“ควัน” สำหรับบางคนอาจจะเป็นสิ่งที่อันตราย บางคนอาจเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ แต่ควันที่มาจากของสิ่งหนึ่ง กลับมีความหมายมากมาย ทั้งในเรื่องของความเชื่อ และพิธีกรรมต่าง ๆ นั่นก็คือ ควันจากสิ่งที่เรียกว่า “ธูป” และ “ธูป” เพียงก้านเดียว ก็ยังซุกซ่อนความรู้ ภูมิปัญญา ทรัพยากรจากป่า และวิถีชีวิตของผู้คนมากมายไว้ ตราบใดที่กลิ่นและควันของธูปยังคงฟุ้งกระจายในชีวิตประจำวันของคนไทย
เชื่อกันว่า การใช้ธูปของคนไทยได้รับอิทธิพลจากพิธีกรรมของชาวจีน และลัทธิบูชาไฟในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู โดยชาวจีนเชื่อว่า ควันธูปเป็นสื่อที่ช่วยนำคำขอพรให้ลอยขึ้นไปสู่เทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ได้รับรู้ แต่สำหรับชาวพุทธ การจุดธูปเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการบูชาพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า “อามิสบูชา” คือ การบูชาด้วยสิ่งของ และเครื่องหอมต่าง ๆ เช่น ธูป เทียน ดอกไม้ ซึ่งการจุดธูปสำหรับบูชาพระพุทธเจ้านั้น นิยมจุดครั้งละ 3 ดอก เพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณที่ยิ่งใหญ่ 3 ประการ คือ พระปัญญาธิคุณ ( การตรัสรู้โดยพระองค์เอง ) พระวิสุทธิคุณ หรือพระบริสุทธิคุณ ( ความบริสุทธิ์จากการที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ) และพระมหากรุณาธิคุณ ( ความเมตตากรุณาที่พระพุทธองค์สอนสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ )
นอกจากนี้ความเชื่อในการจุดธูปยังแตกต่างกันไปในแต่ละพิธีกรรม ตั้งแต่เคารพศพด้วยธูปเพียงดอกเดียว ไหว้พระด้วยธูป 3 ดอก บูชาเทพ 5 ดอก ไปจนถึงจุดธูปนับร้อยดอก แต่ไม่ว่าจะจุดธูปกี่ดอก คนไทยยังคงจะต้องใช้ธูปกันต่อไป ใช้กันทุกที่ทุกวันทุกหัวระแหงในปริมาณมหาศาลที่มิอาจคาดเดาได้
ธูปที่ใช้กันอย่างมหาศาลนี้ที่จริงแล้วมาจากที่ไหน ใครเป็นผู้ผลิต แล้วผลิตออกมาได้อย่างไร วัตถุดิบเป็นอะไรกันแน่ ทำไมธูปมีหลายขนาดหลากสีสัน ธูปเล็กธูปใหญ่ธูปยักษ์ ธูปไร้ควัน ธูปหอม และอื่น ๆ อีกมายมายหลายธูป
ธูปเล็ก ๆ เพียงดอกเดียวที่ราคาอาจไม่ถึงบาท กลับอัดแน่นไปด้วยความรู้ และปริศนา กว่าจะมาเป็นธูปสักหนึ่งดอก ต้องใช้ต้นทุนในหลายด้าน ทั้งวัตถุดิบที่มาจากหลายแหล่งหลายสถานที่ ทั้งแรงกายของช่างทำธูป ที่ต้องทำงานท่ามกลางฝุ่นผงคละคลุ้ง ทั้งวิชาการทำธูปที่สืบทอดกันในหมู่ช่างของแต่ละท้องถิ่น และทั้งชีวิตในวิถีของชาวบ้านที่ทำธูปเป็นอาชีพหลัก เพื่อที่จะค้นหาคำตอบ รายการกบนอกกะลา จึงต้องออกเดินทางไปถ่ายทำถึง 5 จังหวัด ทั้งในเขตของภาคกลาง เพื่อดูการผลิตไม้ก้านธูป ไม้ไผ่จำนวนมหาศาลจะกลายมาเป็นไม้ก้านธูปได้อย่างไร จากนั้นขึ้นเหนือ เพื่อตามหาที่มาของผงธูป ที่ทำมาจากเปลือกไม้ชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อประหลาดว่า “ต้นบง” แท้จริงแล้วต้นบงเป็นพืชชนิดใด รูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร และมีความพิเศษอย่างไร ทำไมจึงต้องใช้พืชชนิดนี้ในการทำธูปเท่านั้น สุดท้ายไปยังภาคอีสาน หมู่บ้านที่ได้ชื่อว่ามีการทำธูปมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เพื่อสัมผัสวิธีการทำธูป กว่าจะสำเร็จออกมาเป็นธูปสัก 1 ดอก ให้เราได้จุดกันในเวลาไม่กี่นาที ในกลิ่นควันที่อบอวลด้วยศรัทธาของมหาชน และ ในพิธีกรรมที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของคนไทย
ร่วมค้นหาที่มาของควัน และกลิ่น แห่งพิธีกรรม ผ่านสิ่งที่เรียกว่าธูปนี้ ได้ในกบนอกกะลา คืนวันศุกร์ที่ 4 มีนาคมนี้ 20.40 น. ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ♦