คปภ. ผนึกพลังภาคธุรกิจประกันภัย พร้อมมอบกรมธรรม์ฯ 35,000 ฉบับ เพื่อช่วยกลุ่มอาสาดับไฟป่าเพื่อชาติ
คปภ. ผนึกพลังภาคธุรกิจประกันภัย พัฒนากรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มอาสาดับไฟป่าเพื่อชาติครั้งแรกในไทย พร้อมมอบกรมธรรม์ฯ 35,000 ฉบับ เพื่อช่วยกลุ่มอาสาดับไฟป่าเพื่อชาติ โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีแอพพลิเคชั่นติดตามพิกัดเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติภารกิจดับไฟป่า
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีมอบกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มอาสาดับไฟป่าเพื่อชาติ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กรณีประสบภัยจนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ขณะปฏิบัติภารกิจ โดยมีคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. นายกสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย และผู้บริหารบริษัทประกันภัย ร่วมส่งมอบกรมธรรม์ จำนวน 35,000 ราย ให้กับนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร
ในโอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่สนับสนุนและผลักดันให้มีกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มอาสาดับไฟป่าเพื่อชาติ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะดำเนินการสำเร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มอาสาดับไฟป่าเพื่อชาติ ที่ได้รับมอบในครั้งนี้ จะมีคุณค่าและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหาร ความเสี่ยงภัยให้กับประชาชนและอาสาดับไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชนและอาสาดับไฟป่า ได้อุ่นใจในขณะปฏิบัติงานดับไฟป่าด้วย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดไฟป่าและฝุ่นละอองในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นประจำทุกปี โดยแต่ละปีพบว่ามีอาสาสมัครดับไฟป่า ซึ่งไม่ได้เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประสบอุบัติเหตุในขณะเข้าดับไฟป่าจนเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และถึงแม้ว่าประชาชนและอาสาดับไฟป่าจะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการ 30 บาท รักษาทุกโรคและโครงการสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีภายใน 72 ชั่วโมง (UCEP) เพื่อรับการรักษาพยาบาล แต่สวัสดิการดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องนำระบบประกันภัยเป็นกลไกมาช่วยในการบริหารความเสี่ยง แต่เนื่องจากเดิมไม่มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับคุ้มครองภัยที่เกิดกับผู้ที่อาสาเข้าไปดับไฟป่า
ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของภารกิจของผู้ที่อาสาดับไฟป่า ที่เป็นภารกิจที่มีอันตรายและมีความเสี่ยงอย่างมาก แต่ยังไม่มีสวัสดิการเพียงพอ ซึ่งหากไม่มีอาสาสมัครเหล่านี้ ไฟป่าก็จะลุกลามสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตของมนุษย์ สัตว์ป่า ตลอดจนทรัพย์สินอื่นๆ เป็นอย่างมาก สำนักงาน คปภ. ถือว่าภารกิจอาสาดับไฟป่านี้เป็นภารกิจเพื่อชาติ จึงได้ร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย พัฒนา “กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มอาสาดับไฟป่าเพื่อชาติ” เป็นการเฉพาะ ครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาเอาประกันภัยขณะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในการดับไฟป่า ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2564 ถึง 10 พฤษภาคม 2564 ด้วยเบี้ยประกันภัย 34 บาทต่อกรมธรรม์ โดยให้ความคุ้มครอง ใน 2 กรณีหลักๆ คือ กรณีการเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง เนื่องจากอุบัติเหตุขณะเข้าปฏิบัติการดับไฟป่า
รวมถึงอุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ ให้ความคุ้มครองเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท และการชดเชยรายได้ระหว่างการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในกรณีได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุขณะเข้าปฏิบัติการดับไฟป่า (สูงสุดไม่เกิน 20 วัน) วันละ 200 บาท ซึ่งเบี้ยประกันภัยจำนวน 1,200,000 บาท ได้รับการบริจาคโดยการผนึกกำลังกันของสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และบริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ส่วนบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการรับประกันภัย มีจำนวน 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
สำหรับการยืนยันตัวตนและการทราบพิกัดของผู้ที่อาสาเข้าไปดับไฟป่า เพื่อที่จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือ ได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดภัย และช่วยเหลือด้านการเคลมค่าสินไหมทดแทน ได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น FiremanTH โดย ดร.เจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ร่วมกับนายภักดี จิรัญดร อนุกรรมการด้านวิชาการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งอาสาสมัครดับไฟป่าสามารถ จะลงทะเบียนโหลดใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จึงถือเป็นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้ในระบบประกันภัยและการปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าเป็นครั้งแรก
“ต้องขอชื่นชมและยกย่องผู้ที่อาสาเสี่ยงชีวิตเข้าไปดับไฟป่า ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่เสียสละเป็นอย่างมาก สมควร ที่จะต้องสนับสนุนและช่วยเหลือในด้านสวัสดิการอย่างเต็มที่ ดังนั้นเพื่อให้กลุ่มอาสาสมัครดับไฟป่าเหล่านี้มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป สำนักงาน คปภ. จึงจัดทำโครงการประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มอาสาดับไฟป่าเพื่อชาติขึ้น โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากภาคอุตสาหกรรมประกันภัยในการร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยนี้ บริจาคเงินช่วยเหลือเป็นเบี้ยประกันภัย และร่วมรับประกันภัยความเสี่ยงจากภัยที่เกิดจากการอาสาเข้าไปดับไฟป่า อีกทั้งยังได้รับ ความอนุเคราะห์จากทีมผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิและทางสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ที่ช่วยพัฒนาแอพพลิเคชั่น FiremanTH นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือโดยใช้ระบบประกันภัยและนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการช่วยเหลือและเพิ่มประสิทธิภาพภารกิจของอาสาสมัครดับไฟป่าเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการขยายผลการช่วยเหลืออาสาสมัครดับไฟป่าต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย