ด้วยพระราชเสาวนีย์ใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์ “โขน” ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย ให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมตามแบบประเพณีโบราณอันงดงาม เต็มรูปแบบ ทำให้ปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่คนไทยได้ชื่นชมการแสดงอันล้ำค่านี้ เปรียบเหมือนดั่ง “ของขวัญ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนีนาถทรงพระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทย
เจาะใจ พฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม นี้ นำท่านผู้ชมไปพบกับการแสดงอันวิจิตรงดงามตระการตา การแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชุด “ศึกมัยราพณ์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติปีแห่งมหามงคลสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ติดตามการเจาะลึกเบื้องหลังการแสดงโขน กับ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนฯ และ ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี รองผู้อำนวยการผลิตฯ ที่จะมาถ่ายทอดความมุ่งมั่นทุ่มเททั้งกายใจของสุดยอดผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ประเพณีไทย ที่มารวมตัวกับช่างหัตถศิลป์แขนงต่างๆ จนทำให้เกิดเป็นงานสำคัญเพื่อชาติอันได้ผลลัพท์ดีเลิศยิ่งกว่าค่าตอบแทนเป็น เงินทอง
“การฟื้นฟูโขนไม่ใช่เป็นเพียงการจัดการแสดงโขนเท่านั้น แต่เป็นการสืบสานศิลปะของชาติหลายแขนง ทั้ง นาฏศิลป์ ดนตรี นักร้อง เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย เครื่องหัวโขน ฉากและสิ่งประกอบการแสดง ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างเทคนิคแสง เสียง เป็นการทำงานร่วมกันของคนนับร้อย รวมทั้งเหล่าสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพจากท้องถิ่นต่างๆ ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯทรงช่วยเหลือไว้ฝึกให้มีอาชีพ ก็ได้มีโอกาสมาเรียนรู้จากครูผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเข้ามาคัดเลือกเป็นตัว แสดง ซึ่งหลายคนร้องขอเป็นตัวแสดงอะไรก็ได้ เพื่อจะได้เรียนกับ ครูบาอาจารย์ปรมาจารย์ด้านโขน ที่น่าชื่นใจคือครอบครัวจูงเด็กเยาวชนมาชมจนตั๋วเต็มแทบ ทุกรอบ ทำให้ต้องขยายเวลาการแสดงออกไปทุกครั้ง ถือว่าเป็นไปตามความคาดหวังที่เห็นทุกคนมีส่วนร่วมสืบสานงานโขน”
เช่นเดียวกัน อ.สมชาย ฟ้อนรำดี และ ด.ช.ภูษณ ฟ้อนรำดี ที่ร่วมสืบทอดวัฒนธรรมการรำโขนจากพ่อสู่ลูก ในบทบาทที่เดินตามรอยกันมา จากเดิมผู้เป็นพ่อเคยรับบท มัจฉานุ ก่อนจะพัฒนาฝีมือจนเป็น หนุมาน มาวันนี้ ด.ช.ภูษณ ลูกชาย มารับเป็นมัจฉานุ ตามรอยพ่อ ก็ได้มาร่วมเปิดใจในเรื่องนี้
และพิเศษสุดกับการแสดงเปิดรายการด้วย การแสดงรำหน้าพาทย์ดำเนินพราหมณ์ การรำชั้นสูงที่ครูอาจารย์หวงแหน สงวนไว้เฉพาะบุคคล ไม่ถ่ายทอดต่อกันง่ายๆ และไม่เคยเปิดเผยมานานถึง 50-60 ปี เป็นวิชาที่ครูโขนต้องคัดคนแล้วคัดอีก เพราะหากรำพลาดแม้แต่เพียงนิดถือเป็นอัปมงคลกับชีวิตตลอดไป
ติดตามชมให้ได้ ใน “เจาะใจ” วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม นี้ เวลาดีสี่ทุ่มครึ่ง ทาง ททบ. 5 ♦