40 ปีเลือดจีนในละครไทย
“ดาราเดลี่” ทำสกู๊ปเจาะเรื่องราวของความเป็นจีนในละครไทยที่ถ่ายทอดกันมาหลายรุ่น เท่าที่คนสนใจในห้วงนี้ เพื่อให้ทันกับเทศกาลตรุษจีน 63 พบเรื่องราวน่าสนใจนำมาฝากแฟนๆ ข่าว “ดาราเดลี่” ดังนี้
แนวเรื่องชายเป็นใหญ่และเสื่อผืนหมอนใบ
พิธีกรรายการบันเทิงช่องหนึ่งไม่ขอเอ่ยนาม เผยแก่ “ดาราเดลี่” ถึงวัฒนธรรมจีนและข้อสังเกตเก่าๆ ในละครไทย พบว่าความน่าสนใจของวัฒนธรรมจีนถ่ายทอดในละครไทย 3 ยุค ดังนี้ คือ
ยุคแรก กนกลายโบตั๋น, ลอดลายมังกร ลักษณะเรื่องคือ เสื่อผืนหมอนใบ เมื่อเดินทางมาไทยก็มาได้เมียคนไทย เมื่อสองสังคมมาพบกัน คนต่างถิ่นต่างที่มามาอยู่ในบ้านเดียวกัน ก็ต้องปรับตัวหากัน ละครพยายามบอกให้คนดูเข้าใจ ถ้าคุณถือว่าเป็นใหญ่ เมื่อคุณมาอยู่ร่วมกับสังคมอื่นๆ คุณต้องปรับตัว ถ้าตัวเรื่องผูกเรื่องแค่พระเอกเสื่อผืนหมอนใบมาหากินในไทยก็อาจจะดูเบาไป หากมีการประชันเรื่องราวของตัวะครก็จะทำให้เรื่องดูสนุกมากขึ้น
ยุคที่สอง เรื่องราวที่สะท้อนภาพความขัดแย้งในครอบครัว อาทิ มงกุฎดอกส้ม แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเจ้าสัวกับภรรยาต่างๆ เมื่อรับใครเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน เมื่อเข้ามาอยู่ในบ้านต้องไล่ลำดับเมีย 1 2 3 4 อิจฉากัน เคารพกันแบบไหน
สำหรับความขัดแย้งในครอบครัวพูดง่ายๆ คือ การแย่งสมบัติกัน เช่น มงกุฎดอกส้ม, ดอกส้มสีทอง และ เรยา “เรยา” ฉบับช่อง 8 ซึ่งเป็นตอนจบ
เอกลักษณ์หนึ่ง ผู้ชายเป็นใหญ่ เท่าที่ดูส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น เอกลักษณ์ละครแบบนี้คล้ายๆ แบบนั้น แต่เมื่อหญิงเป็นใหญ่ขึ้นมาก็จะแปลกใจกัน คนนี้ขึ้นมาได้อย่างไร คนดูจะรู้สึกวาคนมีอำนาจน่าจะเป็นผู้ชาย ละครแบบนี้ก็เช่น หงส์เหนือมังกร
และล่าสุดยุคใหม่ ละครจีน อาทิ เลือดข้นคนจาง คนดูทางบ้านติดตามเพราะมีแนวสืบสวน และเรื่องก็พยายามแจงความสัมพันธ์ของครอบครัวคนจีนมากมาย อาจจะไม่เก็ทความที่ละครต้องผูกเส้นเรื่องให้น่าสนใจคู่ขนานกันไป ทำให้เราได้รู้และลำดับความสำคัญของลูกเวลามีงานในครอบครัวว่าเขาลำดับอย่างไร เช่น พี่คนโตจะสำคัญ ลูกผู้หญิงอาจจะลดความสำคัญลงไป
แนวเรื่องคุณค่าชีวิตและแย่งสมบัติ
“สถาพร นาควิไลโรจน์” ผู้กำกับฯ “เรยา” ฉบับช่อง 8 เผยแก่ “ดาราเดลี่” ถึง “เรยา ภาค 3” ว่า มีเรื่องที่น่าสนใจสองจุด หนึ่งคือ แกนเรื่องเหมือนเดิม คือการไขว่คว้าหาชีวิตที่สูงสุดของตัวละคร “เรยา” และสอง การคลี่ปมของผู้ชม น่าจะอยากรู้ในส่วนที่ยังไม่มีการเฉลยในบทประพันธ์ ในส่วนของคฤหาสน์เจ้าสัว คือตรงนี้เป็นแกน “เรยา” ฉบับนี้ จุดจบของความทะเยอทะยานของผู้หญิงคนนี้จะมีจุดจบอย่างไร
เขาเผยอีกว่า สำหรับความเชื่อมโยง ความแตกต่าง จากตอนก่อน เป็นภาคจบ ไม่เคยทำมาก่อน ที่คุยกับช่องเราสรุปกันว่าอยากให้คนที่เคยดู “ดอกส้มสีทอง” น่าจะ 8 ปีแล้ว จะมีคนรุ่นนั้นที่ได้ดู กับรุ่นที่ไม่ได้ดู ในพ.ศ.2563 เราตกลงกันว่าคนที่เคยดูมาแล้วดูต่อไปแบบรู้เรื่อง และคนที่ไม่เคยดูก็เข้าใจตอนนี้ได้ เพราะมีการย้อนสตอรี่ของแต่ละคนว่ามีปมอย่างไร
ถ้าสังเกตให้ดีเราไม่ใช้นักแสดงชุดเดียวกันเลยแม้คนเดียว “พลอย เฌอมาลย์” ก็ไม่ใช่คนเก่า พระเอกก็เป็น “นิว” เราตั้งใจไม่ใช้ตัวละครซ้ำ แม้กระทั่งตัวละครอื่น เช่น ตัวละครแม่เรยา ถ้าซ้ำก็จะมีคนทักว่าทำไมคนนั้นหายไปไหน คือ 2020 “เรยา” เป็น “เรยา” แบบพิเศษ เป็นภาคจบ
เขาเผยอีกว่า สำหรับเด็กรุ่นใหม่ผมว่าน่าจะเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมจีน บ้าน 1 บ้าน 2 บ้าน 3 เราแทรกไว้เป็นกลิ่นเท่านั้น ไม่ได้มุ่งประเด็นตรงนั้นมาก ภาคจบเรื่องทั้งหมด บทเดิมไม่ได้กล่าวถึงตัวของคฤหาสน์บ้านเจ้าสัวมากนัก เพียงแต่มีตัวละครบางตัวที่ไม่ถูกเฉลย เช่น คำแก้วที่เป็นบ้า เขาถูกรักษาให้หายได้อย่างไร
“สถาพร” ผู้กำกับฯ “เรยา” เผยถึง “พลอย เฌอมาลย์” คือเราเล่นใหญ่ จริงๆ แล้วเมื่อ 3 ปีที่แล้วเคยคุยกับน้องครั้งหนึ่งถึงโปรเจ็คท์ “เรยา” น้องก็รับปากนะ ผมถือลิขสิทธิ์อยู่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงตอนนั้น เลยไม่ได้ทำ เสร็จแล้วมาครั้งนี้ผมก็โทรถามน้องอีกครั้ง “เรยา” สนใจไหม ก็เลยมาร่วมงานกันได้ เขาอยากมาเล่นเรื่องนี้
ส่วนตัวที่ผมเคยร่วมงานละครแนวนี้ เช่น ดงดอกเหมย เป็นละครของ “พี่ดา หทัยรัตน์” มี “พี่อ๊อฟ พงษ์พัฒน์” แสดงนำ แต่ผมเล่นฝั่งคนไทย และเรื่อง รักเกิดในตลาดสด เป็นพ่อแม่นางเอก เชื้อสายจีน ผมว่าละครจีนๆ ในไทยเยอะมาก ผ่านหลายยุคมากกว่า 40 ปี
แนวเรื่องสืบสวนสอบสวน
ทีมงาน “ดาราเดลี่” ได้วิเคราะห์สำหรับละครแนวเรื่องแบบ “เลือดข้นคนจาง” พบดังนี้
ค่านิยมจีนที่พบในเรื่องนี้จนเป็นปมและเป็นซีนที่ถูกพูดถึงอย่างมาก คือ มโนทัศน์ผู้ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) คน 3 รุ่น คือ รุ่นบุกเบิก (อากง-อาม่า), รุ่นสืบทอด (รุ่นพ่อ-แม่) และรุ่นหลาน ล้วนได้รับผลกระทบจากการถูกเลี้ยงดูด้วยมุมมองดังกล่าว ตัวละคร “ภัสสร” (แหม่ม คัทลียา) เป็นตัวแทนของหญิงที่ลุกขึ้นเพื่อทัดทานอำนาจแนวคิดนี้ในวันที่เธอรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงตนเองไม่เพียงพอที่จะเอาชนะแนวคิดดังกล่าว หลังจากพยายามพิสูจน์ตนเองเทียบกับพี่ชายทั้ง 2 เรื่องการเรียนตั้งแต่เด็ก จนมาถึงการบริหารกิจการโรงแรมของครอบครัวที่เธอทำได้ดีไม่ขาดตกบกพร่อง ทว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหลังจากการจัดสรรมรดกหลังจากที่พี่ชายคนโต “ประเสริฐ” (กบ ทรงสิทธิ์) เสียชีวิตลงอย่างปริศนา จนกลายเป็นปม “ใครฆ่าประเสริฐ” ให้หาคำตอบกัน
นอกจากนั้นยังเล่ามุมมองเรื่องการอยู่แบบกงสีได้อย่างน่าสนใจ “เลือดข้นคนจาง” ทำให้เห็นเบื้องหลังว่าการทำธุรกิจหรือชีวิตของคนแต่ละคนก็มีเรื่องผลประโยชน์-ความต้องการอยู่ด้วย แม้จะเติบโต เลี้ยงดูมาในครอบครัวเดียวกัน ระบบกงสีที่มองว่าเป็นกองกลางของทรัพย์สินที่แชร์กันภายในครอบครัวอาจไม่ใช่ระบบที่ตอบโจทย์สำหรับทุกๆ คน เมื่อเป้าหมายแตกต่างกัน และมีบุคคลอื่น (ภรรยา, ลูก) มาเป็นตัวแปรในการตัดสินใจในชีวิต
ส่วนธรรมเนียมแบบจีนที่เป็นฉากสำคัญอีกฉากของเรื่องคือ ฉากใหญ่ อย่าง พิธีบำเพ็ญกุศลศพแบบจีนของ “อากง” ที่เกิดขึ้น โดยแกะมาจากพิธีจริงได้เป๊ะ ทั้งเรื่องเสื้อผ้าที่ต้องสวมใส่ในพิธี ลำดับขั้นของการเข้าร่วมพิธีที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวใหญ่