วิเคราะห์ Singing Contest สร้างซุป'ตาร์ในยุคฟรีทีวี
จริงๆ ประเทศไทยหรือสถานีทีวีดิจิตอลต่างๆ ถ้าจะมีรายการประกวดร้องเพลงกี่รายการก็คงไม่ได้เดือดร้อนอะไรใครมากนัก เพราะหากมองกันให้ดี รายการประเภทนี้ก็คือวาไรตี้สุดแสนธรรมดารายการหนึ่ง คือหาชาวบ้านหรือนักร้องหลุดเฟรมไปแล้วมาร้องเพลง มีกรรมการมาคัด หรือโหวต หรือจะเลือกเฟ้นวิธีให้ทันสมัยหน่อย แบบที่ The Voice หรือ The Mask Singer ทำก็ไม่ได้แปลกแตกต่างจากรายการอื่นอะไร เพราะทั้งหมดก็คือประกวดร้องเพลง ที่แปลกและเด่นกว่าก็คือการเลือกคนมาร่วมโชว์ และเน้นดราม่าหนักๆ มาแจม
เท่านี้ คนไทยก็ติดกันงอม ลูกค้าแอบขายของ ไทด์อินรายการ แค่นี้จริงๆ แต่ที่น่ากวนใจก็คือรายการประเภทนี้มันเยอะจริงๆ มากมายก่ายกองจนแทบจะมีทุกเย็นกันแล้ว จะอะไรขนาดนั้น มันเกิดอะไรขึ้น หรือมันก็แค่ฟองสบู่ปุดๆ ตามนิสัยไทยมุง อะไรดีก็แห่ทำกัน ลองไปฟังเหล่ากูรูด้านสื่อมองกรณีนี้
อ่านข่าวต่อ :
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำ คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้า เผยแก่ "ดาราเดลี่" กรณีรายการประกวดร้องเพลงกำลังกลายเป็นรายการฮิตในช่วงสองปีที่ผ่านมาว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงธุรกิจเพลงมีความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เดิมธุรกิจเพลงไทยเราสร้างนักร้องศิลปิน แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว นักร้องศิลปินเกิดจากสื่อที่กระจัดกระจาย จากช่องทางของตัวเอง จากเวทีประกวด สำหรับเวทีประกวดสื่อก็ได้แบบอย่างมาจากรายการทีวีตะวันตก หรือของอเมริกันที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาแต่ขาดโอกาสได้สร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง จุดนี้ก็เป็นเรื่องชองช่องสถานีต่างๆ สบโอกาสหารายได้ บวกกับเอเจนซี่โฆษณาก็มองเวทีและศิลปินเหล่านี้เป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาดไปด้วย
เขาเผยอีกว่าที่รายการมันเยอะขนาดนี้ก็ตอบโจทย์ที่ว่ามันเป็นตัวสื่อสารการขายโดยตรง ทำง่าย ได้ผลเร็ว แต่เมื่อมันมีรายการแบบนี้มากๆ ก็ทำให้การสร้างสรรค์ลดน้อยลงไป ขาดมิติสำหรับอาชีพในวงการบันเทิง เพราะวงการบันเทิง มันมีอาชีพอื่นๆ มากมาย ไม่แค่จะต้องมาเป็นนักร้อง สมัยก่อนรายการการแข่งขันยังมีมากกกว่านี้เช่นทักษะการแสดง พิธีกร สำหรับกรณีรายการร้องเพลงปลดหนี้ก็เป็นอะไรที่เหมือนกงล้อรายการเดิมๆ หมุนมาอีกที่เคยแจกรถเข็น ที่เมื่อก่อนมีดราม่ากันว่า คุณมีจุดหมายที่จะมีรถเข็นเหรอ รายการแบบปลดหนี้ก็เหมือนกัน มันซ้ำซากไม่สร้างสรรค์
อีกด้าน อ.ณทิตา ทรัพย์สินวิวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการแก่ชุมชน วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หรือน้ำนุ่น พิธีกรรายการบันเทิง ผู้เขียนนิพนธ์เรื่องอุตสาหกรรมเพลงไทยในยุคประเทศไทย 4.0 และ เพลงไทย 100 ล้านวิว ของ มศว ประสานมิตร เผยแก่ "ดาราเดลี่" ว่า
จากปรากฎการณ์ ทางโทรทัศน์ ที่มีรายการประกวดร้องเพลง หรือรายการ live show ที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน ค่อนข้างสวนทางกับธุรกิจเพลง ที่ค่ายเพลงต่างปรับตัวเพื่อความอยู่รอด สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ที่ผู้ฟังนิยมฟังเพลงแบบดิจิทัลหรือการฟังเพลงผ่านระบบสตรีมมิง (Streaming) ส่งผลให้เกิดวิกฤตสำหรับค่ายเพลง ผู้จัดจำหน่าย ร้านขายอัลบั้มเพลงที่ต้องทยอยปิดตัวเพราะไม่มีการผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายเหมือนในอดีต ศิลปินหลายรายผันตัวเองไปสู่การประกอบอาชีพอื่นในวงการ เช่น การแสดงละคร, การทำงานพิธีกร หรือ เน้นรับงานแสดงหรืออีเว้นท์ ซึ่งความบันเทิงในรูปแบบเสียงเพลงยังคงอยู่ แค่เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ เช่น รายการประกวดร้องเพลง ตามสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ
จากที่มีรายการประกวดร้องเพลงเพิ่มขึ้นมากว่าแต่ก่อน ส่วนหนึ่งเพราะมีสถานีโทรทัศน์ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต และเป็นรายการที่ดูได้ง่าย เพลงที่ผู้เข้าแข่งขันนำมาประกวดเป็นเพลงที่คนดูค่อนข้างรู้จักและสามารถอินและสนุกไปตามบทเพลงได้ ประกอบกับหลายหลายรายการมักจะขายความดราม่าแฝงไปพร้อมกับการประกวดร้องเพลง
การขายดราม่าในรายการ เป็นที่ชื่นชอบตอบโจทย์คนไทยเป็นอย่างมาก ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์จึงทำให้รายการรูปแบบนี้ยังคงอยู่ได้ตราบใดที่ยังคงมีสปอนเซอร์สนับสนุน และยังมีคนดูที่ติดตามและชื่นชอบ ซึ่งอย่างน้อยรายการประกวดร้องเพลงก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการเพลง ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ และรายการประกวดร้องเพลงหลายรายการที่นำศิลปินมาแข่งขัน เข่น The Mask Singer ก็กลายเป็นรายการที่ทำให้ ศิลปินหลายคนในอดีตที่อาจจะหายหน้าจากวงการบันเทิงไปได้กลับมาโด่งดังอีกครั้ง ดังนั้นการที่มีรายการประกวดร้องเพลงมากมายในปัจจุบันนอกจากส่งผลดีกับ อุตสาหกรรมเพลงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มช่องทางประกอบอาชีพให้กับศิลปินและคนธรรมดาที่มาเข้าร่วมการประกวดอีกด้วย
ผลการสำรวจรายการประกวดร้องเพลงจากฟรีทีวี ดังนี้
รายการประกวดร้องเพลงของช่องเวิร์คพ้อยท์
1. The Mask Singer
2. นักร้อง2ไมค์
3. ไมค์ทองคำ
4. ไมค์ทองคำเด็ก
5. The Rapper
รายการประกวดร้องเพลงของช่อง 7
1. รายการลูกทุ่งไอดอล
2. รายการ ร้องเล่นเต้นยกครัว
3 .รายการดวงเพลงดัง
4. รายการชุมทางดาวทอง
รายการประกวดร้องเพลงช่อง One
1. ดวลเพลงชิงทุน
2. ศึกวันดวลเพลง ซูเปอร์แชมป์
3. เดอะ ดูเอ็ท
รายการประกวดร้องเพลงของช่อง 3
1. มาสเตอร์คีย์ เวทีแจ้งเกิด
2. ครอบครัวดนตรี
รายการประกวดร้องเพลงชอง พีพีทีวี 36
1. เดอะวอยซ์
2. กิ๊กดู่สงครามเพลง
ช่องไทยรัฐทีวี รายการประกวดร้องเพลงหมดหนี้ 1 รายการ
นับเบื้องต้น ล่าสุดในเดือน เมษายน 2562 คาดว่าจะมีรายการประกวดร้องเพลงในฟรีทีวีมากถึง 17 รายการ