ใครที่เคยมีอาการเสมหะพันคอหรือมีเสมหะเรื้อรัง คงรู้ดีว่าได้สร้างความรำคาญให้กับตัวเองแค่ไหน บางครั้งก็ติดเหนียวหนืดตามลำคอ ทำให้หายใจไม่สะดวก จะกลืนน้ำลายก็กลืนไม่ค่อยลง จะบ้วนออกก็ไม่ค่อยจะออก แม้จะไม่ใช่โรคที่ทำให้ล้มหมอนนอนเสื่อ แต่ก็สร้างความรำคาญและความไม่สบายใจได้เช่นกัน หรือบ่อยครั้งที่เห็นผู้สูงวัยมักมีอาการเสมหะติดคอ นั่นเป็นเพราะวัย พอสูงวัยขึ้นเสมหะก็มักจะมากตาม และถ้าชอบกินหวานก็ยิ่งมีมากขึ้น เรียกว่า เสมหะเฟื้อง สมัยก่อนจึงมักกล่าวกันว่าคนแก่กินหวานติดคอ
ในทางการแพทย์แผนไทยนั้นมีสมุนไพรหลายตัวที่ช่วยบรรเทาและกำจัดเสมหะได้ผล ใช้ได้สะดวกในรูปแบบอาหารและเครื่องดื่ม และสมุนไพรส่วนมากก็หาได้ง่าย เป็นตัวยาที่ส่งเสริมให้ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน ได้แก่
มะขามป้อม สรรพคุณช่วยทั้งขับเสมหะและแก้ไอ บรรเทาอาการเจ็บคอ เหมาะสำหรับคนที่มีไข้และเป็นหวัด ใช้มะขามป้อมสดจิ้มเกลือ หรือต้มเอาแต่น้ำดื่ม 2-3 วัน อาการเสมหะเรื้อรังจะดีขึ้นหรือหายไปเลย และยังช่วยให้ชุ่มคอ ช่วยรักษาอาการไอเรื้อรังได้ผลดีอีกด้วย
มะแว้ง เป็น สมุนไพรสำคัญที่มีบทบาทในการแก้ไอ ขับเสมหะ แต่น่าเสียดายที่เดี๋ยวนี้มะแว้งหาซื้อตามท้องตลาดได้ยาก เมื่อก่อนถ้าไปเดินตลาดสดต่างจังหวัดจะเห็นมะแว้งใส่กระทงวางขายกระทงละ 5 บาท นิยมนำมากินกับน้ำพริก หรือจะเอายอดอ่อนของมะแว้งมาผัดน้ำมันเหยาะเกลือเล็กน้อย หรือกินลูกมะแว้งสดๆ รสชาติจะขมเฝื่อน แต่พอกลืนลงคอจะค่อยๆ ซึมซาบรสหวานชุ่มคอ จะกลืนทั้งเนื้อหรือคายทิ้งก็ได้ หรือ จะนำมาตำเอาแต่น้ำเหยาะเกลือเล็กน้อยใช้ดื่มประจำ แต่สมัยนี้มีเครื่องปั่นก็นำไปปั่น กรองเอาแต่น้ำเหยาะเกลือเล็กน้อย ช่วยแก้ไอและขับเสมหะดีนัก นอกจากนี้น้ำมะแว้งยังช่วยลดน้ำตาลลดเบาหวานได้ด้วย ใครที่เป็นเบาหวานน่าจะทำน้ำมะแว้งดื่มเป็นประจำ แต่อย่าลืมตรวจเช็กน้ำตาลในเลือดด้วย
น้ำอ้อย ช่วยกำจัดเสมหะหนืดเหนียวข้นได้ดี ดื่มน้ำอ้อยสักแก้วสองแก้วก็จะรู้สึกดีขึ้น หรือมีน้ำอ้อยแช่ตู้เย็นไว้ประจำบ้าน ดื่มเช้าเย็นวันละแก้ว ตำรายาไทยกล่าวไว้ว่าเป็นยาอายุวัฒนะด้วย ช่วยบำรุงกำลัง คลายเครียด สรรพคุณของน้ำอ้อยคือ ขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน แก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มชื่นใจ แก้คอแห้ง กระหายน้ำ แก้ท้องผูก แก้คลื่นไส้ อาเจียน บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่นในลำคอ แก้หืด บำรุงกำลัง บำรุงกระเพาะอาหาร เจริญอาหาร เจริญธาตุ แก้อาการร้อนรุ่มกลุ้มใจ แก้นิ่ว ปัสสาวะพิการ แก้ตัวร้อน ดับพิษซาง น้ำอ้อยต้องจัดว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณหลากหลายและใช้ ได้ผลดี
กะเม็งตัวเมีย เลือกเอาต้นสดหนัก 60 บาท หรือ 90 กรัม ล้างให้สะอาดแล้วนำไปตำให้ละเอียด ใช้คั้นกับเกลือ ผสมน้ำต้มสุกเล็กน้อย ใช้จิบเรื่อยๆ ตำราว่าไว้ยาตำรับนี้ช่วยขับพิษเสมหะ มะระ จะเป็นมะระขี้นกหรือมะระจีนก็ใช้ได้ ให้เอามะระต้มและเหยาะเกลือเล็กน้อย รินเอาน้ำดื่ม หรือทำเป็นอาหาร เช่น แกงจืดมะระ มะระตุ๋นกับกระดูกหมู หรือต้มจิ้มน้ำพริกก็ถือว่าใช้ขับเสมหะได้ผลเช่นกัน
สะเดา ใช้รากสะเดาสด 1 กำมือ ต้มน้ำให้เดือด กินก่อนอาหารสัก 3-4 วัน อาการเสมหะในลำคอก็หายขาด ยอ ใช้ลูกยอดิบนำไปเผาไฟให้สุก แล้วแช่ในน้ำต้มสุก รินเอาแต่น้ำดื่ม ช่วยแก้อาการเจ็บคอและแก้เสมหะ หรือจะทำเป็นชาลูกยอ โดยการหั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปคั่วให้เหลืองกรอบ บรรจุใส่ขวดเก็บไว้ชงเป็นชาดื่ม ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ ส่วนใบยอนั้นนิยมนำมาทำห่อหมกใบยอ เวลากินห่อหมกก็ควรกินใบยอด้วย เพราะใบยอมีวิตามินเอสูงช่วยบำรุงสายตา และแก้อาการตาบอดกลางคืนได้ หรือใช้น้ำคั้นจากใบยอทาเมื่อปวดเนื่องจากโรคเกาต์ หรือปวดตามข้อ
ขี้เหล็ก กินแกงขี้เหล็กก็ใช้ได้ แต่แนะให้เป็นแกงขี้เหล็กของอีสานที่แกงใส่ใบย่านาง ไม่ควรกินแกงแบบภาคกลางที่ใส่กะทิ เพราะกะทิจะแสลงกับเสมหะ และย่านางยังเป็นยา นอกจากนี้แกงขี้เหล็กยังช่วยให้นอบหลับสบาย คลายเครียด และขับถ่ายได้คล่อง แถมประโยชน์ด้านอื่นๆ ให้อีกด้วย เหมาะกับผู้สูงวัยที่ประสบปัญหาเครียดง่าย หลับยาก ถ่ายไม่ออก
นอกจากการใช้สมุนไพรดังกล่าวกำจัดเสมหะ สิ่งสำคัญคือ ควรเลี่ยงอาหารแสลงจำพวกมันๆ รสหวาน เพราะจะทำให้เสมหะเฟื้องหรือกำเริบมากขึ้น แต่ที่สำคัญคือ อาหารสมุนไพรดังที่กล่าวมานั้นอาจจะให้สรรพคุณดีมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ ละบุคคล บางคนดื่มน้ำอ้อยแล้วดี (น้ำอ้อยแม้จะหวานแต่จัดอยู่ในประเภทยา) บางคนถูกกับมะแว้งหรือขี้เหล็ก ก็แตกต่างกันไป
ดัง นั้น เมื่อจะใช้อะไรก็ตามแต่ก็ต้องสังเกตด้วยว่าใช้แล้วดีขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ก็เปลี่ยนไปใช้ตัวอื่นแทน เลือกให้เหมาะกับตัวเราแล้วจะได้ประโยชน์เต็มที่ ♦