เจาะ 3 ประเด็นสลับสเปิร์ม จาก "อุ้มรักเกมลวง"
เป็นละครที่เป็นทอล์กออกเดอะทาวน์เรื่องหนึ่ง สำหรับอุ้มรักเกมลวง เหตุเพราะเนื้อหาว่าด้วยการอุ้มบุญและการสลับตัวอ่อนหรือสเปิร์ม ทว่าก่อนที่จะเอ่ยเรื่องประเด็นอื่นๆ นั้นต้องยอมรับผลงานการแสดงของ 4 นักแสดงหลัก อย่าง ป้อง ณวัฒน์, โดนัท มนัสนนท์, ดอม เหตระกูล และ กบ สุวนันท์ นั้นในบทพ่อแม่อุ้มบุญผิดฝาผิดตัวทำให้ละครเข้มข้นอย่างมาก
ย้อนมามองประเด็นเชิงกฎหมายว่าด้วยการสลับสเปิร์มนั้น ทนายเจมส์ หรือ นิติธร แก้วโต ทนายความจากรายการกฎหมายทางทีวีดิติจิตอลเผยแก่ดาราเดลี่ สามประเด็นใหญ่ กรณีที่เกิดขึ้นตามบทละครดังกล่าวนี้ สามารถแบ่งแยกออกได้เป็น 3 ประเด็น
1. คนสลับตัวอ่อนหรือสเปิร์มโดยมีเจตนากระทำความผิด
ในกรณีที่มีคนเจตนานำตัวอ่อนหรือสเปิร์มของคนหนึ่งไปสลับกับตัวอ่อนของอีกคนหนึ่ง เพื่อกลั่นแกล้งให้ผู้อื่นเสียหาย กรณีนี้ ผู้กระทำความผิดจะมีความผิดในข้อหาลักทรัพย์ ส่วนจะมีโทษหนักเบาเพียงใดนั้น จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างอื่นเพิ่มเติม
เนื่องจากตัวอ่อนหรือสเปิร์มของคนอื่น ถือว่าเป็นทรัพย์อย่างหนึ่ง เป็นวัตถุมีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ตาม มาตรา 137, 138 ป.พ.พ. เมื่อการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต เพื่อสนองความสะใจหรือแก้แค้น กรณีนี้จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 หรือ มาตรา 335 แล้วแต่กรณี
2. คนสลับตัวอ่อนหรือสเปิร์มโดยไม่มีเจตนากระทำความผิด หากแต่เกิดจากความประมาทจนเป็นเหตุให้ตัวอ่อนหรือสเปิร์มสลับกัน กรณีนี้ ไม่มีความผิดทางอาญา เนื่องจากขาดเจตนาในการกระทำความผิด และกรณีประมาทเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายใด บัญญัติให้เป็นความผิด
3. ความรับผิดทางละเมิด ไม่ว่ากรณีจะเกิดขึ้น จากการเจตนาตามข้อ 1 หรือเกิดจากความประมาทเลินเล่อ ตามข้อ 2 ก็ตาม ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว ย่อมมีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งได้ ตาม มาตรา 420 ป.พ.พ. ส่วนจะเรียกค่าเสียหายได้มากหรือน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเช่นหน้าที่การงาน การศึกษาหน้าตาทางสังคม หรือผลกระทบต่อเด็กหรือผู้เป็นบิดามารดา เป็นต้น ซึ่งโจทก์หรือผู้เสียหายมีหน้าที่นำสืบ และศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดตามข้อเท็จจริงและกำหนดค่าเสียหายตามความเหมาะสม