สืบทอดมากว่า 200 ปี “บาตรตะเข็บ” ภูมิปัญญาคนบ้านบาตร
บาตร ภาชนะใส่อาหารสำหรับพระภิกษุสามเณร ถือว่าเป็นของใช้ที่มีความสำคัญสำหรับสงฆ์เป็นอย่างมาก และ เป็นหนึ่งในอัฐบริขาร 8 อย่าง ที่บัญญัติไว้ในพระธรรมวินัย นอกเหนือจากนั้น ยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างพุทธศาสนิกชนกับพระสงฆ์ ผ่านการทำบุญตักบาตร สืบทอดพุทธศาสนาให้ดำรงไว้
ว่ากันว่าบาตรที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยนั้น ต้องเป็นบาตรตะเข็บ หรือบาตรที่ทำขึ้นด้วยมือ และประกอบด้วยเหล็ก 8 ชิ้น ซึ่งมีที่มาจากความเชื่อตั้งแต่สมัยพุทธกาล
แต่ในปัจจุบันบาตรพระที่ใช้กันแทบจะ 100% เป็น "บาตรปั๊ม" ที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม บาตรตะเข็บตั้งแต่สมัยโบราณ จึงกลายเป็นของหายากที่ใกล้สูญหาย กบนอกกะลาจึงเริ่มต้นติดตามเรื่องราวของบาตรพระที่ "ชุมชนบ้านบาตร" ชุมชนเล็กๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในย่านเสาชิงช้า ใจกลางกรุงเทพมหานคร ที่ยังคงรักษาภูมิปัญญาการทำบาตรตะเข็บที่สืบทอดกันมากว่า 200 ปีแล้ว และหลงเหลือให้เห็นอยู่เพียงที่เดียวในประเทศไทย
การทำบาตรจากเหล็ก 8 ชิ้นด้วยมือในทุกขั้นตอน โดยไม่มีเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ทันสมัยใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเลยนั้น กว่าจะได้บาตรมาแต่ละใบ ต้องผ่านมือช่างชำนาญมากฝีมือเฉพาะด้านร่วม 10 คนเลยทีเดียว
นอกจากความมหัศจรรย์ในการทำบาตรที่เราได้ค้นพบจากชุมชนนี้แล้ว ที่นี่ยังทำให้เราได้รู้จักกับอาชีพเก่าแก่ดั้งเดิม ที่น้อยคนนักจะรู้จัก นั่นก็คือ "คนแลกบาตร" นั่นเอง อาชีพที่ทำให้เห็นวงจรชีวิตของบาตรเก่า และไขข้องใจของหลายๆ คนว่า เมื่อพระลาสิกขาบทแล้ว บาตรจะไปไหน ? เราจึงขอตามติดเฝ้าดูความบุกบั่นอุตสาหะของคนแลกบาตรที่พกพา "ของมีคม" ตระเวนขึ้นเหนือ ล่องใต้ แวะเวียนไปทุกวัดทั่วประเทศ เพื่อแลกกับบาตรเก่าหมดสภาพ อายุหลายสิบปี ให้หวนคืนสู่บ้านเกิดที่ชุมชมบ้านบาตรอีกครั้ง เพื่อผ่านกระบวนการจากยอดฝีมือที่ชุบชีวิตบาตรเก่า ที่ทั้งบุบเบี้ยว สนิมเกาะกิน เป็นรูพรุน ให้กลับมา กลมกลึง ราบเรียบ สมบูรณ์เต็มบาตร พร้อมใช้งานได้อีกครั้ง
บาตรพระนั้นจึงไม่ได้มีบทบาทเพียงภาชนะใส่อาหารเท่านั้น แต่ยังพาเราไปรู้จักถึงเรื่องราวในพุทธประวัติ ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาเก่าแก่อันล้ำค่าที่ใกล้เลือนหาย ติดตามเรื่องราว "วิถี ศรัทธา คุณค่าบาตรพระ" ในกบนอกกะลา ศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม 2554 เวลา 20.40น. ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี ♦