราจะได้เห็นภาพบรรยากาศ เหตุการณ์ เรื่องราวในประวัติศาสตร์ของ “อยุธยา” ในช่วงเวลาต่างๆผ่านภาพยนตร์อย่าง “สุริโยไท” และ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร” แล้วสำหรับในเรื่องราวของ “พันท้ายนรสิงห์” ผู้ชมจะได้สัมผัสเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไหนในสมัยอยุธยา

ท่านมุ้ย : ห่างกันร้อยกว่าปีก่อนที่เราจะเสียเมืองไม่กี่ปี เป็นช่วงท้ายสุดของราชวงศ์บ้านพลูหลวงครับ  อีก 2 รัชสมัยซึ่งเป็นรัชสมัยสั้นๆก่อนที่เราจะเสียเมือง เราก็จะมีการเอ่ยผ่านๆ มีการพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพระนารายณ์อยู่บ้างเหมือนกันนะครับ

สำหรับแฟนๆของท่านมุ้ยนี่เป็นอีกหนึ่งผลงานภาพยนตร์พีเรียดอิงประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ สุริโยไท  ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จนมาถึงผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุด “พันท้ายนรสิงห์”ต้องถามว่าเรื่องนี้แตกต่างจากสองเรื่องก่อนหน้านี้อย่างไรบ้าง

ท่านมุ้ย : แตกต่างกันอย่างไรนะเหรอครับ  จริงๆสำหรับพันท้ายนรสิงห์เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในของประเทศมันจะเป็นเรื่องของการปฏิวัตินะครับ  มันจะไม่เกี่ยวกับพม่าหรือเขมรอะไรพวกนี้นะครับ มันเป็นเรื่องต่อสู้ภายในรบกันในประเทศระหว่างพระเจ้าเสือกับคนที่ไม่พอใจกับพระเจ้าเสือก็คือพระพิชัย(รับบทโดยสรพงษ์ ชาตรี)

ผู้ที่เข้าใจผิดว่าพระเจ้าเสือเป็นขบถต่อพระนารายณ์(รับบทโดยสุเชาว์ พงษ์วิไล) เพื่อที่จะให้พ่อเลี้ยงของตัวเองคือพระเภทราชา(สมภพ เบญจาธิกุล)ขึ้นมาป็นกษัตริย์แทน

พูดถึงนักแสดงที่ถูกคัดเลือกให้มารับบทบาทถ่ายทอดคาแรคเตอร์หลักทั้ง3 (พระเจ้าเสือ,พันท้ายนรสิงห์หรือไอ้สินและนวล)   ให้โลดแล่นในภาพยนตร์เรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” ฉบับพุทธศักราช 2558นี้

ท่านมุ้ย : คนแรกเราก็มองผู้พันเบิร์ด(พันโทวันชนะ สวัสดี)เป็นพระเจ้าเสือ ซึ่งจริงๆแล้วผมประทับใจตั้งแต่สมัยที่ผู้พันเบิร์ดเป็นพระนเรศวร แต่ว่าในความรู้สึกของคนทั่วไปเขาอาจจะติดภาพของผู้พันเบิร์ดในฐานะของพระนเรศวร เราถึงต้องแก้ภาพพจน์อันนี้ให้เป็นผู้พันเบิร์ดที่เป็นพระเจ้าเสือ ซึ่งผมคิดว่าก็ประสบความสำเร็จพอสมควร เสร็จแล้วมาถึงบทพันท้ายนรสิงห์หรือนายสิน ก็เอาเด็กใหม่มาเล่นนะครับ อันนี้พูดถึงเด็กใหม่ ตอนเราเริ่มถ่ายทำเขาก็ไม่เคยเล่นหนังเรื่องไหนมาก่อน คุณเต้ย พงศกร สดๆเลยครับ

อย่างนี้ต้องเรียนถามว่าภาพของพระเจ้าเสือในใจของท่านมุ้ยเป็นอย่างไร และความต้องการที่จะเปลี่ยนลุคของผู้พันเบิร์ด ท้ายที่สุดแล้วออกมาได้อย่างตรงใจท่านมุ้ยแค่ไหน อย่างไร

ท่านมุ้ย : ก็ในเรื่องสำหรับพระเจ้าเสือหรือทิดเดื่อ ท่านก็เป็นนักเลงชอบต่อยมวย ชอบจีบผู้หญิงซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างจากพระนเรศวรโดยสิ้นเชิงนะครับ เพราะอย่างพระนเรศวรจะค่อนข้างขรึมๆ ซึ่งสำหรับพระนเรศวรจะค่อนข้างยากในการทำเป็นหนัง เพราะเราจะแตกประเด็นออกไปมากไม่ได้ แต่ว่าพันท้ายนรสิงห์ พระเจ้าเสือจะสามารถที่จะเล่นในมุมกว้างได้มากกว่าพระนเรศวร ที่สำคัญมีชีวิตชีวามากกว่า

อยากให้ท่านมุ้ยช่วยลองยกตัวอย่างพอให้เห็นภาพว่าลุคที่เปลี่ยนไปของผู้พันเบิร์ดที่แฟนๆจะได้เห็นในบทพระเจ้าเสือจากภาพยนตร์เรื่อง “พันท้ายนรสิงห์”เป็นอย่างไรบ้าง

ท่านมุ้ย : ก็อย่างจีบผู้หญิงแข่งกับไอ้สินจีบนวล ซึ่งในเรื่องท่านปลอมตัวเข้าไปในหมู่บ้านวิเศษชัยชาญเพื่อที่จะเข้าไปสืบการฉ้อราษฎร์บังหลวงแล้วก็ไปเจอกับสาวชาวบ้าน แล้วท่านก็เลยเกิดชอบพอ หลงรักเข้า เพราะตามปกติแล้ว เป็นพระเจ้าเสืออยากจะได้ผู้หญิงคนไหนก็ได้ในปฐพี จะสวยแค่ไหนท่านก็เอามาได้ แต่ว่าพอมาถึงนวล สาวที่วิเศษชัยชาญ เป็นผู้หญิงที่ปฏิเสธท่านตั้งแต่ต้น เพราะว่านวลเองมีความรักอยู่แล้วกับสิน  ซึ่งทำให้พระเจ้าเสือค่อนข้างที่จะต้องใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นในการที่จะได้นวลมาเป็นเมีย

มาถึงพระเอกใหม่บ้างที่ ณ เวลานั้นค่อนข้างสดมากๆ เต้ย พงศกร  อย่างนี้พอพูดได้มั้ยท่านว่าท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลเป็นครูคนแรกของเต้ย

ท่านมุ้ย : เป็นครูคนแรก พูดได้เลยครับ

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาพูดได้ว่าท่านมุ้ยมีลูกศิษย์ลูกหาเต็มไปหมดทั่วทั้งวงการ มีนักแสดงตลอดจนผู้กำกับหลายๆคนที่ได้แจ้งเกิดในวงการภาพยนตร์ หลังๆที่เห็นชัดๆในรอบ14-15ปีก็จะมีเหล่า นักแสดงจากภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอย่าง ผู้พันเบิร์ด พันโทวันชนะ, แอฟ ทักษอร,ปีเตอร์ นพชัย ซึ่งตอนนี้กลายเป็นผู้กำกับแล้ว ฯลฯ เรื่อยมาจนถึงคู่ล่าสุด เต้ย พงศกร และน้องมัดหมี่ พิมดาว อยากเรียนถามท่านมุ้ยว่าทำไมท่านถึงต้องให้นักแสดงมาเข้าหลักสูตร-เวิร์คช็อพขี่ม้า ฟันดาบ ใช้ชีวิต เลี้ยงควายฝึกฝนมากมายขนาดนั้นบางคนแรมเดือน เห็นว่าอย่างมัดหมี่นี่ก็แรมปีเลยทีเดียว

ท่านมุ้ย : คือเราต้องการให้นักแสดงเป็นตัวละครตัวนั้นจริงๆ ให้เต้ยเขาเป็นพันท้ายนรสิงห์จริงๆเลย เป็นทั้งชาวบ้านเป็นสิน เป็นทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นพันท้ายกับศักดินาพันไร่ซึ่งเขาต้องแสดงในหลายๆบทบาท บทบาทที่มีความรักกับนวลอะไรพวกนี้ก็เช่นกันในแง่การถ่ายทอดอารมณ์ รวมไปถึงฉากแอ็คชั่น เพราะภาพยนตร์เรื่องพันท้ายนรสิงห์ก็มีฉากบู๊อยู่มากพอสมควร

อยากให้ท่านมุ้ยเล่าให้ฟังว่าเอาเต้ยมาฝึกทักษะการแสดงอะไรบ้าง

ท่านมุ้ย : เราเอาเต้ยมาฝึกสารพัดอย่างเลยครับ ก่อนอื่นต้องให้เขาทำความเข้าใจกับตัวแสดงในเรื่องกับตัวบทที่เขาจะต้องถ่ายทอดออกมาว่าเป็นใคร อันแรกเราต้องเปลี่ยนลุคของเขาให้เข้ากับตัวพันท้ายซึ่งก็ตั้งแต่ตอนเป็นชาวบ้านไปจนกระทั่งถึงเป็นพันท้ายนะครับตั้งแต่เป็นไอ้สินเลย ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงก็มีตั้งแต่ตัดผมตัดเผ้า คือทำทุกอย่างให้มันดูเป็นชาวบ้านไปจนถึงแอ็คชั่นด้วยครับ สู้กัน โดยมีทีมสตันท์คอยสอนว่าจะสู้อย่างไร ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง รวมไปถึงเป่าขลุ่ยหรือแม้แต่พายเรือทั้งพายเรือธรรมดาและถือหางเสือ

อะไรที่ทำให้ท่านมุ้ยรู้สึกประทับใจในตัวของ “เต้ย” ว่าเหมาะกับบท “พันท้ายนรสิงห์”

ท่านมุ้ย : ความพยายามครับ เหมือนกับสรพงษ์ ทำให้นึกถึงสรพงษ์ในตอนที่เป็นเด็กหนุ่ม เขามีความพยายามสูงมากครับ

ผู้ชมและแฟนๆจะได้เห็นบทบาทการแสดงของเต้ยในรูปแบบไหนบ้างในภาพยนตร์

ท่านมุ้ย : โอ้โหเยอะแยะเลยครับเกือบทุกอย่าง ตั้งแต่ฉากบู๊จนถึงฉากรัก เต้ยต้องทำให้ได้ เอาอย่างนี้ต้องไปดูเอาเองในหนังดีกว่าครับผม ต้องให้คนดูเป็นคนตัดสินใจ ผมเองก็บอกไม่ถูกเหมือนกัน  แต่ดูแล้วก็ไม่ผิดหวังนะครับ

เป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็นพระเอกระดับซูเปอร์สตาร์แห่งยุคทั้ง2คนปะทะบทบาท เฉือดเชือนอารมณ์กันในภาพยนตร์เรื่องพันท้ายนรสิงห์ฉบับพุทธศักราช2558 ขอเรียนถามท่านมุ้ยว่าให้ น้ำหนักตัวละครของ พันท้ายกับ พระเจ้าเสืออย่างไร เคมีทางด้านการแสดงของทั้งคู่เป็นอย่างไรบ้าง

ท่านมุ้ย : ต้องให้เท่ากันครับ  ส่วนเคมีทางด้านการแสดงระหว่างเต้ยกับผู้พันเบิร์ด หรือระหว่างสินกับพระเจ้าเสือ ได้ครับ ก็ดูเป็นเพื่อนรักกันได้เลยนะครับ(หัวเราะ) แล้วก็สามารถเป็นเจ้านายกับบ่าวได้ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามีฉากสำคัญของทั้งคู่ที่ผมก็พอใจมากๆเลย อย่างที่หนึ่งคือผู้พันเบิร์ดหรือพระเจ้าเสือต้องไปฝึกต่อยมวยแบบโบราณนะครับ ซึ่งมีอยู่หลายฉากนะครับที่สำคัญคือเป็นฉากต่อยมวยที่ดูแล้วรู้สึกได้เลยว่าเขารำมวยได้เข้าท่าเลยทีเดียว และวิธีการต่อยของเขาคือพระเจ้าเสือต้องต่อยกับนักมวยจริงๆด้วย  เหตุผลที่ทำให้ฉากต่อยมวยนี้เป็นฉากที่ผมค่อนข้างพอใจทีเดียวเพราะว่าผู้พันเบิร์ดต่อยอย่างจริงจังมากๆ แล้วคนที่ต่อยด้วยกระอักเลือดเลยทีเดียว แต่ว่าคนที่ต่อยด้วยเป็นนักมวยจริงๆนะครับ ซึ่งก็ค่อนข้างจะมีแรงปะทะ ซึ่งเวลาเตะพระเจ้าเสือบางทีก็เขียวช้ำไปทั้งตัวเหมือนกัน เป็นฉากที่เขาต้องสู้กันแต่ว่าสังเกตุดูจากวิธีการรำมวยของพระเจ้าเสือ จะเห็นว่าแกทำได้จริงๆ รวมไปถึงฉากที่พระเจ้าเสือจะต้องต่อยกับไอ้สินเช่นกัน เต้ยเองก็เหมือนกันเลยครับ ทั้งคู่ต้องฝึกมวยกันอย่างหนัก แล้วเต้ยตอนนั้นเขาใหม่ เขาสดมากๆครับ เราก็ต้องส่งเขาไปฝึกมวยครับ ต้องไปฝึก แล้วก็ต้องเจ็บด้วย เพราะว่าตอนถ่ายทำเราไม่ตัดเลยครับ คัทนั้นเราถ่ายยาวตลอดเลยปล่อยให้ทั้งคู่เล่น รวมไปถึงฉากที่พระเจ้าเสือคิดถึงนวลนะครับก็เลยพยายามที่จะไปหานวลในระหว่างที่เดินผ่านป่าช้าไป แล้วตัวผู้ร้ายของเราก็คือพระยาราชสงคราม(รับบทโดยนิรุตติ์ ศิริจรรยา)ก็ส่งคนมาจะฆ่าพระเจ้าเสือก็คือจะมาลอบปลงพระชนม์ท่าน  แต่ว่าไอ้สินเข้ามาช่วยซะก่อนผ่านมาพอดีก็เลยกลายป็นเพื่อนกัน เป็นสหายศึกด้วยซึ่งเป็นฉากต่อสู้ที่เราถ่ายทำในเวลากลางคืน การทำงานในฉากนี้ก็ค่อนข้างลำบากครับ ตอนถ่ายทำฝนก็ตกตลอด เราถ่ายตอนฝนตก  ในหนังเราอาจจะเห็นเพียงแค่2-3นาทีแต่ในตอนถ่ายทำเรียกได้ว่าทั้งคืน เปียกกันโชก คือหนังเรื่องนี้เราไม่มีการใช้คิวบู๊แบบที่เราเห็นในหนังทั่วไปนะครับ  ไม่เหมือนกัน เราบู๊กันแบบจริงๆ ฟันกันแบบธรรมดาไม่ได้มีลูกเล่นมากมายนัก แต่ว่าต่อยกันจริงๆจะๆเลย ไม่ใช่ต่อยเป็นคิวเหมือนกับหนังทั่วไป เน้นที่ความสมจริง

มาถึงอีกหนึ่งตัวละครสำคัญ พูดถึงนางเอกกันบ้าง อยากให้ท่านมุ้ยพูดถึงมัดหมี่หน่อยครับ ใครจะคิดว่าทหารหญิง-นักร้องตัวเล็กๆต้องมารับบทเป็นนวล สาวชาวบ้านร้องเพลงลำตัดและต้องตัดผมทรงดอกกระทุ่มด้วย ก่อนอื่นเรียนถามท่านมุ้ย ภาพของนวลในใจของท่านมุ้ยเป็น อย่างไรบ้าง

ท่านมุ้ย : เป็นหญิงชาวบ้านค่อนข้างจะดุ ค่อนข้างจะ เขาเรียกว่าอะไรนะ ถือตัวนิดๆ แต่สิ่งแรกที่มองคือต้องมีความเป็นชาวบ้าน แล้วสิ่งแรกที่ทำให้ผมสนใจคือมัดหมี่หน้าตาเขาชาวบ้าน เขาหน้าตาโบราณๆดี อันนี้คือความประทับใจในสิ่งแรกที่มีต่อคุณมัดหมี่ เหมือนกับที่ผมเคยชอบคุณนันทนา เงากระจ่าง ซึ่งเคยเล่นเรื่องแผลเก่า แล้วเราก็คิดว่าคุณมัดหมี่กับคุณนันทนา เงากระจ่างนี่มีอะไรหลายๆอย่างที่คล้ายกัน แล้วก็เขาเป็นคนที่ว่าพอเราเอามาเล่นแล้ว เขาเข้าถึงบทบาทจริงๆๆนะครับซึ่งมันไม่เหมือนกับตัวจริงที่เป็นลูกนายพล รองผบ.สส.นะครับ เขาก็สามารถถ่ายทอดบทบาทออกมาได้เต็มที่100เปอร์เซ็นต์

ท่านมุ้ยต้องปรับอะไรมัดหมี่เยอะมั้ยครับจากลุคปัจจุบันที่เราเห็นเพื่อที่จะมารับบทนวล

ท่านมุ้ย : ก็เยอะเหมือนกันนะครับ ก็เริ่มจากทรงผมเลยทีเดียว เขาต้องตัดผมทรงชาวบ้าน ทรงดอกกระทุ่มสมัยโน้น แล้วเขาก็ต้องร้องเพลงในเรื่องคือเพลงเหย่ย เพลงลำตัดอะไรพวกนี้ ซึ่งเด็กสมัยนี้ก็คงจะไม่รู้แล้วว่าเขาร้องกันเป็นอย่างไร รวมทั้งต้องไปเลี้ยงควายครับ นอนบนหลังควาย

เราจะได้เห็นนางเอกสวยๆของท่านมุ้ยที่เป็นเซเลปบ้างหรือไฮโซมาทำอะไรหลายๆอย่างที่เราหรือแม้กระทั่งเจ้าตัวอาจจะไม่เคยเห็นหรือเคยทำมาก่อน

ท่านมุ้ย : ครับไฮโซก็ขี่ควายเป็นนะ ผมเองก็ขี่ควายเป็นเหมือนกัน ผมหัดขี่ควายตั้งแต่เด็กละ แต่ก่อนบ้านที่บางกะปิก็มีแต่ควาย ไอ้ตรงที่เป็นซอยกลาง ซอยทองหล่อแต่ก่อนก็เป็นทุ่งนาทั้งนั้นแหละครับ ก็มีแต่ควาย แล้วตอนเด็กๆผมก็เล่นไปขี่ควาย สรพงษ์นี้ก็หัดขี่ควายมาตั้งแต่เด็กนั่นก็เป็นสิ่งปกติธรรมดา

ในภาพยนตร์เราจะได้เห็นฉากโรแมนติคระหว่างเต้ยกับมัดหมี่ด้วย

ท่านมุ้ย : มีครับ ซึ่งมันก็ต้องมีอยู่แล้วนะครับสำหรับฉากโรแมนซ์ในหนังทุกเรื่อง แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนรักกันก็ต้องจูบกัน มันไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬารอะไรนะครับ  ซึ่งผมว่าแค่นั้นก็พอแล้วนะครับ เพราะดูจริงจังอยู่แล้ว หนังเรื่องนี้เราจะได้เห็นอารมณ์ของตัวละครผ่านฉากโรแมนติค เน้นความรู้สึกของตัวละคร  แต่ประเด็นที่เราพยายามจะเน้นในภาพยนตร์เรื่องพันท้ายนรสิงห์ก็คือเรื่องความซื่อสัตย์ ความรักที่มีระหว่างตัวละครพันท้ายกับพระเจ้าอยู่หัวคือตัวพระเจ้าเสือ  ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของพันท้ายนรสิงห์ แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะได้เห็นเรื่องราวความรักความผูกผันของทั้ง3ตัวละคร นวล,พันท้ายนรสิงห์และพระเจ้าเสือ ถามว่าพระเจ้าเสือรักนวลรึเปล่า เห็นหนเดียว รักมั้ย ไม่รู้ว่ารักรึเปล่า คือโดยไอเดียของคาแรคเตอร์พระเจ้าเสือ อยากได้อะไรก็ต้องได้ แต่จะไม่ได้นวล มันเป็นการChallenging คือต้องได้ผู้หญิงคนนี้ ในความรู้สึกของพระเจ้าเสือนะ หญิงใดในปฐพี จะสวยแค่ไหนก็หาเอามาเป็นเมียได้ แต่ทำไมคนอย่างอีนวลที่เป็นสาวบ้านนอก ทำไมถึงไม่ได้ และระหว่างไอ้สินเพื่อนร่วมน้ำสาบาน กับอีนวล พระเจ้าเสือจะเลือกเอาใคร ผู้หญิงทั้งปฐพีหาได้ง่าย แต่เพื่อนตายเพื่อนร่วมน้ำสาบานอย่างไอ้สินหาไม่ได้ นี่คือpointของเรื่องเลย เพราะฉะนั้นพอมาจนถึงตอนตัดหัว จึงเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับพระเจ้าเสือ ไอ้สินก็บอกว่าต้องตัดเพราะถ้าไม่ตัดนะท่านจะเสียชื่อ เพราะพระเจ้าเสืออยากได้ใครก็ได้  แต่พระเจ้าเสืออยากได้นวลกลับไม่ได้นี่คือPoint อันนี้คือ Core Conceptของหนังเรื่องนี้เลย

นอกจากเรื่องราวที่เข้มข้น ความรัก ความซื่อสัตย์ บนฉากหลังในรูปแบบภาพยนตร์ย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์แล้ว ภาพยนตร์เรื่องพันท้ายนรสิงห์ยังเป็นการรวมศิษย์เอกศิษย์เก่าบรรดานักแสดงที่เคยร่วมงานกับท่านมุ้ยมาโดยตลอดมาร่วมสร้างสีสันความยิ่งใหญ่ให้กับภาพยนตร์อย่างมากมายเลยทีเดียวทั้งรุ่นใหญ่มากฝีมือและรุ่นใหม่ไฟแรง 

ท่านมุ้ย : ก็ถือว่ามาเล่นกันเยอะเลยครับ รุ่นเก่าๆ ส่วนรุ่นใหม่ไม่กี่คน  ก็มีรุ่นเด็กๆหลายคนครับที่ไม่เคยเล่นมาก่อนก็มา หลายๆคนผมเองก็จำชื่อจริงเขาไม่ได้อย่างคนที่เล่นเป็นไอ้คง(ราชวัติ ขลิบเงิน)ก็เรียกไอ้คงมาโดยตลอด ฯลฯ หรือถมยา(วิศว ทัพพะรังสี) ที่เคยเล่นนรเศวรมาแล้วในฉากพระราชมนูปล่อยมดแดง

บทสัมภาษณ์ ท่านมุ้ย ภาพยนตร์ บันเทิง นักแสดง ดารา พันท้ายนรสิงห์ หนังประวัติศาสตร์

บทสัมภาษณ์ ท่านมุ้ย ภาพยนตร์ บันเทิง นักแสดง ดารา พันท้ายนรสิงห์ หนังประวัติศาสตร์

บทสัมภาษณ์ ท่านมุ้ย ภาพยนตร์ บันเทิง นักแสดง ดารา พันท้ายนรสิงห์ หนังประวัติศาสตร์

บทสัมภาษณ์ ท่านมุ้ย ภาพยนตร์ บันเทิง นักแสดง ดารา พันท้ายนรสิงห์ หนังประวัติศาสตร์

บทสัมภาษณ์ ท่านมุ้ย ภาพยนตร์ บันเทิง นักแสดง ดารา พันท้ายนรสิงห์ หนังประวัติศาสตร์

บทสัมภาษณ์ ท่านมุ้ย ภาพยนตร์ บันเทิง นักแสดง ดารา พันท้ายนรสิงห์ หนังประวัติศาสตร์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Gallery ที่เกี่ยวข้อง

Comments