“ณวัฒน์” พา 77 มิสแกรนด์ จี้! DSI รับคดี “แตงโม” เป็นคดีพิเศษ
เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 20 ม.ค. 68 ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ “นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต “นายณวัฒน์ อิสรไกรศีล” และสาวงามจากเวทีกองประกวด MISS GRAND THAILAND 2025 ทั้ง 77 จังหวัด “พ.อ.นพ.ธวัชชัย กาญจนรินทร์” อดีตอาจารย์และแพทย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เดินทางเข้าพบ “พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้ดีเอสไอตรวจสอบการเสียชีวิตของ “น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์” หรือ “แตงโม” เพื่อคืนความยุติธรรมอย่างโปร่งใส และขอให้รับเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากพบข้อพิรุธ และเงื่อนงำการเสียชีวิต โดยมี “นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ” ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม “พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ “พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้ม ครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้รับเรื่องและตอบข้อซักถาม
อ่านข่าวต่อ : เจอกันเลย! “บอสณวัฒน์” ขนทัพมิสแกรนด์ 77 จว. เข้าพบ DSI
นายณวัฒน์ อิศรไกรศีล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เนื่องด้วยคดีอุบัติเหตุของ น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม เป็นที่สนใจจากคนไทยทั้งประเทศ ด้วยข้อสงสัยที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับคำให้การ รวมถึงหลักฐานที่ปรากฏ และพฤติกรรมของคนที่ปราศจากหลักฐาน แล้วอ้างสรุปว่าเป็นอุบัติเหตุ และการให้รายละเอียดเปลี่ยนแปลงไปมาตลอดเวลา รวมถึงสภาพศพและข้อสงสัย ข้อพิรุธ ยังไม่ได้อยู่ในสำนวน รวมถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญหลายคนถูกตัดออกจากการเป็นพยาน
นอกจากนี้ สาเหตุที่ต้องสงสัยและตั้งข้อสังเกตอีกมากมาย จึงทำให้ผลการสำรวจว่าเป็นอุบัติเหตุหรือฆาตกรรมจากหลายสถาบันที่ได้ทำโพลสำรวจ ผลไม่ต่ำกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ จากทุกการสำรวจนั้น เชื่อว่าเป็นการฆาตกรรมอำพราง ในสังคมไทยต้องยอมรับว่าการใช้เส้นสายการใช้อำนาจ ยศฐาบารมีของข้าราชการ รวมถึงการใช้เงินเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง ยังคงมีปรากฏอยู่เป็นระยะ ซึ่งในกรณีนี้ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทุกกลุ่มว่า อาจมีสิทธิ์ในการใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือได้ วันนี้ตนจึงเดินทางมาพบรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีเอสไอ ให้ดีเอสไอรับไว้เพื่อสอบสวนอีกครั้งเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้สังคมไทยได้ข้อสรุปที่แท้จริง นอกจากจะเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตแล้ว ส่วนสำคัญการมายื่นร้องขอในครั้งนี้เพื่อแสดงถึงความเป็นมาตรฐานของการใช้กฎหมายในประเทศ ไทย รวมถึงความโปร่งใสในวงการตำรวจ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์และสร้างความมั่นใจของประชาชน ในปัจจุบันและอนาคต
สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายณวัฒน์ ได้มีการเปิดรูปภาพของแตงโมที่มีลักษณะถูกไพล่หลังให้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดู โดยย้ำว่าเป็นภาพเหมือนแตงโมถูกมัดมือไพล่หลัง และเเย้มว่า ยังมีอีกหลายรูปที่มีร่องรอยฟกช้ำดำเขียว ประมาณ 20 ภาพ ขอให้ดีเอสไอรับไปดูด้วย
นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม วันนี้เรายินดีที่ท่านเดินทางมา เรายินดีรับทุกเรื่องของพี่น้องประชาชนที่จะช่วยได้ ซึ่งเรื่องของท่านก็เป็นส่วนหนึ่ง และเรายินดีที่จะดำเนินการ แม้เรื่องนี้เกิดขึ้น 2 ปีมาแล้ว และกระบวนการกฎหมายได้ไปถึงชั้นศาล มี 2 จำเลยรับสารภาพ ส่วนจำเลยอีก 4 ราย ศาลนัด 29 ม.ค.นี้ ซึ่งตามกระบวนการแล้วท่านยังมีสิทธิ์ร้องเพราะเป็นคดีอาญาแผ่นดินที่ประชาชนร้องได้
แต่กระบวนการของดีเอสไอที่จะรับเป็นคดีพิเศษนั้น หากเข้าลักษณะเป็นคดีพิเศษ จะมีคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณาว่าเรื่องใดเป็นเรื่องที่ดีเอสไอควรรับเป็นคดีพิเศษ ยืนยันว่ากระบวนการของดีเอสไอ อยู่ระหว่างดำเนินการในคดีอาญา มันไม่สามารถที่จะทำไปแถลงไปได้
สำหรับขั้นตอนการรับคดีมี 3 ขั้นตอน คือ 1.รวบรวมข้อเท็จจริง และเมื่อเห็นว่ามีความไปได้ก็จะมีการสรุปข้อมูลเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการสืบสวน 2.การสืบสวนคดี พนักงานผู้รับผิดชอบจะมีอำนาจเพิ่มขึ้นในการแสวงหารวบรวมพยานหลักฐานเป็นเรื่องสืบสวน โดยต้องมีหลักฐานชัดเจน เพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการการรับเป็นคดีพิเศษ และ 3. การรับเป็นคดีพิเศษ จะเป็นหน้าที่ของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือไม่ ถ้าองค์ประกอบเข้ากฎหมาย ก็สามารถรับไว้ดำเนินการเป็นคดีพิเศษได้โดยอำนาจของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
แต่ถ้าเป็นคดีที่ไม่เข้าลักษณะคดีพิเศษ ก็เสนอคณะกรรมการคดีพิเศษได้ แต่คดีนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการรวบรวมข้อเท็จจริงเท่านั้น เพราะในคดีอาญานั้น การกล่าวถึงบุคคลใดอาจเป็นการละเมิดสิทธิ์ได้ ขอให้ความมั่นใจว่าทุกคำพูดของท่าน จะส่งถึง รมว.ยุติธรรม ไม่ตกแม้แต่ประโยคเดียว และในการดำเนินการนั้น อาจเป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือใด ๆ ก็ตาม ตนในฐานะที่ปรึกษา รมว.ยธ. จะมีส่วนเร่งรัดทำให้เร็วที่สุด รับปากได้เลยว่าจะไม่ล่าช้า จะทำตามขั้นตอน ขอให้ท่านไม่ต้องกังวลเรื่องระยะเวลา หรือภายใน 1 เดือนก็สามารถมาทวงถามได้ นอกจากนี้ ในวันที่ 22 ม.ค.นี้ ขอให้ท่านรวบรวมพยานกี่รายก็ตาม หรือรูปภาพต่าง ๆ ให้เอาเข้ามามอบให้ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ได้เลย
ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ตนเข้าใจความประสงค์ที่ต้องการให้ดีเอสไอดำเนินการทำความจริงให้ปรากฏว่าเรื่องราวเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องราวนั้นๆ เรายังไม่ทราบ จึงขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ดังนั้น จะทำการใดก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เพราะเรามี 3 ขั้นตอน คือ การตรวจสอบรวบรวมข้อมูล การสืบสวนแสวงหาพยานหลักฐาน และสอบสวนเป็นคดีพิเศษ ตอนนี้เป็นเพียงแค่ชั้นแรก ต้องรวบรวมข้อมูลจนกว่าจะชัดเจนว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง
อีกทั้งในส่วนของการรื้อฟื้นคดี จะทำได้หรือไม่นั้น ต้องนำมาพิจารณาก่อนว่ากฎหมายเปิดช่องให้จำเลย หรือแพะ หรือผู้ร้องที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม อาจจะมีการเบิกความเท็จ การนำพยานหลักฐานเท็จเข้ามาหรือไม่ อย่างไร และยังมีเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ซึ่งต้องเกิดขึ้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ต้องมีขั้นตอนว่าจำเลยเสียเปรียบหรือไม่ จึงต้องย้ำว่าในชั้นนี้กฎหมายเปิดช่องให้เราทำอะไรได้บ้าง แต่ขอให้เข้าใจว่าเจ้าพนักงานจะทำการใด ก็ต้องดูกฎหมายว่าเปิดช่องให้ทำหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการประชุมก่อนเพื่อดูว่าดีเอสไอสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง และจะแจ้งผลความคืบหน้าให้ทราบแน่นอน
ขอให้ไม่ต้องกังวล ดีเอสไอถูกออกแบบมาให้พิจารณาดำเนินคดีบุคคลที่เป็นข้าราชการอยู่แล้ว อย่างที่เรียนว่าจะดำเนินการสิ่งใด กฎหมายก็ต้องให้อำนาจ ถ้ากฎหมายให้อำนาจเราก็ทำเต็มที่ แต่ถ้าทำโดยไม่มีอำนาจ เราก็จะมีความผิดเสียเอง ตอนนี้จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและประมวลเรื่อง ทั้งนี้ ยินดีดำเนินการให้ความเป็นธรรมในระยะเวลาอันรวดเร็ว อาจไม่ถึงปี ประมาณ 3-6 เดือนก็ได้ทราบความคืบหน้า
ขณะที่ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เบื้องต้นกระบวนการของเราจะเน้นไปที่นิติวิทยาศาสตร์ การรวบรวมพยานหลักฐาน เพราะเรามีมาตรการพิเศษ ในการรวบรวมเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่วันนี้คือจุดเริ่มต้น เนื่องจากเราได้ไปสังเกตการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดูว่าจะมีอำนาจในการดำเนินการในส่วนใดได้บ้าง
ต่อมาเวลา 17.35 น. พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เดินทางมารับเรื่องด้วยตัวเองพร้อมเปิดเผยว่า ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมมีกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ดูแลในเรื่องที่สลับซับซ้อนในคดีอาญาแต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขของกฎหมาย คดีนี้มีส่วนหนึ่งอยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่ตำรวจสอบสวน และอยู่ในการพิจารณาคดีของศาล โดยหลักการถ้าจะสอบสวนรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่มีพระราชบัญญัติรื้อฟื้นคดีอาญาซึ่งต้องเป็นคดีเด็ดขาด ส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลหากมีประเด็นที่สำคัญจะอยู่ในอำ นาจของอัยการ หากเป็นเรื่องมีการกล่าวหาหรือมีการยืนยันตัวบุคคลใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในสำนวนเลย หรือมีการกล่าวหาขึ้นมาใหม่จะมีอำนาจสอบสวนได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ และทราบว่ากระบวนการยุติธรรมทั้งศาลและอัยการได้ดำเนินการอยู่
พันตำรวจเอกทวี กล่าวอีกว่า หน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนี้คือการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนตามที่ได้มีการมาร้องเรียน หากมีความจำเป็นจะตั้งเลขสืบสวน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน เมื่อมีการตั้งเรื่องสืบสวนและพบข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นจะตั้งเป็นสอบสวนและมีการสอบสวน อย่างไรก็ตามในประเด็นดังกล่าวในคดีที่มีคนตาย จะมีอยู่หลักอยู่ 3 หลัก คือ 1.หลักเทคนิคการสืบสวนสอบสวน ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้รวบรวมหลักฐาน 2. การตรวจพิสูจน์ และ3.ต้องชอบด้วยกฎหมาย ในเคสลักษณะนี้หากดีเอสไอจะทำการตรวจสอบจะให้ผู้เชี่ยวชาญที่ขึ้นบัญชีไว้กับศาล ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแพทย์นิติเวช หน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมจะต้องทำความจริงให้ปรากฏ หลังจากรับเรื่องได้ส่งมาให้ดีเอสไอตรวจสอบเนื่องจากมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ในกระบวนการทั้งหมดจะต้องให้อยู่ในพยานหลักฐาน ทั้ง พยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ แต่ในกฎหมายไทยมีพยานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเรื่องนี้อาจจะต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันจะทำด้วยความรวดเร็ว โดยยึดหลักการสอบสวนจะอยู่ที่พยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ไม่มีอคติ หากไปถึงบุคคลใดก็ให้ว่าไปตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ทุกเรื่องในประเด็นความยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่เป็นหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม ทุกเรื่องจะทำและอำนวยความยุติธรรมโดยให้ทำอย่างตรงไปตรงมา