ความเสียสละต้องลงมือทำ จากหัวใจ "ปราปต์ปฎล"
“ปราปต์ปฎล สุวรรณบาง” เผยว่า สำหรับผม ในหลวง ร.9 พระองค์ท่าน แม้ว่าพระองค์สวรรคตไป คนไทยรู้สึกถึงการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ เป็นความทรงจำที่ทุกคนจำได้ดี ไม่ได้ลบเลือนไปไหน ทุกคนต้องดำเนินชีวิตกันต่อ สิ่งที่ย้อนกลับมาสิ่งที่ผมอยากฝากทุกคนคือ เมื่อเราไม่ได้ลบความทรงจำ เราต้องใช้ชีวิตต่อ ผมไม่อยากให้ทุกคนโศกเศร้า ผมอยากให้ทุกคนแสดงความจงรักต่อพระองค์ท่านต่อไป และยึดถือความจงรักนั้นเป็นแรงให้สู้ เป็นสิ่งที่อำนวยในการต่อสู้ชีวิตต่อไป
สำหรับงานอาสาที่ผมไปทำบริเวณสนามหลวงนั้น จริงๆ เรารับรู้เรื่องที่ท่านประชวรมาตลอด เราเตรียมใจมาแล้ว ทุกคนคิดว่าจะทำอย่างไร ผมอยากไปใกล้ๆ พระองค์ ก็ไปสนามหลวง แรกๆ ที่ผมไป ขี่มอเตอร์ไซค์ไป ไปเจอ เด็กเกรียนๆ รถแต่งมาขับแถวนั้น ผมว่ามันไม่สวยเลย แต่ก็มองด้วยสงสัยว่ามาทำอะไรกัน เป็นแว้นๆ แต่เขาพาคนเฒ่าคนแก่มาส่งที่งานพระเมรุมาศ ผมไปถามว่าทำไรกัน เขาบอกว่ามาส่งคนแก่มาส่งในหลวง ร.9 ผมน้ำตาคลอเลย นี่เด็กแว้นมันคิดได้ เหมือนสติกลับมา ตั้งแต่นั้นผมก็ลงมือทำอาสาตลอดมา ช่วงนั้นกองละครก็พักกอง ทุกคนไม่อยากทำอะไร ช่วงนั้นทุกคนคิดได้แบบนั้น
ด้านงานช่างสิบหมู่ที่ผมได้เข้าไปทำ ในส่วนของราชรถ ในงานพระเมรุมาศ มันเริ่มจากมีอาสาหลายคนที่ทำงานในช่างสิบหมู่กลุ่มหนึ่ง ชวนให้ผมไปชม ผมก็ไปที่นั่น โชคดีที่พี่น้องครูบาอาจารย์ในงานช่างสิบหมู่ ก็มาทักผมว่าเป็นดาราจากนเรศวรนิ เขาชวนผมมาตัดกระจก ผมบอกไม่มีความรู้เลย ผมก็อยากทำ มาจากความตั้งใจอยากจะทำของเรา เราจะทำเพื่อใคร เรารู้ดี เรามองพระมหาพิชัยราชรถ ภาพที่ผมได้เห็นคือ ราชรถที่ใช้ในพระราชพิธี เราอยากถวายงาน พอลองทำ ก็ทำได้ พอตัดกระจกเป็น ก็มีท่านหนึ่งชี้ไปข้างบนยอดที่สูงสุด ผมก็ขึ้นไปตัดกระจกตรงนั้น เป็นความปลื้มปีติ พอทำไปก็ได้หมด ไม่ได้เลาะทิ้ง กระจกที่ตัดไปก็ลงตัวหมด ก็เข้าไปทำตรงนั้น 5 เดือน มี “พี่ต่าย เพ็ญพักตร์ ศิริกุล” ด้วยนะ
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยทราบเรื่องราวของพระองค์ ผมว่าเด็กรุ่นนี้ยังทันที่จะไปศึกษาพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน เพื่อสอนไปยังรุ่นต่อไป เป็นการหยิบยื่นประวัติศาสตร์ส่งต่อไปยังรุ่นต่อไป คำสอนพระองค์คือ ดูเป็นแบบอย่างและพัฒนาชีวิตของตัวเอง คือลงมือให้เราเห็น เช่นเรื่อง ความประหยัด นี่เห็นชัดที่สุด และที่ผมตั้งใจจะยึดถือก็คือเรื่องความเสียสละ และความเสียสละก็คือต้องทำให้เห็น