SEAPC-Net ประชุมทางไกล ย้ำให้สื่อยึดมั่นจริยธรรมรายงานข่าว “โควิด-19”
วันนี้ (6 พฤษภาคม 2563) นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้เข้าร่วมการประชุมนัดพิเศษเครือข่ายสภาสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Press Council Network: SEAPC-Net) ที่จัดขึ้นในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านระบบ ZOOM ซึ่งสภาสื่อมวลชนอินโดนีเซียในฐานะประธาน SEAPC-Net เป็นเจ้าภาพ โดยมีประธานสภาสื่อมวลชนจากทั้ง 4 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย เมียนมา ไทย และติมอร์เลสเต รวมทั้งกรรมการบริหาร SEAPC-Net พร้อมทั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมโดยพร้อมเพียง
การประชุมในครั้งนี้ ถูกจัดขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาค และทั่วโลก ซึ่งเดิม SEAPC-Net ได้ตกลงกันในการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก (1st General Assembly) ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปลายปีที่แล้วว่า จะให้มีการจัดประชุมกรรมการบริหาร (Board of Directors Meeting) ระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคมนี้ ที่กรุงดิลี ประเทศติมอร์เลสเต คู่ขนานไปกับ Dili Dialogue Forum 2020 แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาด ทำให้ต้องปรับรูปแบบการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการทำงานของ SEAPC-Net ให้สามารถดำเนินต่อไปได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือถึงการสนับสนุนบทบาทสื่อมวลชนท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยเห็นชอบในการออกแถลงการณ์เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิก SEAPC-Net และประชาคมสื่อมวลชนในภูมิภาค ซึ่งมีหน้าที่รายงานข่าวสาร ข้อเท็จจริงสู่สาธารณะอย่างยึดมั่นตามหลักปฏิบัติทางจริยธรรม และความเป็นมืออาชีพในทางวิชาชีพ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในการสร้างความตระหนักรู้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นบุคลากรด้านสาธารณสุข ภาครัฐบาล ภาคประชาสังคมและอื่นๆ เพื่อนำพาสังคมผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน
สำหรับ SEAPC-Net เป็นการรวมตัวขององค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4 ประเทศ ได้แก่ สภาสื่อมวลชนอินโดนีเซีย (Press Council of Indonesia) สภาสื่อมวลชนเมียนมา (Myanmar Press Council) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ (National Press Council of Thailand) และสภาสื่อมวลชนติมอร์เลสเต (Timor-Leste Press Council) โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการรวมตัวกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ จนในที่สุดสามารถมีการลงนามใน “ปฏิญญากรุงเทพ” (Bangkok Declaration) เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่อาคารพิพิธภัณฑ์กำพล วัชรพล หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาเครือข่ายสภาสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นทางการ และได้มีการจัดการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกไปแล้วที่ประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน Mr.Mohammad NUH ประธานสภาสื่อมวลชนอินโดนีเซีย ดำรงตำแหน่งประธาน SEAPC-Net และมี Mr.Ohn Kyaing ประธานสภาสื่อมวลชนเมียนมาดำรงตำแหน่งรองประธาน SEAPC-Net ซึ่งจะหมุนเวียนตำแหน่งประธานตามลำดับตัวอักษรชื่อประเทศ โดยมีวาระละ 2 ปี