เปิดใจเส้นทางบันเทิงของ “ตั๊ก นภัสรัญชน์” กับคติในการใช้ชีวิตทุกแง่มุม
โลดแล่นในเส้นทางสายบันเทิงกว่า 24 ปีจนเป็นนักแสดงมืออาชีพสำหรับ “ตั๊ก-นภัสรัญชน์ มิตรธีรโรจน์”(นภัสกร มิตรเอม) กับแง่คิดการใช้ชีวิตทุกแง่มุมทั้งเรื่องงานและความรัก โดยมีคติเตือนใจจากผู้ใหญ่ที่เคารพมาปรับใช้เป็นแนวทางของตน หลังจากสะสมประสบการณ์การทำงานหน้าจอมานาน จนมีโอกาสผันตัวเองมานั่งแท่น “ผู้จัด” ร่วมกับภรรยา (ป๊อก-ปิยธิดา มิตรธีรโรจน์) และเพื่อนพ้องในวงการ ผู้พันเบิร์ด -พันเอก วันชนะ สวัสดี, ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม ในนามบริษัท กลมกล่อม โปรดักชั่น จำกัด ล่าสุดกับการนั่งแท่นผู้กำกับการแสดงเต็มตัวในละซีรี่ส์ “หัวใจและไกปืน”
ที่กำลังออกอากาศทุกวันจันทร์และวันอังคาร เวลา 20.30 น.อยู่ในขณะนี้ ตลอด 24 ปีที่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร มีคำตอบดีๆ รออยู่...
อยู่วงการบันเทิงมานานมีการวางตัวอย่างไรบ้าง
“อยู่ในวงการบันเทิงมาประมาณ 24 ปีครับ สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือต้องมีวินัย ต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่สำคัญเราต้องรู้ว่าเรามีหน้าที่ในความเป็นนักแสดงมากแค่ไหน คือต้องทำการบ้าน เราต้องรู้ต้องหาอะไรไปเพื่อไปแสดง แปลว่าเราต้องเรียน หยุดเรียนไม่ได้ คำว่าเรียนหมายความว่าหาวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงนั้นๆ เช่น สมมุติว่าเล่นเป็นนักรบ เราควรเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ วิชาการรบ การใช้อาวุธต่างๆ หรือขี่ม้า หรือภาษาพูดทำให้เราล่อหลอมตัวเราให้เป็นคาแรกเตอร์ของตัวละครตัวนั้นๆ คนหนึ่งที่เคยพูดกับผมว่า “การแสดงเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบ” คือป้าจุ๊ (จุรี โอศิริ) ท่านเคยพูดว่า “ชีวิตไม่เคยหยุดเรียนได้หรอกตราบใดที่เป็นนักแสดง” แม้ว่าท่านจะเสียไปแล้ว แต่เราก็จำคำๆ นี้ของท่านมาตลอด”
อยากสอนรุ่นน้องอย่างไรบ้างเพราะบางท่านหลงระเริงกับงานที่เข้ามาและหายไป
“เค้าไม่ได้หลงระเริงหรอกครับ เค้าอาจจะสนุกจนลืมตัว ลืมไปว่าตัวเองมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง บางคนรักที่จะแสดงจริงๆ รักที่จะหาวิชาความรู้ทางการแสดง บางคนผมเห็นว่าเวลาผมเล่นเค้าจะแอบดู อันนี้เป็นครูพักลักจำอย่างหนึ่ง ผมก็เหมือนกันตอนเข้าวงการใหม่ๆ ก็แอบดูผู้ใหญ่ จำคนนั้นคนนี้เป็นต้นแบบ ทั้งละครเวที และละครทีวีจะไม่เหมือนกัน เราจะจดจำต่างๆ ไว้ ผมไปแสดงที่ไหนเดี๋ยวนี้จะมีเด็กแอบดูผม และเค้าจะไปต่อยอดของเค้าเอง นักแสดงสมัยใหม่หลายคนเก่งช่างสังเกตุและจดจำและไปฝึกฝน อันนั้นเป็นสิ่งสำคัญของการแสดง”
ไอดอลของพี่ตั๊กเป็นใครคะ
“มีเยอะครับ มีตั้งแต่สมัยเด็กๆ คือ จตุพล ภูอภิรมย์ เสียชีวิตไปแล้ว และก็ ป๊าต๊อก (ล้อต๊อก-สวง ทรัพย์สำรวย) ผมเคยดูท่านแสดงหนังที่เป็นดราม่าเป็นตลกที่ทำให้ผมร้องไห้ตั้งแต่เด็กนั่งร้องไห้หน้าทีวีเลย ต่อมาก็เป็นรุ่นใหญ่ พี่อ๊อฟ พงษ์พัฒน์, พี่นก ฉัตรชัย, อาตู่ นพพล เราถือว่าท่านเป็นระดับครูและระดับตำนานแล้วครับ”
ดูแลรักษาความรักกับพี่ป๊อก ปิยธิดาให้ยืนยาวอย่างไรบ้าง
“ใช้ความเข้าใจครับ ตอนนี้เราคบกันมา 15 ปีแล้วผมว่ามันเหมือนเพื่อนกันแล้ว แต่ก็ยังให้ความรักกันในแง่ของความเป็นคู่รักอยู่ แต่เราจะใช้ความเข้าใจมากกว่า จากความเป็นตัวเราและตัวเค้า พยายามรักษาให้เสมอต้นเสมอปลาย มีทะเลาะกันบ้างครับ เถียงกันทั่วไป แต่ไม่มีเรื่องทะเลาะแรงๆนะครับ”
จุดเริ่มต้นของการตีกลองร่วมสมัย
“กลองทำตั้งแต่ปี 2004 ครับ ตอนนั้นอยู่โรงละครภัทราวดีเธียเตอร์ที่วัดระฆังตอนนี้ไม่มีแล้ว รู้สึกอยากตีกลอง ตอนนั้นญี่ปุ่นฮิต เราก็คุยกับน้องๆ พี่ๆ คุยกับ ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน ครูผมเอง ครูเล็กบอก
น่าทำเนอะ เลยทำกันซ้อมกันจนตีมาตั้งแต่ 2004 เรื่อยมา เมื่อประมาณปี 2007 เค้ามีประกวดมิสยูนิเวิร์ส ผมเป็นคนตีกลองโชว์ตอนประกวดชุดประจำชาติ ยืนหันหลังตีบนเวที แต่ไม่มีใครรู้ว่าผมตี สำหรับตอนนี้ก็ทำอยู่นะครับ มีโอกาสก็ไป ชื่อกลุ่ม “องศาศิลป์” ผมตั้งไว้ให้เค้า ตอนนี้ก็เติบโตกันไป บางคนก็ไปตั้งกลุ่มใหม่ กลองมันเป็นของชาติอยู่แล้วครับ ผมไปตีกลองให้ ครูคำ กาไวย์ศิลปินแห่งชาติดู บอกครูครับตีแบบนี้ได้มั้ย ท่านบอกดีๆ สนุกดี แล้วท่านก็สอนตีกลองสะบัดชัยให้ผมเป็นบางส่วน สอนผมสาวกลอง สอนผมฟ้อน สอนผมรำ นอกจากนี้ผมไปเรียนกับ ครูมานพ ศิลปินแห่งชาติอีกท่านที่เชียงใหม่ทั้งคู่ ตีกลองชัยมงคล เรียนสองกลองแต่เรียนคนละแบบ ทุกวันนี้ผมตีร่วมสมัยคือเราเอาจังหวะของความเป็นตะวันตกผนวชกับการรำบ้างแล้วแต่งาน ให้เข้ากับธีม เป็นญี่ปุ่นบ้าง ไทยบ้าง จีนบ้าง น้องๆรวมตัวกันมาเป็นกลุ่ม “องศาศิลป์” คำว่าองศาศิลป์คือศิลปะจากทิศไหนก็ได้มารวมกัน งานก็มีเรื่อยๆนะครับแต่ผมไม่ค่อยว่างเลยไม่ได้ไป แต่อยากทำโปรดักชั่นกลองคิดอยู่เหมือนกันว่าจะมีผู้ใหญ่สนับสนุนมั้ย อยากทำโปรดักชั่นกลองอีกครั้งสนุกดี อย่างผม “องศาศิลป์” หรือกลุ่ม “ไทเกอร์” หรือกลุ่ม ”คิดบวกสิปป์” พวกนี้เป็นเหล่านักแสดงเหมือนพี่เหมือนน้องเราคุยกันได้แจมกันได้แต่ละคนมีความสามารถ พยายามไม่ทับไลน์กัน ไม่ทะเลาะกันเจอกันรักกันเหมือนพี่เหมือนน้อง”
คติประจำใจของพี่ตั๊ก
“คติของผม “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” แต่พอบวชเพิ่มมาอีกข้อ “เกิดมาทั้งดีเอาดีให้ได้ จะตายทั้งทีฝากดีเอาไว้”ครับ
มาถึงการเป็นผู้จัดและผู้กำกับกันบ้างเป็นอย่างไรบ้างคะ
“การเป็นผู้จัดและผู้กำกับฯ ต้องดูทุกๆ ส่วน และเป็นเรื่องของการแก้ปัญหา ซึ่งปัญหามีทุกวันครับ ทั้งเรื่องของเวลานักแสดงไม่ได้, เทคนิคไม่ลงตัว, สถานที่บ้าง แต่ละส่วนก็จะมีเข้ามาให้แก้ไขตลอดเวลา ทำให้เราเข้าใจผู้จัดคนอื่นมากขึ้น เวลาไปเล่นให้ใคร ก็เข้าใจ จะคุยกันง่ายขึ้น ช่วยเหลือกันมากขึ้น ในความเป็นนักแสดงเราช่วยเหลือเค้าได้ ในความเป็นผู้กำกับเราเข้าใจตัวเอง ในการเป็นผู้จัดเราก็เข้าใจคนอื่นได้ด้วย ให้นักแสดงเข้าใจเรา พยายามอธิบายนักแสดงรุ่นใหม่ว่าจริงๆต้องมองสองมุมนะ ต้องอะลุ่มอล่วยกัน ส่วนงานผู้กำกับเป็นอะไรที่ยากเหมือนกันครับ ซึ่งเราก็พยายามทำให้ดีที่สุดครับ”
สำหรับซีรีส์ “หัวใจและไกปืน”เวอร์ชั่นพี่ตั๊ก
“คำว่า “หัวใจและไกปืน” ถ้าผมตีโจทย์ก็คือบทประพันธ์เดิม มันไม่ใช่การตีความใหม่หรืออะไรเพราะเราเคารพในบทเดิมมากเลย ผมคิดว่า “ราเชนทร์ ไกทอง” เป็นบุคคลที่น่าสงสารมากเลย ชีวิตพังเพราะการสูญเสีย เรื่องนี้เราปูพื้นฐานครอบครัวเค้าเอาไว้ไม่ได้ดีอะไรมากมาย แล้วสุดท้ายครอบครัวเค้าก็โดนสังคมที่แย่ๆทำร้าย กลายเป็นคนที่ต้องเปลี่ยนอนาคตตัวเอง ความเกลียด ความโกรธ เหมือนคนตกอยู่ในโลกมืด ต้องการหาแสงสว่าง ราเชนทร์ต้องการไขว่คว้าหาแสงสว่าง จนกระทั่งวันหนึ่งเค้ามีลูก เค้าเลยตัดสินใจเดินหาแสงสว่างเพื่อจะพาลูกคนไปหาแสงสว่าง สุดท้ายก็ทำไม่ได้ลูกตาย นั่นแหละมันพลิกชีวิตเค้า เค้าเป็นคนที่เชื่อในกฎแห่งกรรมแต่เค้ายังทำ เค้าเป็นคนน่าสงสาร สุดท้ายเค้าเสียทุกอย่าง สำหรับเรื่องนี้เราไม่บอกละกันว่าเค้าจะเสียชีวิตหรือเปล่า ให้ติดตามละกันว่าเค้าจะสูญเสียอะไรอีกมั้ย ฝากติดตาม “หัวใจและไกปืน”