รีวิว “Dark Waters” ภ.เรื่องจริง ขุดความเน่าในใจคนที่มากกว่าน้ำเน่า
หลังจากดูภาพยนตร์ Dark Waters ก็เกิดสงสัยถึงความปลอดภัยในตัวกระทะเทฟล่อนในบ้าน รวมไปถึงสิ่งของรอบตัวทันทีว่าความปลอดภัยของชีวิตเราอยู่ตรงไหนเอ่ย?
อ่านข่าวต่อ
รีวิว : “ไทบ้าน X BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้”
“Dark Waters พลิกน้ำเน่าคดีฉาวโลก” ว่าด้วยเรื่องราวปัญหาขยะเคมีที่มาฝังบนเขาของบริษัทดูปองท์ ก่อนสารเคมีจะไหลไปตามแม่น้ำโอไฮโอและมีผลต่อประชาชนตาดำๆ ใน West Virginia โดยที่ผู้คนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ จนกระทั่งเรื่องแดงเมื่อ “เอิร์ล” ชาวไร่คนหนึ่งปรี๊ดแตกหลังวัวในฟาร์มของเขา 190 ตายด้วยอาการแปลกๆ ฟันดำ ตาเป็นสีขาว กีบเท้างุ้มเข้า มีเครื่องในโป่ง และก้อนเนื้อประหลาด และยังสืบทอดความไม่สมบูรณ์ไปยังลูกวัวคอกที่เพิ่งเกิด ตาบอด และมีอาการคุ้มคลั่ง “เอิร์ล” ดิ้นรนหาหนทางฟ้องบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีอำนาจกุมทั้งเมืองอย่าง ดูปองท์ แต่ไม่มีทนายความสำนักไหนรับว่าความเลย ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ดังที่กล่าวไปว่าดูปองท์กุมอำนาจทั้งเมือง West Virginia ก็เพราะว่าอำนาจเงินของบริษัทสนับสนุนชุมชน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ศูนย์ต่างๆ ในชุมชน รวมไปถึงโรงงานของบริษัทเองที่ทำให้ผู้คนมีงาน มีเงิน โดยที่ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าอำนาจมืดนี้กำลังกลืนกินชุมชนไปช้าๆ ก่อนที่จะเห็นทางสว่างเมื่อทนายความฝีมือดี (และเนิร์ดมาก) ลูกหลานชาว West Virginia อย่าง “ร็อบ” หรือ “โรเบิร์ต บิลอตต์” รับบทโดย "มาร์ค รัฟฟาโล" ยื่นทั้งมือทั้งชีวิตของเขาทุ่มเทช่วยเหลือและเปิดโปงคดีฉาวโลกนี้
เรื่องทำนองเปิดโปงอำนาจมืดของบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือหน่วยงานราชการระดับบิ๊กๆ มีให้เห็นมานักต่อนัก แต่จะทำยังไงให้เรื่องไม่น่าเบื่อ และน่าติดตาม Dark Waters เองก็ทำได้ไม่แย่เลยทีเดียว และแฝงรายละเอียดที่น่าประทับใจไม่น้อย ก่อนอื่นขอพูดถึงตัวละครหลัก “โรเบิร์ต บิลอตต์” หรือ “ร็อบ” จริงๆ ก็เป็นตัวละครที่เกือบๆ แบนเหมือนกัน เป็นคนดี 99% เลยก็ว่าได้ ดูเป็นฮีโร่หนึ่งเดียวที่พยายามผลักดันให้คดีสำเร็จ ทั้งๆ ที่มีหน้าที่การงานเป็นหุ้นส่วนในสำนักทนายความ Taft Stettinius & Hollister LLP แต่พอต้องชนกับบริษัทใหญ่ในเรื่อง “ร็อบ” นั่งรื้อเอกสารประกอบคดีคนเดียวที่มองด้วยตาอ่านเป็นชาติก็ไม่หมด แต่คนนี้อ่านหมดจ้า จับจุดหาหลักฐานประกอบคดีที่สำคัญได้แบบไม่น่าเชื่อ แต่ก็อย่างว่า คนมันจะเป็นตำนานแหละ เลยต้องยิ่งใหญ่หน่อย ถือว่าเป็นทนายที่เนิร์ดคนหนึ่ง หลังจากที่ได้รู้ปัญหาของ “เอิร์ล” ชาวนาที่น่าจะไม่มีเงินจ้างเขา แค่รู้ว่าเป็นคนบ้านเดียวกันและรู้จักกับยายของตัวเอง ทีแรก “ร็อบ” ก็ดูปฏิเสธไม่เอาด้วย แต่จู่ๆ ก็เกิดอะไรดลใจไม่รู้ยอมขับรถไปดูสถานที่เกิดเหตุด้วยตัวเอง และหลังจากรู้เรื่องวัวตาย 190 ตัว ยอมเอาหน้าที่การงานตัวเองเข้าไปแลก ทั้งๆ ที่บริษัททนายที่ทำงานอยู่รับจ้างว่าความให้กับบริษัทเคมีต่อสู้คดีกับชาวบ้านซะด้วยซ้ำ เหมือนจุดตัดสินใจแรกดูง่ายเกินไปหรือเปล่า และยิ่งต่อๆ มาอุปสรรคตลอดการว่าความเยอะมาก ทั้งเรื่องหน่วยงานรัฐเองที่ถือหางให้ดูปองท์ หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานที่ไม่เห็นด้วยอย่างแรงที่ตานี่กล้าหักหน้าบริษัทไฝว้ แถมระยะเวลาในการหาหลักฐานตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุดยืดเยื้อกว่า 13 ปี นับตั้งแต่ปี 1999 จน “เอิร์ล” เสียชีวิต และ “ซาราห์ บิลอตต์” ที่รับบทโดย “แอนน์ แฮทธาเวย์” คลอดลูกชายมาแล้ว 3 คน (คือแค่จะบอกว่าคดีมันนานจริงๆ และคิดว่าเกินกว่าที่คนๆ หนึ่งจะอดทนได้ด้วย แต่เรื่องนี้ based on true story นะเออ คือปรบมือให้ความพยายามของบิลอตต์ตัวจริงเลย)
ขอต่อเรื่องความเนิร์ดของตัวละคร “ร็อบ” อีกหน่อย คือสถานะทางสังคมดูเป็นคนที่พอมีหน้ามีตา แต่พอถึงจุดที่อยากตามคดีกลายเป็นคนโคตรเนิร์ดจนลืมมารยาท โดนแหกอยู่หลายครั้ง ทั้งคุยธุระกลางงานเลี้ยง,โทรจี้ขอเอกสารไม่หยุด หรือติดตามไปหาคนที่ไม่สนิทในวันอาทิตย์ เลยทำให้นอยด์ๆ เวลาเห็นเขาเอ๋อหน่อย ไม่นับความร้อนรนเวลาว่าความบอกเลยอยู่ไม่สุข แต่แกก็ทำให้เราลุ้นจริงๆ นะแหละ ขอชมเชย “มาร์ค รัฟฟาโล” นะ สีหน้าท่าทาง ทุกอย่างสมจริง จริงจัง เวลาเจอกับเรื่องราวน่าผิดหวังของแกคือผิดหวังจริงๆ มีซีนหนึ่งที่เราชอบมาก คือซีนที่นั่งเครียดหน้าแห้งคอตกในโบสถ์ ไม่ร้องเพลงเหมือนคนอื่น คือมันตัดกับชาวคริสต์ที่ไปร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าในโบสถ์จนเข้าใจความทุกข์ของเขาที่ศาสนาก็เป็นที่พึ่งพาในใจไม่ได้แล้ว
ส่วนอีกหนึ่งนักแสดงที่เราชอบมากและอยากเห็นบทบาทในเรื่องนี้ คือ “แอนน์ แฮทธาเวย์” ตั้งแต่เริ่มต้นจนครึ่งๆ ของเรื่องเกือบทำเราผิดหวังกับบท “ซาราห์” จนคิดว่าจำเป็นต้องให้ “แอนน์” มารับบทแม่บ้านธรรมดาๆ คนนี้หรือเปล่า ก่อนที่ค่อนหลังเรื่องเข้มข้นขึ้น จึงได้เห็นซีนของนางเอกมากฝีมือคนนี้ว่าเธอทำให้ขนลุกได้ไม่น้อยกับบทแม่บ้านลูกสามของสามีทนาย บท “ซาราห์” ต้องเข้าใจสามีจอมเนิร์ดบ้างานมากจริงๆ เพราะตลอด 13 ปี ที่หนังตัดซีนต่างๆ ในศาล ในสำนักงานทนายความ หรือในเมืองต้นเหตุสารเคมี แทรกฉากครอบครัวของเจ้าหล่อนประปราย และเมื่อถึงซีนที่เป็นจุดวิกฤติสำคัญๆ สังเกตว่าเธออยู่กับสามีและเป็นคนแรกๆ ที่รู้ปัญหาของเขา อย่างซีนที่ “ซาราห์” ออกมาระเบิดอารมณ์กลางดึงเพราะว่าสามีรื้อบ้านเละหาสารเคมี สุดท้ายความที่ภรรยามีความเชื่อในสิ่งที่สามีกำลังจะทำ ภาพก็ตัดไปมาระหว่างการอธิบายระหว่าง “ร็อบ-ซาราห์” เป็นการอธิบายระหว่าง “ร็อบ-หัวหน้า” ถึงข้อสันนิษฐานต่อบริษัทดูปองท์จนผลักดันให้เกิดการสืบสวนคดีนี้ขึ้น หรืออีกซีหนึ่งที่โรงพยาบาล เมื่อ “ร็อบ” เกิดป่วยกะทันหัน “ซาราห์” รู้ทันทีว่าจะต้องทำยังไง สิ่งเดียวที่สามีของเขาขาดหายและกำลังต้องการคือความเชื่อ เชื่อว่าเขาสามารถทำได้ ไม่ได้ล้มเหลวในเรื่องที่เขาทุ่มเททั้งชีวิต ซีนเรียกน้ำตาเบาๆ รู้เลยว่าบทบาทของภรรยาที่คอยซัพพอร์ตและเข้าใจสามีจริงๆ มันเป็นยังไง
มาถึงฟากตัวร้ายอย่าง “ฟิล ดอนเนลลี่” รับบทบาทโดย “วิกเตอร์ การ์เบอร์” ตัวแทนของดูปองท์ดูบ้าง เป็นอีกตัวละครที่สร้างความหมั่นไส้ได้เป็นอย่างดี เมื่อต้องสวมซาตานในคราบนักบุญตามคอนเซ็ปต์ของบริษัทวายร้าย ก็คือเนี้ยบ เป็นตัวละครที่ให้ความร่วมมือทุกอย่าง ขออะไรก็ให้ อยากสืบสวนก็ได้ แต่วายร้ายก็คือวายร้าย ซีนงานสังคมในเวดวงบริษัทเคมีที่ “ฟิล” ระเบิดอารมณ์ใส่ “ร็อบ” เดือดสุดๆ และเคี่ยวความเข้มข้นของการดำเนินคดีได้งวด และมีซีนที่ “ฟีล” ต้องขึ้นกล่าวบนเวทีถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทประโยคในเรื่องมันลึกซึ้งจริงๆ จับใจความได้ทำนองว่าสิ่งที่บริษัทประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกของคน ความตั้งใจในการอำนวยความสะดวกไม่ใช่แค่สโลแกน แต่เป็น DNA ของบริษัท เหมือนการอุปมาว่าสารเคมีที่คน-สัตว์-พืช ได้รับผลกระทบมันส่งผลถึงเรื่องพันธุกรรม ทำให้ลูกคนและสัตว์เกิดมาพิกลพิการได้ ชอบความละเอียดเล็กๆ ของเรื่องนี้ ขอพ่วงเรื่องความละเอียดที่ต้องสังเกตและเราก็ขอปรบมือให้เลยกับเทคนิคการนำเสนอภาพที่ในต้นๆ เรื่องดำเนินฉากในปี 1999 เป็นภาพที่มีเกรนเยอะ ไม่คมชัด แต่พอมาท้ายๆ เรื่องภาพดูทันสมัย คมชัดขึ้น เราว่าเราไม่ได้คิดไปเองแหละกับการอยากสื่อถึงเวลาที่ผ่านล่วงเลยไปจริงๆ
ด้านแก่นของเรื่องจริงๆ และเป็นความจริงที่ไม่ใช่แค่ใน West Virginia แต่ทุกๆ ประเทศต้องเผชิญคือเรื่องความเหลื่อมล้ำและระบบอุปถัมภ์ที่เอื้อต่อนายทุนบริษัทใหญ่ๆ ติดสินบทองค์กรรัฐและประชาชนด้วยเศษเงิน เหมือนที่เราคุ้นเคยตามป้ายโรงเรียนหรือบางโครงการที่สนับสนุนโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ Dark Waters เองได้ทำให้ฉุกคิดหลายๆ ซีนเลยว่าคนตัวเล็กๆ จะต้องต่อกรกับอำนาจที่ใหญ่กว่าแล้วเจอกับอะไรบ้าง ซึ่งเป็นหลายๆ ซีนอารมณ์ที่ทำให้หดหู่ทีเดียว เช่น หลังจาก “เอิร์ล” และเพื่อนชาวไร่ไปดำเนินการฟ้องดูปองท์ ทั้งคู่เป็นจำเลยสังคมทันที ไปร้านอาหาร ไปโบสถ์ในชุมชนคนสายตาประนามที่มองมาว่าเขาหาเรื่องใส่ตัวและทำให้ชุมชนตกที่นั่งลำบาก อย่างที่บอกไปว่าดูปองท์สนับสนุนโรงเรียน เปิดโรงงานจ้างคนให้ทำงาน พอมีเรื่องคนตกงานก็กลายว่าเป็นเขาที่เป็นต้นเหตุ เรื่องปากท้องระยะสั้นๆ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านมองเห็นและยอมแลกกับสุขภาพและชีวิตรอบตัวในระยะยาว, ซีนที่บ้านของ “เอิร์ล” ถูกเข้ามารื้อและมีเฮลิคอปเตอร์มาบินวน เขาออกมายืนด่าพร้อมกับปืนกระบอกเดียวแบถ้ามองตามความเป็นจริงจะทำอะไรได้ แต่ก็ยิ่งทำให้เห็นจุดที่ตกต่ำเมื่อไม่มีอะไรจะเสียก็ต้องกัดฟันสู้ไป เขาไม่มีโอกาสได้เห็นชัยชนะที่เขาได้เริ่มต้นด้วยซ้ำ เพราะว่าตายซะก่อนด้วยมะเร็งที่เป็นผลกระทบจากสารเคมี โอ้ย ฉันสะเทือนใจกับอะไรแบบนี้ ความชาวบ้านตาดำๆ มันไม่มีทางเลือกจริงๆ ไม่ได้รับความคุ้มครอง ไม่ได้รับการเยียวยาอะไรเลย จะลืมตาอ้าปากได้ก็ปาไปแล้วค่อนชีวิต
เอาเป็นว่าสายสิ่งแวดล้อมหรือว่าใครที่อยากปลุกจิตวิญญาณเชิงอนุรักษ์ไม่ควรพลาดเรื่องนี้ด้วยประการทั้งปวง ดูแล้วคงรู้สึกอยากทวงความยุติธรรมให้กับหลายๆ อย่างรอบตัวเลยล่ะ ส่วนเรื่องสาร PFOA หรือกรดเปอร์ฟลูโอโรออคตาโนอิค ที่เป็นอันตรายนั้นปัจจุบันไม่ได้อยู่ในกระทะเทฟล่อนที่บ้านของใครแล้ว มีการยกเลิกการใช้ไปแล้ว โดยรวมขอสรุปคะแนนที่ 8
"ระบบมันพึ่งไม่ได้ พวกนั้นอยากให้เราคิดว่าระบบมีไว้เพื่อปกป้องเรา” โรเบิร์ต บิลอตต์