รีวิว : "ฮาวทูทิ้ง" (สปอยล์) ทิชชูไม่ต้อง ขอถุงดำด่วน
“ดีดนิ้วทีเดียววาร์ป” ฟังดูง่ายเชียวหล่ะ แต่กับของที่หยิบแล้วยังสปาร์คจอยหล่ะ ชิ้นนี้ก็สปาร์ค ชิ้นนั้นก็สปาร์ค สุดท้ายสปาร์คหมด! เชื่อว่าเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของหลายๆ คนที่ต้องเจอยามต้องทิ้งสิ่งของบางอย่างเพื่อจัดระเบียบหรือย้ายบ้าน เรื่องการเก็บข้าวของในบ้านจะง่ายขึ้นถ้าสิ่งของเหล่านั้นไม่ได้มีเรื่องราวความทรงจำอดีตมายึดโยงให้ต้องหวนคิดถึง ไม่อย่างนั้นหนังสือและคลิปวีดิโอจัดบ้าน หรือศาสตร์ KonMari ของ Marie Kondo คงไม่กลายเป็นที่สนใจจากผู้คนทั่วโลก
อ่านข่าวต่อ
"ออกแบบ" ประกบ "ซันนี่" ในหนัง "ฮาวทูทิ้งฯ" ลุ้นหนังทำเงินหรือไม่
ในภาพยนตร์ “ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” ว่าด้วยเรื่องราวของ “จีน” รับบทโดย “ออกแบบ ชุติมณฑน์” สาวสายมินิมัลที่ต้องการเปลี่ยนบ้าน 2 ชั้นยุคพ่อแม่ที่รกไปด้วยข้าวของที่แทบไม่ได้ใช้ให้กลายเป็นโฮมออฟฟิศติสท์ๆ pain point ของเรื่องถูกสร้างขึ้นเมื่อเธอไม่ได้ทิ้งของในบ้านไปซะเฉยๆ แต่เลือกที่จะติดต่อกลับไปหาใครบางคนในอดีตเพื่อคืนสิ่งของเหล่านั้นแทนการทิ้ง นอกจากลดความรู้สึกผิดในใจของตัวเองที่ต้องทิ้งลงถุงดำอย่างไม่ใยดีแล้ว การหายไปของของบางชิ้นอาจช่วยเยียวยาเธอเองจากความทรงจำที่เจ็บปวด
แม้ว่าภายนอก “จีน” จะถูกออกแบบให้เป็นตัวละครที่ดูไม่แคร์กับของหรือคนในทีแรก เชื่อว่าความมินิมอล คือการปล่อยวาง การพยายามจะทิ้งสิ่งของต่างๆที่ไม่จำเป็นเพื่อลืมอะไรบางอย่าง แต่ลึกๆ แล้วแทบจะเป็นคนที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่พูดและแสดงออกมาเลยก็ว่าได้ ถุงดำอาจจะปิดขยะข้างในถุงจนโยนทิ้งไปอย่างง่ายดาย เเต่ความรู้สึกที่มีอยู่มันโยนลงไปในถุงดำไม่ได้ แถมยังจำได้แม่นว่าของสิ่งไหนเกี่ยวข้องกับใครและเหตุการณ์อะไรบ้างแม้จะผ่านมาหลายปี สิ่งของที่ “จีน” นำไปคืนถูกตอบกลับด้วยอารมณ์ของผู้รับต่างกันออกไปบางคนเห็นเป็นของล้ำค่าที่หายไป แต่กลับบางคนกลับเป็นการสะกิดบาดแผลและความเจ็บปวดในความสัมพันธ์ สุดท้ายเเล้ว “จีน”ผู้ที่มีความเชื่อมั่นในการปล่อยวางก็ไม่สามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ในฉากสุดท้าย เป็นฉากที่ กล้อง close upไปที่หน้า “จีน” หลังจากเพื่อนถามถึงความสัมพันธ์ ระหว่าง “พี่เอ็ม กับ จีน” ยิ่งเเสดงให้เห็นถึงการที่ไม่สามารถทิ้งความรู้สึกได้จริงๆ
ส่วนตัวละครอื่นๆ นั้นก็ขาดไม่ได้เลย ล้วนแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ให้ “ฮาวทูทิ้ง” บีบหัวใจผู้ชมไปที่ละน้อยและทำให้เรื่องราวกลมกล่อม เผลอๆ อาจจะอร่อยเหมือนซุปข้าวโพดฝีมือของ “จีน”
“ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์” รับบท เอ็ม : ผู้ชายที่ยังคงสิ่งของของ “จีน” อดีตแฟน และเก็บความรู้สึกต่างๆ ที่มีต่อเธอไว้ไม่เคยคิดที่จะทิ้ง คนที่มุ่งหน้าจะ MOVE ON เพื่อหนีความรู้สึกของตัวเอง ของทุกสิ่งที่อยู่ในบ้านของ ยังคงถูกจัดวางไว้ใกล้เคียงกับสามปีก่อน สังเกตุได้จากสายตาของ “จีน” ที่มองไปรอบๆ บ้าน เหมือนกับว่าความทรงจำทั้งหมดยังถูกจัดวางไว้เหมือนเดิม
“ฟ้า ษริกา สารทศิลป์ศุภา” รับบท มี่ : ผู้หญิงที่จะมีคำพูดติดปากว่า “I understand” คำพูดที่ขัดกับสีหน้าอย่างเห็นได้ชัด ดูภายนอกอาจจะมองว่าเข้าใจจริงๆ เเต่ลึกเเล้ว ซ่อนอะไรบางอย่างไว้ข้างใน ฉากสำคัญของ “มี่” คงเป็น การคืนเสื้อให้กับ “จีน” ในฉากท้ายๆ ของภาพยนตร์ เป็นเสื้อตัวที่ พี่เอ็มเองก็ไม่ได้บอกว่าของใคร เสื้อตัวนี้อาจเป็นการสะท้อนถึงตัวตนที่ยังมีอยู่ของ “จีน” ในตอนที่ทิ้ง “พี่เอ็ม” ไป
“อุ๋ม อาภาศิริ นิติพน” รับบท แม่ของจีนและเจย์ : ผู้หญิงที่ภาพนอกดูแข็งกระด้าง เเต่ข้างในความรู้สึกคือไม่ไหวเเล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเเม่สะท้อนผ่านเพลง “กุหลาบแดง” เพลงที่แสดงถึงความรอคอย การอ้อนวอนให้คนนั้นกลับมา และคนๆ นั้นก็คือสามีที่ทิ้งครอบครัวนี้ไป ภายใต้สิ่งต่างๆ ที่คอยย้ำเตือนถึงภาพเก่าของครอบครัวไม่สามารถทำให้เเม่ move on ไปไหนได้ สิ่งของต่างๆ ยังถูกจัดเรียงไว้อยู่ที่เดิม และสิ่งที่จะทำให้ความรู้สึกนั้นจางหายไปได้ เเต่ไม่สามารถลืมไปได้ก็ คือ การทิ้งของเหล่านั้นซะ และในฉากที่ “จีน” หลอกเเม่ให้ไปเที่ยวของนอกเพื่อจะขายเปียโนของพ่อนั้น จริงๆเเล้วเเม่ก็รู้นะว่าลูกจะทำอะไร เพราะตัวเเม่เองก็อยากจะพยายามที่จะเดินออกจะเรื่องนี้เหมือนกัน
“หมี ถิรวัฒน์ โงสว่าง” รับบท เจย์ : ตัวละครที่เหมือนจะไม่มีอะไร คอยรับฟังความคิดเห็นของแม่และน้องสาวที่เอาเเต่ใจอย่างจีน แต่จริงๆ เเล้วตัวละครนี้มีบทบาทสำคัญอย่างมาก เเน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เล่าเพียงเเค่ความรักของคนสองคนเเต่มีสถาบันครอบครัวเข้ามาเกี่ยวด้วย “เจ” คือตัวเเทนของการเจรจาที่ดี ถ้าเปลี่ยนบท “เจ” ในฐานะพี่ชายที่มีอำนาจ เรื่องก็จะเป็นอีกเเบบ แต่ในเรื่องนี้ “เจ” คือคนที่ยอมทุกอย่างเพื่อจะทำให้ชีวิตของครอบครัวหลุดพ้นจากสิ่งเก่าที่เคยเจอ
“แพรว พัดชา กิจชัยเจริญ” รับบท พิงค์ : เป็นอีกคนที่เชื่อในความมินิมอล เเต่มีความรู้สึกกับสิ่งของต่างๆ เพราะยังเชื่อว่าทุกสิ่งที่ให้มักมีความทรงจำและมีค่าอยู่เสมอ เมื่อเวลาผ่านไปเเค่ไหนของสำคัญก็คือสิ่งสำคัญ คนนี้เองที่คอยเตือนสติ “จีน” เรื่องการทิ้งของที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างคนรอบๆ ตัว และก็เป็นคนเดียวกันที่ทำให้บ้านที่เต็มไปด้วยข้าวของและเรื่องราว กลายเป็นบางโล่งๆ สมใจปรารถนาของ “จีน”
ภาพยนตร์ในรูปแบบของ “เต๋อ นวพล” ที่เน้นความเรียบง่ายในเรื่องของการตัดต่อ และวางซาวน์ประกอบได้อย่างดี รวมไปถึงการวางเฟรมภาพเพื่อสร้างความกดดันให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ดูมีมิติมากยิ่งขึ้น เเน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ได้เน้นมีเทคนิคอะไรมาก เเต่เน้นไปที่อารมณ์ของตัวละคร ความรู้สึก การให้เวลากับฉากเเต่ละฉากตามสไตล์ “เต๋อ นวพล”
ด้านเพลงประกอบภาพยนตร์ เนื้อเพลง “ทิ้งเเต่เก็บ” บอกอะไรหลายๆ อย่างในภาพยนตร์ “ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” ได้อย่างชัดเจน เสริมให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น อย่างเช่นท่อนที่ร้องว่า “ตกอยู่ชิ้นหนึ่ง ใครใจร้ายจังเลย ทิ้งไว้ที่เดิม หรือทิ้งที่ไหนดี” สะท้อนให้เห็นว่า “ของที่หลงเหลือ” อยู่อาจไม่ใช่สิ่งของเเต่เป็นเรื่องของ “ความทรงจำที่ยังคงเก็บไว้” เพราะบางครั้งความรู้สึกของตัวเราเองเราก็ไม่สามาถจัดวางมันให้อยู่ในที่ต่างๆ ได้ จนบางครั้งเราต้องเอาความรู้สึกนั้นไปคืนให้กับเจ้าของความรู้สึก เพราะอะไรบางอย่างที่เราพยายามที่จะทิ้งมัน เพื่อที่จะทำให้ตัวเองสามารถ MOVE ON ไปจากสิ่งนั้นได้ แต่สุดท้ายเเล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านั้นอาจกำลังทำให้เรายังอยู่ที่เดิม น่าจะเป็นใจความสำคัญของเรื่องนี้