กว่า 200 ปีมาแล้ว ที่วัชพืชขึ้นชื่อ ถิ่นใต้อย่าง “กระจูด” ถูกนำมาสร้างสรรค์ปรุงแต่งด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านแปรรูปเปลี่ยนร่าง นำคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ทั้ง เหนียว และทนทาน มาสรรค์สร้างเป็นสารพัดเครื่องจักสานที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน สร้างมูลค่ามหาศาลให้กับชาวบ้าน แต่เชื่อว่าวัชพืชอย่าง “กระจูด” ก็อาจจะยังคงเป็นต้นพืชแปลกหน้าของใครหลายคน ที่ไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้าคร่าตามาก่อน ดังนั้นกบนอกกะลาจะอาสาพาบุกตะลุยดงกระจูดในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เพื่อค้นหาความลับที่ซุกซ่อนอยู่ในต้นกระจูดให้คุณผู้ชมได้รู้จักกัน อย่างกระจ่าง “กระจูด” เป็น พืชน้ำจำพวกเดียวกับ กก มีลำต้นสีเขียว เรียวยาว กลมกลวง เป็นปล้อง กระจูดเป็นวัชพืชที่เจริญเติบโตได้ง่าย และแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว มีมากในภาคใต้ จะกระจายอยู่ในป่าพรุ ที่ชุ่มน้ำ น้ำท่วมขังตลอดปี ซึ่งปฏิบัติการออกตามล่าหากระจูดนั้น ชาวบ้านนับสิบคนจะล่องเรือบุกเข้าไปในป่าพรุควนเคร็ง ป่าชุ่มน้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของภาคใต้รองจากป่าพรุโต๊ะแดง ในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีพื้นที่กว่า 2 แสนไร่ ครอบคลุมพื้นที่เขตรอยต่อถึง 3 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ซึ่งป่าพรุแห่งนี้นับว่าเป็นขุมทรัพย์ล้ำค่าหรือเปรียบได้กับเป็นหม้อข้าว หมอแกงของคนเคร็ง ที่หาอยู่หากินกันมาเนิ่นนาน โดยระบบนิเวศ์ในป่าพรุควนเคร็งจะเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลานานาชนิด ริมฝั่งมีต้นไม้น้อยใหญ่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ประจำถิ่น และด้วยระยะทางกว่า 3 กิโลเมตรจากคลองลำน้ำขนาดใหญ่ บุกป่าฝ่าดงท่อเรือเข้ามาในล่องน้ำเล็กๆ อย่างทุลักทุเล จนในที่สุดก็พบกับดงกระจูดเขียวสจีสุดลูกหูลูกตา กระจูดไม่ได้ถูกปลูก แต่เติบโตด้วยธรรมชาติมีให้ชาวบ้านได้ใช้ตลอดทั้งปี ซึ่งการเก็บกระจูด ไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์เครื่องมือในการช่วยตัดช่วยเก็บ แต่ใช้เพียงแรงกายและมือเปล่าในการถอนกระจูดขึ้นมาจากดิน แต่ใช่ว่าใครต่อใครจะสามารถถอนกระจูดขึ้นมาได้ง่ายๆ เพราะต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะตัวสูงในการถอนกระจูดโดยไม่ทำให้แหล่งกระจูด เสียหาย เมื่อได้วัตถุดิบกระจูดมาแล้ว กว่าจะได้เครื่องจักสานกระจูดสวยๆ แต่ละชิ้นนั้น ในทุกขั้นตอนยังคงต้องอาศัยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ตกทอดมาสู่รุ่นปัจจุบัน ใช้ฝีมือ ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ของชาวบ้าน ปรุงแต่งแต้มเติม ไม่อาศัยเครื่องจักร ไม่ต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล จากกระจูดลำต้นเล็กสูงเรียวยาวที่ดูไร้ค่า ก็กลายเป็นวัชพืชที่ล้ำค่าสำหรับคนเคร็ง และชาวบ้านข้างเคียงที่เดินทางดั้นด้นเข้ามาตระเวนรับซื้อกระจูดกลับไปเป็น คันรถ ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในหมู่บ้านวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 100,000บาท กระจูดผูกพันธ์กับชาวบ้านอย่างไร กระจูดจะถูกนำไปสร้างสรรค์เป็นอะไรได้บ้าง และปลายทางของกระจูดจากหมู่บ้านเล็กๆ จะเดินทางไปสร้างคุณค่านอกหมู่บ้านได้ไกลสักแค่ไหน กบนอกกะลาจะพาล่องเรือบุกป่ากระโจนเข้าดงกระจูด เพื่อค้นหามูลค่าที่ซุกซ่อนอยู่ใน กระจูด มหัศจรรย์วัชพืชไร้ค่า ในคืนวันศุกร์ ที่ 8 เมษายนนี้ เวลา 20.40 น. ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ♦