แคนเครื่องดนตรีพื้น เมืองเก่าแก่ที่มีอายุมายาวนานกว่า 3,000 ปี เป็นเสียงที่เคียงคู่ทุกวิถีชีวิตของคนอีสาน งานบุญ การละเล่น ศิลปวัฒนธรรม หรือแม้แต่ยามว่าง เป็นพระเอกแห่งวงหมอลำตัว ที่มีทั้งท่วงทำนองอ่อนหวานซาบซึ้ง และลีลาม่วนซื่น เต้น เซิ้ง สนุกสนาน เร้าใจ ในแบบฉบับดนตรีอีสานอันเป็นเสน่ห์และมนต์สะกดที่ตราตรึงลูกข้าวเหนียวไว้ ด้วยกันไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก กบนอกกะลา จึงออกเดินทางไขปริศนาที่มาของเสียงที่ซุกซ่อนอยู่ในลำไม้ ซึ่งเต็มไปด้วยคำตอบมหัศจรรย์
จากเต้าแคนบนเวทีหมอลำ สู่เมืองดอกคูณเสียงแคน จ. ขอนแก่น สอบถามปัญหาค้างใจกับเจ้าของร้านขายแคนและเครื่องดนตรีอีสาน ดีกรีหมอแคนแชมป์ประเทศไทย ก็ได้ความว่า แคนคือ เครื่องเป่า ที่มีสรรพนามเรียกว่า เต้า และใน 1 เต้า มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือไม้ลูกแคนหรือไม้กู่แคนที่ทำจากไม้ไผ่ เต้าแคนที่ทำจากไม้ใช้เป็นตัวเป่า และปิดท้ายด้วย ขี้สูดที่จะเป็นตัวติดไม้ลูกแคนกับเต้าให้ติดกัน เมื่อรู้เช่นนี้เราก็ไม่รอช้ามุ่งตรงสู่ถิ่นฐานของคนทำแคนที่ใหญ่ที่สุดใน ประเทศไทย ที่หมู่บ้านท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม หมู่บ้านแคนแห่งแดนอีสาน ที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ใต้ถุนบ้านใคร ก็จะเห็นอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ รวมไปถึงเครื่องดนตรีอีสานวางโชว์ ทั้งโหวด พิณ โปงลาง กลองยาว และแคนหลากหลายขนาดอีกด้วย
ด้วยปริมาณการผลิตที่มาก วัตถุดิบที่ใช้ย่อมมากตามไปด้วย ไม้ลูกแคนจึงต้องนำเข้าจากฝั่งลาว เราจึงต้องลงเรือข้ามโขง กระโดดขึ้นท้ายรถกระบะ เดินเท้า ลุยป่า ข้ามเขา เพื่อบุกเข้าไปให้ถึงถิ่นไม้แคน ในผืนป่าไผ่แห่งเมืองปากซันอันกว้างใหญ่นับพันไร่ เมื่อได้ไม้ไผ่แล้วจึงกลับหมู่บ้านแคน หวังใจจะมาเรียนรู้ในทุกขั้นตอนของการทำแคน ที่กว่าจะได้เสียงแคน สุดสแนน แล่นแตนนั้น จะต้องทำอย่างไร แต่เรื่องมหัศจรรย์ใจยังไม่จบลงเท่านั้น เมื่อหากจะทำแคน ต้องมีขี้สุด หรือผลิตผลจากแมลงตัวเล็ก ๆ ที่ทำรังอยู่ในโพรงจอมปลวกร้างใต้ดิน ดังนั้น กว่าจะได้แคนสัก 1 เต้า จึงมีเรื่องราวความรู้มากมายที่ไม่ใช่เพียงเสียงแคน
กลไกอะไรที่ทำให้ไม้ไผ่เกิดเป็นเสียงดนตรี จังหวะ และทำนอง ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ และจุดเด่นของแคนมาช้านาน กว่าที่เขาจะได้แคนสักหนึ่งเต้า จะมีขั้นตอนการทำอย่างไร ไปม่วนซื่น โฮแซว ให้หัวใจสะออน ในกบนอกกะลา ศุกร์ที่ 1 กรกฏาคม นี้ 20.40 น. ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ♦