"อาต้อย เศรษฐา" ศิลปินทรงคุณค่า สร้างสรรค์ผลงานบันเทิงคุณภาพ
ไม่ว่าจะเป็นบทบาทนักร้องเจ้าของเสียงไพเราะนุ่มหู การเป็นนักแสดงฝีมือคุณภาพ ทั้งการทำหน้าที่พิธีกรผู้มาด้วยภูมิความรู้ บุรุษท่านนี้คือ “ต้อย-เศรษฐา ศิระฉายา” ผ่านมาแล้วทั้งหมด นับเป็นศิลปินอาวุโสวัย 73 ปีที่สร้างสรรค์สารพัดผลงานดีมาให้ได้ดูกัน ตั้งแต่เข้าวงการมายาวนานกว่าครึ่งทศวรรษ
“เศรษฐา ศิระฉายา” เกิดเมื่อ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2478 เรียนจบระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ อายุเพียงแค่ 16 ปี ก็เริ่มก้าวเข้าสู่เส้นทางสายบันเทิง กับการเป็นเด็กขนเครื่องดนตรี โดยการชักชวนของนายสุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ น้าชาย ซึ่งระหว่างที่ทำหน้าที่เป็นเด็กขนของในวงดนตรี “เศรษฐา” ก็ใช้วิธีครูพักลักจำฝึกทักษะในด้านการเป็นนักร้อง จนสุดท้ายก็ได้มาร้องเพลงอยู่ตามสถานบันเทิงต่างๆ
จนต่อมาได้รวมตัวกับเพื่อน ประกอบด้วย วินัย พันธุรักษ์ , พิชัย ทองเนียม , อนุสรณ์ พัฒนกุล และสุเมธ อินทรสุต ตั้งวงดนตรี Holiday J-3 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น joint Reaction และมาเปลี่ยนอีกครั้งเป็น The Impossibles วงที่คนในวัยอายุ 40 ปีขึ้น ต้องรู้จักเป็นอย่างดี ซึ่ง “เศรษฐา” เป็นนักร้องนำประจำอยู่ในวง
ในปีพ.ศ.2512 วงดนตรี The Impossibles คว้าถ้วยพระราชทานรางวัลชนะเลิศการประกวดสตริงคอมโบ ซึ่งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้วงเป็นที่สนใจ และโดยเฉพาะตัว “เศรษฐา” ได้รับความนิยมจนกลายเป็นจุดหักเหอีกครั้งให้ได้เข้ามาสัมผัสเรื่องงานแสดง เมื่อผู้กำกับฯคนดังแห่งยุค “เปี๊ยก โปสเตอร์” ชักชวนให้ไปร่วมบรรเลงเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “โทน”
จากนั้น The Impossibles ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดวงสตริงคอมโบอีก 2 ปีติดต่อกันและมีงานบรรเลงเพลงประกอบภาพยนตร์ตามมาอีกหลายเรื่อง ทั้ง ดวง , ระเริงชล, ตัดเหลี่ยมเพชร ฯลฯ พร้อมทั้งมีโอกาสได้ไปทัวร์คอนเสิร์ตที่ต่างประเทศ พอกลับมา “เศรษฐา” ก็ได้รับการชักชวนจาก “ป้าจุ๊-จุรี โอศิริ” ให้มาแสดงหนังเรื่องแรก “ฝ้ายแกมแพร” ผลงานที่ทำให้ “เศรษฐา” คว้ารางวัลใหญ่ด้านการแสดง รางวัลพระสุรัสวดี สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมมาครอง จากนั้นก็มีผลงานการแสดงออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ส่วนในด้านการทำหน้าที่พิธีกร เรียกว่าได้ว่ามีผลงานโดดเด่น อย่างในยุคแรกๆ กับการเป็นพิธีกรรายการ มาตามนัด รายการใบ้คำยอดนิยม หรือในยุคนี้กับการเป็นพิธีกรรายการประกวดร้องเพลง ทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย ที่ได้รับกระแสนิยมและพูดถึงไม่แพ้กัน นอกจากนี้ “เศรษฐา” ยังดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิสวัสดิการนักแสดงอาวุโส เพื่อช่วยเหลือบรรดานักแสดงอาวุโสในยามยากอีกด้วย
จากผลงานต่างๆ มากมายที่มีคุณูปการยิ่งต่อสังคมไทย “เศรษฐา ศิระฉายา” จึงได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ในปี พ.ศ.2554
ในโอกาสนี้ “เศรษฐา ศิระฉายา” ศิลปินอาวุโสวัย 73 ปีได้กล่าวความรู้สึกผ่านทีมข่าว “ดาราเดลี่” ในฐานะศิลปินแห่งชาติในรัชกาลที่ 9 ความว่า ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดก็ตาม ขึ้นชื่อว่าเป็นการพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นับเป็นเรื่องที่เป็นมงคล มีความสำคัญกับชีวิตมาก เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุด
จากนั้นศิลปินอาวุโสได้เล่าย้อนโอกาสที่เคยได้ชื่นชมพระบารมี “ครั้งแรกที่ได้มองเห็นพระบารมีของพระองค์อย่างใกล้ชิด คือตอนอายุ 12 ปี ได้เห็นพระองค์ท่านในผ้าเหลือง ตอนนั้นเรียนหนังสืออยู่ที่วัดบวรนิเวศ เค้าก็จัดลูกเสือถือไม้พองเป็นชุดๆ ไปยืนเข้าแถวรอรับเสด็จ แต่ถ้าหากพูดถึงโอกาสในการถวายงาน ต่อหน้าพระพักตร์นั้นไม่เคย มีแต่ช่วงที่ได้เข้ารับรางวัลต่างๆ โดยโอกาสที่ได้ใกล้ชิดครั้งที่ 2 คือการประกวดดนตรีของประเทศไทยแล้วเราได้รางวัลชนะเลิศ ตอนนั้นเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของชีวิต จากที่ไม่มีอะไรเลยไม่มีโอกาสจะไปเป็นดารานักร้อง แต่หลังจากที่ได้รับพระราชทานรางวัล ก็มีชื่อเสียงมีทุกๆ อย่างที่คนอย่างเราพอจะมีได้”
มีต้นแบบจาก ธ ทรงผู้เป็นอัครศิลปิน “พระองค์ทรงเป็นอัครศิลปิน ที่ทรงเครื่องดนตรีได้ทุกอย่าง ทรงพระราชนิพนธ์เพลงเอาไว้มากมาย คือเมื่อก่อนผมก็รู้สึกว่าอาชีพการเป็นนักร้องและนักแสดงจะถูกดูถูกว่าเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน ไม่น่าจะมาเป็นอาชีพที่ดีที่ส่งเสริมให้เรามีชีวิตอย่างแข็งแรงได้ แต่หลังจากที่ได้ทราบว่าพระองค์ทรงมีอัจฉริยะภาพทางการศิลปินมาก ก็นึกตรองว่าในหลวง รัชกาลที่ 9 ท่านยังชอบเล่นดนตรีเลยนะ เมื่อเรามีโอกาสเราก็ควรทำให้ได้ จนปัจจุบันนี้ศิลปินก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ไม่มีใครดูถูก เพราะเป็นผลมาจากพระองค์ท่าน”
ยึดหลักคำสอน “พ่อ” มาปรับใช้ในชีวิต “หลักคำสอนที่ผมยึดถือตามรอยพระบาทมีอยู่หลายอย่าง หนึ่งคือ ‘สามัคคี’ เพราะถ้าทุกคนมีความสามัคคี ประเทศชาติจะดำรงต่อไปได้ดีที่สุด สองคือ ‘มีน้ำใจ’ การมีน้ำใจจะทำให้สังคมของประเทศชาติน่าอยู่มากขึ้น อย่างเรื่องมูลนิธิสวัสดิการนักแสดงอาวุโส ผมก็ได้มองย้อนกลับไปว่าการที่ผมมาถึงจุดนี้ได้ก็มากเกินพอแล้ว เพราะยากจนมาตลอดชีวิต ผมถือว่าผมได้โอกาสในขนาดที่คนที่ไม่โอกาสก็มีอีกเยอะ เรามีส่วนที่จะดูแลเค้าได้มั้ย มีกำลังพอเราก็ควรที่จะทำ สามคือ ‘ใฝ่รู้’ ต้องยอมรับว่าท่านไม่ได้รู้เรื่องทุกอย่างที่ท่านทรงทำ แต่พระองค์ท่านทรงทำทุกอย่างได้อย่างดีที่สุด อย่างผมการเรียนเป็นสิ่งที่ฝันใฝ่มากสมัยก่อน แต่ว่าด้วยฐานะที่บ้าน ก็ไม่สามารถที่จะเรียนได้ แต่พอได้ก้าวมาถึงตรงนี้เราก็ได้ปลีกเวลาไปเรียนจนกระทั่งเรียนจบปริญญาเอกได้ในวัย 70 ปี สี่คือ ‘กตัญญู’ สุดท้ายเป็นข้อที่ฮิตที่สุด คือ ‘พอเพียง ‘ ซึ่งความพอเพียงไม่ใช่รวยไม่ได้ แต่รวยได้ คือเรามีเงินแค่ไหน ก็ต้องรู้จักใช้รู้จักเก็บ มีแล้วไม่ใช้หมดหรือว่าใช้เกินตัว รวยให้พอเพียงในชีวิตของเรา รวยแค่ไหนก็ต้องมีส่วนเก็บให้ลูกหลานและดำรงชีวิตของเราต่อไป”
ภูมิใจกับทุกงานที่ได้ร่วมน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ศิลปินแห่งชาติกล่าวด้วยความอาลัย “ความรู้สึกเสียใจยังมีอยู่ไม่จางหายไป เพราะว่าเราได้สูญเสียสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับประชาชนคนไทยและประเทศชาติบ้านเมือง ตอนนั้นทำอะไรไม่ถูกจริงๆ เค้าให้ไปร้องเพลงสรรเสริญ ผมยังร้องไม่ได้เลยเอ่ยคำแรก ก็น้ำตาร่วง แต่ว่าช่วงหลังๆ เพลงต่างๆ ที่ออกมาเทิดทูนพระเกียรติของพระองค์มีค่อนข้างมาก ก็พยายามร้องให้ได้ แล้วก็มีคนมาชวนไปร้องเพลงเทิดพระเกียรติของพระองค์ท่านหลายๆ เพลง ทั้งเพลงพระราชนิพนธ์และเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ เกือบ 100 เพลง แต่การร้องเพลงพระราชนิพนธ์นั้นร้องยากด้วยโน้ต ถ้าร้องไม่ได้ดี ร้องไม่ถูก ซึ่งผิดแล้วพระองค์ท่านไม่ชอบ ทุกครั้งผมจะทำอย่างดีที่สุด คือผมรู้สึกยินดีและดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้นึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของท่านอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะพระองค์ท่านทำอะไรให้เรามากมาย ในชีวิตหนึ่งถ้าสามารถทำอะไรแม้แต่นิดนึง เพื่อพระองค์ท่าน เพื่อความรู้สึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่าน ผมก็ภูมิใจ ฉะนั้นมีงานแบบนี้ผมจะไม่ปฏิเสธยินดีที่ได้ไป อยากจะขอเค้าไปด้วยซ้ำ”
ฝากถึงลูกหลานที่จะก้าวมาเป็น “ศิลปินประดับวงการ” “เป็นที่น่ายินดีเพราะปัจจุบันนี้คนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินได้ไม่ยาก เนื่องจากมีองค์กรต่างๆ และสถานีโทรทัศน์รองรับเยอะ แต่อยู่ที่ว่าเรารักจริงๆ หรือเปล่า คนที่จะเป็นศิลปินต้องรักความเป็นศิลปิน ต้องรู้ว่าตัวเองจะเป็นอะไร จะเล่นละคร ร้องเพลง หรือเป็นพิธีกร เราต้องทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ดีที่สุดในชีวิตก่อน อย่างผมร้องเพลงจนสำเร็จแล้วถึงย้ายไปเป็นนักแสดง ไปเป็นผู้กำกับการแสดง จบแล้วผมถึงไปทำพิธีกร คือสิ่งต่างๆ เริ่มมาจากการร้องเพลงที่สอนให้รู้จักการกล้าแสดงออก แล้วเรื่องนี้มีความกตัญญูเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อคนรักเรา เราก็ต้องรักเค้า ไปที่ไหนก็ต้องทำตัวให้คนรัก เราต้องสำนึกบุญคุณตลอดว่า ศิลปินเป็นคนของประชาชน เราไม่ใช่เจ้านายเค้า จริงๆ เราเป็นลูกจ้าง ถ้าคนไม่รักเรา เราก็ไม่มีโอกาสโด่งดัง ผมคิดแบบนี้เสมอ ฉะนั้นผมจะเป็นกันเองและให้ความเคารพต่อทุกคน”
ล่าสุดกับรางวัล “The Great Diamond 2016” ที่ “ดาราเดลี่” สื่อบันเทิงคุณภาพมอบให้ในฐานะผู้ทรงเกียรติแห่งวงการบันเทิง ศิลปินอาวุโสเผยความรู้สึก “ในฐานะที่เราเป็นศิลปิน เวลาที่มีรางวัลเชิดชูเกียรติไม่ว่าจากสถาบันใดก็ตาม และแม้ว่าเราจะเคยได้รับพระราชทานรางวัลมาแล้วมากมาย แต่ที่สุดแล้ว ทุกๆ รางวัลมีคุณค่า มีความหมายและความสำคัญ เหมือนกับตอกย้ำให้คนทั่วไป และคนที่ชื่นชมเราได้มั่นใจได้ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และคงจะยาวไปจนกว่าเราจะตาย เราได้ทำสิ่งดีๆ เอาไว้ โดยไม่มีข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งอายุ 73 ปีแล้วเรายังได้รับรางวัลอยู่เลย แสดงว่าเราทำความดีติดต่อกันมาตลอด”
และนี่คือศิลปินผู้ทรงคุณค่าที่เพียบพร้อมไปด้วยวิธีคิดและการประพฤติตนที่ดีงาม ที่ศิลปินรุ่นหลังให้ความเคารพรักและยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีของวงการบันเทิงไทย