“เจมส์” ปลื้มสวมบทเด็กซึมเศร้า ตื่นเต้น "SOS" จ่อออนแอร์
"เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธ์ุภิญโญ" ปลื้มใจสวมบทเด็กซึมเศร้า ตื่นเต้น "SOS skate ซึมซ่าส์" จ่อคิวออนแอร์
หลังจาก "Project S The Series" ตอน "Side by Side พี่น้องลูกขนไก่" เรื่องราวของเด็กออทิสติกที่มีความสามารถในการเล่นกีฬาแบดมินตันอำลาจอไปด้วยกระแสตอบรับที่ดีเกินคาด คราวนี้ก็ถึงตาของกีฬาสเก็ตบอร์ดในชื่อตอน "SOS skate ซึมซ่าส์" ที่จะจ่อคิวออนแอร์ในวันที่ 9 กันยายนนี้ ซึ่งเรื่องราวของตอนนี้เป็นเรื่องราวของเด็กซึมเศร้าที่ต้องเข้าไปพัวพันกับกีฬาสเก็ตบอร์ด ซึ่งผู้ที่มารับบทหนักในครั้งนี้ คือหนุ่ม "เจมส์ ธีรดนย์" นั่นเอง แม้จะแอบกดดันแต่เจ้าตัวก็ทำเต็มที่ที่สุดแล้ว โดยเจ้าตัวเผยว่า
สำหรับเรื่องสเก็ตบอร์ต เป็นบทบาทที่พลิกตัวตนของตน ในเรื่องเป็นเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้า จะมีบางเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวละครตัวนี้ได้ไปรู้จักกับสเก็ตบอร์ด เรื่องก็จะดำเนินต่อไปประมาณนั้น ก็มาลุ้นว่าเด็กคนนี้จะไปเกี่ยวข้องกับสเก็ตบอร์ดยังไง แล้วสเก็ตบอร์ดจะสำคัญกับชีวิตเขายังไง
ส่วนตัวเราไม่เคยมีพื้นฐานการเล่นสเก็ตมาก่อน แต่พอรู้ว่าได้มาเล่นเรื่องนี้ก็ต้องฝึกซ้อม เข่าแตกไปหลายรอบเหมือนกัน แขนหัก ข้อเท้าพลิก ทุกอย่างเลย และในเรื่องนี้ก็เป็นครั้งแรกของเรา เลยต้องไปศึกษาทำความเข้าใจว่าจริงๆ แล้วโรคนี้มันเป็นอย่างไร คนที่เป็นโรคนี้เขามีระบบกระบวนการแบบไหนถึงทำให้เขาคิดแบบนั้น เราก็ทำการบ้าน แล้วก็เคยไปคุยกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าเหมือนกัน สอบถามเขา เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถามว่าหนักใจไหม เราคิดว่าไม่หนักใจอะไร จริงๆ เราชอบอะไรที่มันยาก ชอบที่มันท้าทายความยากของตัวเอง มันเป็นเหมือนหนึ่งก้าวสำคัญของตัวเอง และเป็นก้าวที่เราจะเสียใจมากถ้าไม่ได้เล่นบทนี้ในชีวิต ดีใจมากที่ได้รับบทนี้ การได้รับบทนี้เหมือนเป็นขั้นบันไดขั้นหนึ่ง ซึ่งถ้าเราหลุดขั้นนี้ไปก็ไม่รู้ว่าจะได้เจอขั้นนี้อีกเมื่อไหร่
สำหรับคนดูจะเซอร์ไพรส์กับบทนี้หรือไม่เราก็ยังไม่ได้คาดหวังกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเท่าไหร่ แต่ตอนทำรู้สึกว่าเราทำเต็มที่ที่สุดแล้ว แต่สิ่งที่คาดหวัง คือ คาดหวังว่ามันจะออกมาดีไหม เราก็คาดหวัง แต่สิ่งที่คาดหวังอยากจะให้ได้ดีกว่า คืออยากให้คนเข้าใจโรคซึมเศร้ามากขึ้น เปิดรับโรคซึมเศร้ามากขึ้น เข้าใจคนที่เป็นจริงๆ เพราะว่ามันเป็นเรื่องเซ้นซิทีฟ
เจ้าตัวยังเผยว่า เรื่องของเราค่อนข้างยาก ยากกว่าของพี่ต่ออีก แต่ว่ามันจะคนละแบบ คนเป็นโรคซึมเศร้ามันเป็นกระบวนการความคิดว่าคนนั้นลักษณะเป็นอย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่เราแสดงไปคนที่เป็นซึมเศร้า แต่มันมีคนที่เป็นแบบนี้จริงๆ อยากให้เข้าใจว่านี่คือหนึ่งเคส แล้วคนรอบข้างจะช่วยเขาได้อย่างไรบ้าง