“นุ่น” เป็นสุดยอดวัตถุดิบในการผลิตที่นอนไทย ของใช้คู่ครัวเรือนมาแต่โบราณ ด้วยความเป็นที่นอนที่ทำจากธรรมชาติ 100% ปราศจากสารเคมี มีความสะอาด ไม่มีไรฝุ่น ไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ ไม่ยุบตัวเวลานอน อายุการใช้งานนานเป็นสิบ ๆ ปี ที่นอนนุ่นจึงเป็นสินค้าที่ผู้คนต้องการเรื่อยมา แต่นุ่นกลับค่อย ๆ หายไปจากสังคมไทย อะไรที่เป็นสาเหตุทำให้นุ่นหายไป? ทำไมความนิยมสินค้านุ่นจึงลดลงอย่างน่าตกใจ? จึงมอมหมายภารกิจการติดตามหานุ่นให้กบก้องไปค้นหาคำตอบ แต่คราวนี้กบก้องไม่ได้ไปคนเดียวยังมี “กบแทท” กบน้อยตัวใหม่มาเป็นผู้ช่วยในการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ด้วย
จุดเริ่มต้นตามหาแหล่งนุ่น เริ่มจาก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นที่ที่เคยมีที่นอนนุ่น และสินค้าที่เกี่ยวกับนุ่นขายเป็นจำนวนมาก จนถึงขนาดมีคำขวัญประจำอำเภอว่า “ คนสวยโพธาราม แหล่งฟาร์มสุกร หนังใหญ่วัดขนอน ที่นอนล้ำเลิศ ถิ่นกำเนินโคนม ชมค้างคาวร้อยล้าน” ซึ่งสองกบก็ได้ติดตามไปยังแหล่งผลิตที่นอนนุ่นรายใหญ่ของที่นี่ เพื่อที่จะไปสืบหาแหล่งที่มานุ่นให้กระจ่างชัดเจน แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะเส้นทางการตามหาไม่ได้เริ่มต้นที่จุดนี้ การตามหา ค้นหา ของเจ้าปุยขาวๆ นิ่มๆ ที่เรียกว่า “นุ่น” ได้นำทาง 2 กบไปไกลถึง “เกาะนุ่น” อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
แต่ใครจะคิดว่าเส้นทางการตามหานุ่น ไม่ได้ราบรื่นนุ่มสบายอย่างชื่อของนุ่นเลย ไหนจะต้องเดินทางไกล เส้นทางขรุขระทุรกันดาร ข้ามน้ำ ล่องแพ ร่วมชั่วโมงกว่าจะถึง “เกาะนุ่น” เกาะปริศนาที่อยู่ห่างไกลผู้คน เกาะที่ไม่มีคนรู้จัก ไม่มีชื่ออยู่ในแผนที่ประเทศไทย ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำปา ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ และยังต้องใช้ชีวิตอยู่บนเกาะแห่งนี้ ร่วมสัปดาห์ เพื่อเฝ้ารอคนงานตีนุ่นจนหมดเกาะ แต่ภารกิจไม่ได้จบเพียงแค่นี้ นุ่นจะต้องเดินทางไปไหนหลังจากตีนุ่นเสร็จแล้ว และต้องผ่านขั้นตอนอะไรอีกบ้างกว่าจะเป็น นุ่น 100% ที่นำมายัดในหมอน ในที่นอนที่เราใช้กันหนุนนอนหลับสบายจนทุกวันนี้
ร่วมสัมผัสและตามหาความนุ่มของนุ่นเหล่านี้ได้ ในกบนอกกะลา ตอน “ความรู้ไม่นุ่ม ในปุยนุ่นนิ่มๆ” ศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม นี้ 20.40 น. ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี