อัศจรรย์ผ้าลายเทพสุวรรณใบเทศ ที่ “น้ำตาล” สวม ใน “ลิขิตแห่งจันทร์” จากจิตรกรรมฝาผนัง

อัศจรรย์ผ้าลายเทพสุวรรณใบเทศ ที่ “น้ำตาล” สวม ใน “ลิขิตแห่งจันทร์” จากจิตรกรรมฝาผนัง

0

อัศจรรย์ผ้าลายเทพสุวรรณใบเทศ ที่ “น้ำตาล” สวม ใน “ลิขิตแห่งจันทร์” จากจิตรกรรมฝาผนัง

                    “แก้ว บุญจิรา ภักดีวิจิตร” ผู้จัดละครค่าย อาหลอง กรุ๊ป ได้ดำเนินการสร้างละคร “ลิขิตแห่งจันทร์” ซึ่งเล่าเรื่องราวของ 2 สาว 2 ยุคสมัยที่ต้องมาใช้ชีวิตสลับภพกัน โดยเล่าเรื่องคู่ขนานกันไประหว่างยุคปัจจุบันและยุคอดีตสมัยอยุธยาตอนปลาย ผู้รับผิดชอบออกแบบเสื้อผ้า หรือสไตลิสต์ของเรื่องนี้ คือ “คุณเพชรรัตน์ ณ ปัตตานี” จึงได้ตีความบทละคร และเสนอแนวคิดร่วมกับผู้จัดฯ ว่าอยากให้ชุดไทยในละคร “ลิขิตแห่งจันทร์” มีความสวยงามแปลกตา ต่างจากละครเรื่องอื่นๆ เพราะบทละครมีความร่วมสมัยไม่เหมือนใคร “คุณเพชรรัตน์ ณ ปัตตานี” จึงได้เสาะหาผู้มีฝีมือในการออกแบบลายผ้า จนได้มาพบกับ “อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล” ผู้เชี่ยวชาญลายไทยและการออกแบบผ้าลายอย่าง ผู้มีผลงานที่โดดเด่นจากการออกแบบผ้า “สุโขทยพัสตร์” ผ้าลายอย่างลวดลายศิลปกรรมสุโขทัย

ลิขิตแห่งจันทร์ น้ำตาล พิจักขณา ลายผ้า

อ่านข่าวต่อ

เรื่องย่อละคร "ลิขิตแห่งจันทร์"

                    ขั้นตอนการทำงานกว่าจะได้ผ้าไทย 1 ผืน คือสไตลิสต์จะเข้าไปเลือกลายผ้าที่ “อาจารย์เศรษฐมันตร์” ได้ออกแบบไว้ในคอมพิวเตอร์ ว่าลายนี้เหมาะกับตัวละครบทไหน จากนั้นจึงเลือกโทนสีของผ้าให้เข้ากับคาแรกเตอร์ของตัวละครนั้น โดยมีการปรับแต่งสีสันของผ้าในคอมพิวเตอร์ก่อน จึงจะสั่งพิมพ์ผ้า เช่น ผ้านุ่งของ “ดวงแก้ว” ซึ่งเป็นสาวเรียบร้อย จะเลือกใช้โทนสีสว่างอ่อนหวาน ส่วนของ “โฉม” ที่ขี้อิจฉาริษยาจะใช้สีสดและร้อนแรง ดังนั้นผ้าไทยในละครเรื่องนี้จึงไม่ได้สวยงามตรงตามยุคสมัยแต่อย่างเดียว หากยังเต็มไปด้วยสีสันที่สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกและตัวตนของตัวละครบทนั้นด้วย อีกทั้งลวดลายผ้าที่ถูกออกแบบขึ้นเป็นพิเศษโดยฝีมือ “อาจารย์เศรษฐมันตร์” นี้ไม่เคยปรากฏในละครเรื่องใด แต่จะถูกนำเสนอผ่านละคร “ลิขิตแห่งจันทร์” เป็นเรื่องแรก

ลิขิตแห่งจันทร์ น้ำตาล พิจักขณา ลายผ้า

                    ผ้าที่ใช้ในละคร ได้แก่ ผ้าลายอย่าง คือผ้าที่ทางราชสำนักในสมัยอยุธยาออกแบบ เขียนลายส่งไปให้ช่างชาวอินเดียเขียนตาม โดยวิธีการเขียนมือและการพิมพ์ลาย ซึ่งในสมัยนั้นช่วงแรกๆ สยามเรายังไม่สามารถผลิตเองได้ ต้องอาศัยแหล่งผลิตผ้า คือ อินเดียที่มีความชำนาญสูง ความสวยแตกต่าง ของลวดลายบนผืนผ้า มีการประยุกต์ลายไทยโบราณเข้ากับลายที่ออกแบบขึ้นใหม่ แต่อยู่ในรูปแบบโครงสร้างเดิมของลายไทยสมัยอยุธยา ซึ่ง “อาจารย์เศรษฐมันตร์” ถอดแบบลายมาจากจิตรกรรมที่มีการเขียนภาพผ้านุ่งไว้บนผนังของโบราณสถานต่างๆ ที่สร้างในยุคกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น อาทิ วัดไชยทิศ, วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร บางกอกน้อย, วัดทองนพคุณ คลองสาน และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ลิขิตแห่งจันทร์ น้ำตาล พิจักขณา ลายผ้า

                    ผ้าลายอย่างที่ใช้ในละคร “ลิขิตแห่งจันทร์” มีผืนที่งดงามเป็นพิเศษ เช่น ผ้าลายเทพสุวรรณใบเทศ พื้นสีเหลืองทองดอกบวบ ที่ “น้ำตาล พิจักขณา วงศารัตนศิลป์” รับบท “ดวงแก้ว” และ “โอปอล์” สวมใส่ ความพิเศษของลวดลายนี้คือ มีที่มาจากจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณาราม สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นลายที่แกะแบบมาจากลายผ้าบนผ้านุ่งของตัวเทพทวารบาลที่รักษาประตู เขียนขึ้นอย่างละเอียดวิจิตร ที่สำคัญ ยังเป็นภาพเขียนฝีมือบรมครู “อาจารย์ทองอยู่” และ “อาจารย์คงแป๊ะ” จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนคำว่า เทพสุรรณ ที่นำมาตั้งชื่อต้นลายผ้า เพื่อเป็นการยกย่องทวยเทพที่รักษาประตู หน้าต่าง เมื่อนำลายผ้าท่านมาจึงขอตั้งชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “เทพสุวรรณ” ความหมายตรงตัว คือ เทพยดา จาก วัดสุวรรณ นั่นเอง

ลิขิตแห่งจันทร์ น้ำตาล พิจักขณา ลายผ้า

ลิขิตแห่งจันทร์ น้ำตาล พิจักขณา ลายผ้า

                    การนำลวดลายมาใช้ “อาจารย์เศรษฐมันตร์” ได้นำการผูกลายของโบราณมาตกแต่งเพิ่มเติมลวดลายที่ชำรุดให้มีสภาพเหมือนเพิ่งเขียนใหม่ ภาพเดิมพื้นเหลืองจำปา เนื่องจากลายใบเทศชุดนี้มีความงดงาม จึงได้เปลี่ยนสีพื้นออกไปอีก 4 สี รวมของเดิมเป็น 5 สี ท้องผ้าลายดอกประจำยาม ก้านแย่ง สลับลายไปทั้งท้องผ้า สังเวียน กรวยเชิง ใช้ร่วมลาย เพราะลายเดิมไม่ค้นพบ สีสันของผ้าโบราณ โทนสีของผืนผ้า เลือกใช้สีจากธรรมชาติ เช่น ดิน หิน เปลือกหอย ครั่ง เขม่า และรงควัตถุต่างๆ สำหรับละครเรื่องนี้ โทนสีผ้าผู้หญิงจะใช้โทนสีขาวสว่าง และสำหรับผู้ชายเป็นสีโทนเข้มขึ้น สีสันของผ้าจะมีความซีดและเนื้อด้าน ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะถอดแบบให้ออกมาคล้ายภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วาดด้วยสีฝุ่น เนื้อผ้าที่เลือกใช้ มีทั้งผ้าเนื้อคอตตอนเลียนแบบผ้าโบราณ เน้นความสมจริงแบบสมัยอยุธยา และผ้าซาตินซิลค์ เป็นผ้าสมัยยุคปัจจุบันที่มีลักษณะมันเงา แวววาว และพลิ้วไหว ที่แม้ผ้าซาตินซิลค์จะทอขึ้นในยุคปัจจุบัน แต่ตั้งใจนำมาใช้เพื่อเพิ่มความสวยงามหรูหราให้แก่ชุดเป็นพิเศษ เช่น ฉลองพระองค์ของเสด็จ ซึ่งเป็นตัวละครที่มีฐานันดรสูงศักดิ์ในเรื่อง

ลิขิตแห่งจันทร์ น้ำตาล พิจักขณา ลายผ้า

                    นับว่าละครเรื่อง “ลิขิตแห่งจันทร์” ได้นำผ้ารูปแบบใหม่ๆ เป็นผ้าลายประยุกต์ ที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นยุคใดมาใช้ ผสมผสานกับผ้าแบบโบราณสมัยอยุธยา เพื่อให้ผู้ชมได้ตื่นตาตื่นใจกับความหลากหลายของผ้าในยุคนั้น ซึ่งคาดว่าสมัยอยุธยามีผ้าหลายชนิด แต่ถูกค้นพบไม่มากนัก นับเป็นความสร้างสรรค์และใส่ใจในรายละเอียดของทีมเสื้อผ้าละคร “ลิขิตแห่งจันทร์” ที่จะทำให้ผู้ชมได้เพลิดเพลินไปกับความงดงามแปลกตาของลายผ้าใหม่ๆ ในละครเรื่องนี้ ราวกับกำลังได้ชมภาพจิตรกรรมฝาผนังในยุคกรุงศรีอยุธยากำลังเคลื่อนไหวอยู่บนผืนผ้าที่ตัวละครสวมใส่ผ่านหน้าจอไปพร้อมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Gallery ที่เกี่ยวข้อง

Comments