ใครพลาดวันนี้ต้องรออีก 7 ปีเลยนะ! ชวนดู “สุริยุปราคาบางส่วน”
เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ทุกคนรอคอย หลัง “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” ได้ให้ข้อมูลว่าวันนี้ (21 มิ.ย. 63) จะเกิดปรากฏการณ์ "สุริยุปราคาวงแหวน" แนวคราสวงแหวนพาดผ่านสาธารณรัฐอัฟริกากลาง คองโก เอธิโอเปีย ตอนใต้ของปากีสถาน ตอนเหนือของอินเดีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนคนไทยจะสามารถสังเกตปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาวงแหวน” ได้บางส่วนในช่วงเวลา 13.00 - 16.10 น. โดยดวงอาทิตย์จะเว้าแหว่งที่สุดในเวลา 14.49 น. ซึ่งในแต่ละจังหวัดเห็นได้ชัดต่างกัน ดังนี้ ภาคเหนือ ดวงอาทิตย์ถูกบดบังมากที่สุด 63% ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย, กรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์ถูกบดบังมากที่สุด 40% และภาคใต้ ดวงอาทิตย์ถูกบดบังมากที่สุด 16%
"สุริยุปราคา" เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ สำหรับ "สุริยุปราคาบางส่วน" เกิดจากโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ไม่ได้เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน ดวงจันทร์จึงบดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วนเท่านั้น ทำให้มีเพียงเงามัวของดวงจันทร์ทอดผ่านพื้นผิวโลก
สำหรับผู้สนใจชมปรากฏการณ์ ห้ามสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่า แว่นกันแดด ฟิล์มเอ็กซ์เรย์ หรือแผ่นซีดี เนื่องจากแสงอาทิตย์สามารถทำลายเซลส์ประสาทตาจนตาบอดได้ ควรสังเกตการณ์ผ่านอุปกรณ์เฉพาะ ที่มีคุณสมบัติกรองแสงได้อย่างปลอดภัย อาทิ แว่นตาดูดวงอาทิตย์ ทำจากแผ่นกรองแสงพอลิเมอร์ดำ แผ่นกรองแสงอะลูมิเนียมไมลาร์ กระจกแผ่นกรองแสง สำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า และ อุปกรณ์สังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ทางอ้อม เช่น การดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพ หรือ ใช้หลักการของกล้องรูเข็ม ซึ่งเป็นวิธีที่มีความปลอดภัย ไม่เกิดอันตรายต่อดวงตา และยังสามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน แต่หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ต้องเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ติดฟิลเตอร์กรองแสงดวงอาทิตย์เท่านั้น เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์มีเลนส์รวมแสง ทำให้แสงอาทิตย์ทวีกำลังมากขึ้น เป็นอันตรายอย่างยิ่งแก่ดวงตา
หรือติดตามชมการ LIVE สดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” เหนือฟ้าเมืองไทยจาก 4 จุดสังเกตหอดูดาว 4 แห่ง อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา, ฉะเชิงเทรา, และสงขลาได้ทาง เพจ FB : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เวลา 13.00 – 16.10 น.
และนอกจากวันนี้จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” แล้ว ยังเป็นวัน “ครีษมายัน” คือวันที่เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีอีกด้วย
ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก FB : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ