ก่อนกาสะลอง มี 5 กลิ่นไม้เมืองเหนือ
“สนั่น ธรรมธิ” นักวิชาการจากสำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของหนังสือดอกไม้ล้านนา ศรัทธา และความหมาย เผยแก่ “ดาราเดลี่” กรณี “ดอกกาสะลอง” ในละครเรื่อง “กลิ่นกาสะลอง” ว่า สำหรับ “กาสะลอง” หรือ “ดอกปีบ” ในความเชื่อโบราณตามคัมภีร์ไตรภูมินั้น “ดอกกาสะลอง” ใช้แทนดอกปาริชาติ ดอกปาริชาตินั้นอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พอเอามาเชื่อมเรื่องพระมาลัยตอนที่ไปสวรรค์ พระมาลัยถามพระศรีอริยเมตไตรย เทพบุตร ว่า ทำอย่างไรถึงได้ไปเกิดร่วมในพระศาสนาในพระศรีอริยเมตไตรย พระศรีอริยเมตไตรยก็ตอบว่า หนึ่งอย่างที่ทำได้คือ ท่านควรนำดอกกาสะลอง 1,000 ดอกไปบูชาเทศน์มหาชาติ แล้วท่านก็จะได้พบกับพระศรีอริยเมตไตรย
อ่านข่าวต่อ
ครั้งแรก! แจงทำไมต้อง “กาสะลอง”
สำหรับดอกไม้อื่นที่ถูกเอ่ยนาม หรือใช้เป็นสัญลักษณ์แทนคนในเพลง ละคร หรือตำนานทางภาคเหนือ อาทิ เพลงกลิ่นเอื้องเสียงซึง ดอกเอื้องเป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงสาวเหนือ หมายถึงดอกกล้วยไม้ เพลงนี้มีมานานตั้งแต่ ผ่องศรี วรนุช, วงจันทร์ ไพโรจน์
ดอกพิกุล ปรากฏในเนื้อเพลงน้อยใจยา ทำนองพื้นบ้านภาคเหนือ ดอกพิกุลถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนตัวละครฝ่ายหญิงในเพลงน้อยใจยา โดยนางเอกในเพลงจริงๆ ชื่อแว่นแก้ว
ดอกบัวตอง เป็นเพลงที่ถูกแต่งภายหลัง โดย จรัล มโนเพ็ชร บัวตองเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง ขึ้นสวยงามในพื้นที่สูง ยามหนาวจัดจะงามมาก พอขึ้นเป็นทุ่ง มันก็เลยสวย เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์
เอื้องผึ้ง จันผา เป็นเรื่องราวต่อมา จรัล มโนเพ็ชร นำมาแต่งเป็นเพลง เล่าเรื่องหนุ่มสาวไปเที่ยวน้ำตก เห็นดอกไม้ขึ้นอยู่บนหน้าผาสูงชัน หนุ่มอยากเด็ดจะเอามาให้สาว เมื่อปีนขึ้นไปก็ตกหน้าผาเสียชีวิต กลายเป็นต้นจันผา ส่วนฝ่ายหญิงตรอมใจเป็นต้นเอื้องผา