คนบันเทิงและธุรกิจบันเทิงยุคโควิด กับการฝ่าวิกฤตให้อยู่และสู้ไปด้วยกัน

คนบันเทิงและธุรกิจบันเทิงยุคโควิด กับการฝ่าวิกฤตให้อยู่และสู้ไปด้วยกัน

0

คนบันเทิงและธุรกิจบันเทิงยุคโควิด กับการฝ่าวิกฤตให้อยู่และสู้ไปด้วยกัน 

     ในยุคที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤต จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น มาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐมีออกมาเพื่อต่อสู้กับปัญหาวิกฤติโควิด จึงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่สั่งปิดห้างสรรพสินค้า ปิดสถานบันเทิง จนมาถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย นับเนื่องจากนี้ไป โดยที่ยังมองไม่เห็นว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ที่คนไทยต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่เลวร้ายและยากลำบาก กับบททดสอบใหม่ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน และส่งผลต่อสุภาพกาย สุขภาพใจ รายได้ และการใช้ชีวิตของคนไทยทุกคน

อ่านข่าวต่อ : นายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลวันที่ 26 มีนาคมนี้

ธุรกิจบันเทิง โควิด

     คนบันเทิงที่ทำธุรกิจ รวมทั้งธุรกิจบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 เขามีวิธีการรับมือและปรับตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่รอด ในสถานการณ์ที่เราคนไทยทุกคนจะต้องสู้ไปด้วยกัน
     นิหน่า สุฐิตา ปัญญายงค์ นักแสดงและพิธีกร เจ้าของธุรกิจ ร้านชาบู Potluck Family Hotpot  

ธุรกิจบันเทิง โควิด

     "ร้าน Potluck Family Hotpot ของเราก็เป็นอีกร้านที่ได้รับผลกระทบ พอร้านปิดรายได้ปกติที่มีคนมานั่งทานที่ร้านก็หายไป แต่ก็มีการปรับเป็น Deliveree ลูกค้าก็พอมีบ้าง อย่างร้านมิลช์ที่เป็นขนมก็มีลูกค้าสั่งมาเหมือนกัน แต่ยอดก็ไม่ได้เหมือนตอนเปิดขายปกติ ยังดีที่มีลูกค้าเข้ามาเรื่อยๆ เรามีการโปรโมทว่าเราปรับมาทำเป็น Delivereeอาจจะทำโปรโมชั่นกับพวกบริษัทจัดส่ง อย่างมิลช์เราก็ทำโปรโมชั่นกับไลน์แมน แต่ร้าน Potluck  Family Hotpot เราก็เห็นใจลูกน้องไม่อยากปิดร้านแล้วให้เขาหยุดเลย เราก็พยายามปรับ เช่นถ้าลูกน้องมีมอเตอร์ไซด์ในระยะทางใกล้ๆ ก็อาจจะให้เขาไปส่งอาหาร ทุกคนจะได้มีงานทำ แต่ก็โชคดีที่น้องๆ ที่ร้านเข้าใจและก็เห็นใจซึ่งกันและกัน เขาก็จะผลัดกันหยุด เพื่อเราจะได้ไม่หนักมากในการต้องจ่ายเงินเดือนเต็มเดือน มันก็เป็นช่วงเวลาลำบากที่เราเห็นอกเห็นใจกัน เพราะที่ร้านชาบูเราก็อยู่กันแบบครอบครัว      
​​​​​​​     ขอส่งกำลังใจให้ทุกคนนะคะ เพราะว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ก็สู้ไปด้วยกัน ในช่วงเวลาอย่างนี้ไม่ใช่แต่เราที่โดน ยังมีคนที่ลำบากกว่าเราอีกเยอะ ถ้าเราแบ่งปันอะไรได้แชร์อะไรกันได้ ก็ช่วยๆ กัน ก็ขอให้รักษาสุขภาพให้ดี ปลอดภัยทุกคนค่ะ

​​​​​​​     เตชินท์-จิรัฐชัย ชยุติ ดารานักแสดง เจ้าของร้าน เนตะ ฟิชแอนด์มีท และ อิซากายะ

ธุรกิจบันเทิง โควิด

     ​​​"จริงๆ เราเริ่มมีผลกระทบตั้งแต่เริ่มมีข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ประเทศจีน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยไม่ดี ลูกค้าก็ซื้อของกันน้อย จนผ่านมาเรื่อยๆ คนก็เริ่มตื่นกลัวไม่กล้ามาห้าง จากวันหนึ่งๆ ที่เราขายได้ 7-8 หมื่น ก็ลดลงเหลือ 2 หมื่น ร้านอาหารก็เริ่มทยอยปิดกัน ยอดก็ยิ่งลดเลย จากได้หลักหมื่นก็เหลือหลักพัน บางสาขาทั้งวันขายได้ 600 บาท ซึ่งผมมีอยู่ 2 ร้าน คือ เนตะ ฟิชแอนด์มีท มีอยู่ 2 สาขา และอีกร้านคือ อิซากายะ ตอนนี้ปิดร้านหมดเลย พอร้านเราปิดก็มีการปรับตัวขายแบบออนไลน์ เป็นแบรนด์แซลม่อนออนไลน์ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่เราเคยทำก่อนที่จะมาทำร้านอาหารก็กลับมาทำใหม่ และใช้ชื่อ “แซลม่อนออนไลน์” เหมือนเดิมเพื่อไม่ให้ลูกค้างง ซึ่งผมจะไลฟ์สดผ่านเฟสบุ๊คให้ลูกค้าดูเลยว่าเราทำกันแบบจริงจัง เราทำที่ร้าน ใช้เชฟที่ร้าน มีลูกน้องบางส่วนมาช่วยทำ ตอนนี้ลูกน้องจาก 70 คน ก็เหลือเพียง 7 คน เพื่อมาทำออนไลน์ขายไปตามบ้าน 

ธุรกิจบันเทิง โควิด

     แต่พอทำออนไลน์ก็มีปัญหาอีกว่าการขนส่งบางรายหักเราอีก 35% ก็เลยต้องวอนขอให้ลูกค้ามาซื้อโดยตรงกับเรา ตอนนี้ก็มีลูกค้าเข้ามาเยอะเหมือนกัน มีเพื่อนๆ พี่ๆ เข้ามาช่วยซื้อ อีกอย่างราคาที่เราขายก็ไม่ได้แพง เป็นราคากันเอง ในยุคนี้ก็ต้องช่วยๆ กัน แซลม่อนของเราก็ใช้แซลม่อนนอร์เวย์ มีใบเซอร์จากสภาอุตสาหกรรมนอร์เวย์ว่าเป็นปลาที่สามารถทานได้ แต่เราก็มีปัญหาเรื่องการขนส่ง สายการบินบางสายหยุดให้บริการ อีกอย่างนอร์เวย์เองก็มีปัญหาโควิด เราก็พยายามหาวิธีที่ดีที่สุด ให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าของที่เรานำเข้ามาปลอดภัยแน่นอน

​​​​​​​     ธุรกิจบันเทิง โควิด

     สุพจน์ ธีระวัฒนชัย เจ้าของธุรกิจโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ทั้ง 3 สาขา คือถนนพระราม 3, รามอินทรา และแจ้งวัฒนะ
​​​​​​​     "20 ปีที่ผ่านมาของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง เราได้ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านภาวะวิกฤต ผ่านภัยบ้านเมืองที่เกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ครั้งนี้น่าจะเป็นคราววิกฤติที่หนักหน่วงอีกครั้งหนึ่งที่เราจะผ่านมันไป ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โควิด ทางโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงทุกสาขาได้เคร่งครัดต่อ 5 มาตรการที่เราวางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งร้าน เราตรวจวัดอุณภูมิลูกค้าตลอดจนพนักงานก่อนเข้าร้าน พร้อมทั้งบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ วางไว้ทุกจุด เราเคร่งครัดให้พนักงานทุกคนสวมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เราเว้นระยะห่างของโต๊ะลูกค้า ซึ่งมาตรการเหล่านี้เราทำมาตลอด จนกระทั่งวันที่ 18 มีนาคม ที่ร้านของเราทั้ง 3 สาขา หยุดให้บริการ แต่พนักงาน 1,000 คน เราไม่ได้เลย์ออฟเลย โดยพนักงานยังมีรายได้น้อยสุด 50% ของรายได้เคยได้รับ รวมถึงนักร้อง นักดนตรี ถ้าพนักงานได้น้อยกว่า 5,000 บาท ทางเราก็จะให้อย่างน้อย 5,000 บาท และทางเรายังจัดอาหารให้พนักงาน 1 มื้อทุกวัน พนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับ Delivery Express เราขอให้อยู่กับบ้านไม่เดินทางไปไหน ตามมาตรการ Social Distancing ส่วนพนักงานที่ยังต้องมาปฎิบัตงานที่ร้านในระยะนี้ ทุกคนต้องปฎิบัติตามมาตรการ 5 ข้อ ที่กำหนดไว้ คือ ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าร้าน ใช้หน้ากากอนามัย ล้างมือทุกๆชั่วโมงและมีแอลกอฮอล์ให้บริการลูกค้าที่มาซื้ออาหารกลับบ้านด้วย

ธุรกิจบันเทิง โควิด

     สำหรับมาตรการช่วยเหลือ ณ วันนี้ ผมเห็นรัฐบาลออกมาตรการมาพอสมควร ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกมาตรการช่วยเหลือการผ่อนการกู้มาก็พอสมควร ผมคิดว่าสิ่งที่อยากให้รัฐช่วยต่อไปคือมาตรการทางด้านภาษีกับผู้ประกอบการ ภาษีด้านต่างๆ อย่าง ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคล ซึ่งทางเราเกี่ยวข้องด้วยแน่นอน ที่อยากจะฝากรัฐบาลไปช่วยพิจารณา คืออย่างนี้ครับ เราต้องประเมินว่า สมมติว่าอีก 3-6 เดือนข้างหน้าดีขึ้นแล้วแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม แต่มันจะต้องค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้นมา แต่จะต้องใช้เวลาอีกเป็นปี ซึ่งช่วงนั้นแหละครับที่ผมอยากให้รัฐออกมาตรการต่างๆ ตามมาว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างไร จะช่วยมนุษย์เงินเดือนอย่างไร ให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ เพราะไม่อย่างนั้นมันจะเหมือนวิกฤตการณ์เมื่อปี 2540 ที่มันระเนระนาดไปหมด ประชาชนไม่มีเงินในกระเป๋า สถาบันการเงินล่มสลาย ซึ่งผมภาวนาว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะไม่ทำให้สถาบันการเงินล่มสลาย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นมันจะเป็นการหยุดพักประเทศไปหมด ในภาวะโดยรวมผมก็คิดว่า กว่าจะใช้เวลาฟื้นฟูจะต้องใช้เวลาอีกเป็นปี รัฐบาลต้องมีมาตรการระยะ 2 ระยะ 3 ระยะ 4 ออกมาช่วยผู้ประกอบการ เพราะอันนี้มันเป็นสงครามอันหนักหน่วงมาก"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Comments