มันตะขิดตะขวงใจยังไงไม่รู้กับประเด็นข่าวละคร "น้ำเน่า-น้ำดี" ที่กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ เมื่อหลายวันก่อน มาถึงทุกวันนี้ก็ยังมีควันหลง ขึ้นอยู่กับ "มุมมอง" ของใครจะเห็นในเหลี่ยมไหน?
บ้านเรานี่ก็แปลกนะครับ พออะไรมีกระแสหน่อย จะเกิดมหกรรม "รุมทึ้ง" ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการ หรือเอ็นจีโอ จะกระโดดเข้างับทันที แต่พอเรื่องเงียบ ก็กลับเข้าถ้ำ ไม่มีแม้แต่เสียงกระแอมกระไอให้ได้ยิน ครั้นมีกระแสใหม่เกิดขึ้นอีก ก็ออกมาฟาดงวงฟาดงาเป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ที่สําคัญผู้ทรงเกียรติทั้งหลายเหล่านี้ ก็ไม่เคยชี้ทางไป-ทางออก ว่าจะให้เป็นแบบไหน? ที่ออกมาผสมโรงมหกรรมรุมทึ้งส่วนใหญ่ มักจะกระทืบซ้ำ พูดน้ำลายฟูมปาก ไม่มีดียังงั้นยังงี้ เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น
ปัญหาความเหมาะสม-ไม่เหมาะสม ในละครบ้านเรา ไม่ใช่เพิ่งเกิดกับละคร "ดอกส้มสีทอง" เท่าที่ผมจําได้ เกิดขึ้นมาแล้วหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สงครามนางฟ้า, เมียหลวง ฯลฯ ล้วนแต่เป็นประเด็น ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างไม่ต่างกัน แต่เชื่อมั้ยครับ พอละครจบ ทุกอย่างก็เงียบ ปรากฏการณ์"เรยา" ที่ถูกโหมกระแสอย่างหนักในช่วงนี้ สั่งโอเลี้ยงรอได้เลยท้ายที่สุดก็คงจะมี "จุดจบ" ไม่ต่างจากละครรุ่นพี่เท่าไหร่นัก? สุดท้ายปัญหา "น้ำเน่า-เน่าดี" เลยไม่มีใครรู้ว่า มันเป็น "ปัญหา" ที่แท้จริง หรือเป็นแค่กระแสปาก ที่กระพือกันแค่ชั่วครั้งชั่วคราวเพื่อ "สร้างค่า" ให้กับตัวเอง
อะไรคือ "จุดยืน" และ "ทางไป" ที่มีแนวปฏิบัติชัดเจน ว่าต้องเป็นยังงั้น ยังงี้ เคยมีการ "เจรจาร่วม" เพื่อหาทางออก เป็น "ข้อตกลง" ที่ชัดเจนกันหรือไม่? เพราะเท่าที่ผมเห็น พอมีเรื่องที รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็จะเรียก ผู้บริหารสถานี และผู้จัดเข้าไปคุยที จะเป็นยังงี้ ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จนกลายเป็นแผ่นเสียงตกร่อง แค่อ้าปากก็เห็น "ไส้ใน" จริงๆ ต้องการแก้ปัญหาแบบสะเด็ดน้ำ หรือว่าขอเกาะกระแสหน่อยเหอะ!!
การทําละครแต่ละเรื่อง ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ ผสมผสานกัน เพื่อให้ออกมาน่าติดตาม ละครไม่ใช่ "สารคดี" ที่ต้องอิงหลักวิชาการและความเป็นจริง แต่ละครคือ "มายา" ที่มีทั้งดี-เลว ผสมผสานกันอยู่ในนั้น ละครทุกเรื่องต่างมี "เป้าหมาย" สะท้อนด้านเลว ชั่วด้วยกันทั้งนั้น ถ้าไม่มีด้าน "ลบ" แฝงอยู่ในเนื้อหา แล้วจะรู้ได้ยังไงว่า "ดี" คืออะไร?
เหรียญย่อมมี 2 ด้าน ถ้าขาดหัว และ ก้อย จะเป็นเหรียญที่มีค่าและสมบูรณ์ ยังงั้นหรือ?
เอาง่ายๆ ถ้าจะทําละครตามใจผู้ทรงเกียรติทุกคน คือละครเรื่องนั้นๆ เป็นสีขาวหมด รักก็หวานแหวว ทําอะไรก็สมหวังไปหมด ไม่มีนางอิจฉา ไม่มีผู้ร้าย ฯลฯ แล้วคนดูจะรู้ได้ยังไงว่าอะไรคือ "เลว"
การที่ละครมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในเนื้อหา ก็เพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าทําอย่างนี้แล้ว คือ "ไม่ดี" ไม่สมควรเอาทั้งเยี่ยงและอย่าง ถ้าทําสิ่งนี้แล้ว "ดี" สมควรจะเอาเป็นแบบอย่าง
ละครทุกเรื่องที่ปรากฏอยู่ในจอโทรทัศน์ ผมว่ามีทั้ง "สาระ" และ "น้ำเน่า" เจือจางกันอยู่ในนั้น เพื่อต้องการให้คนดูได้รู้ว่านั่นคือ "ดี" และ "เลว" ที่แยกแยะให้รู้ โดยไม่ต้องแสวงหาเอง แม้แต่ตัวเราเองก็เถอะ มีอะไรที่สมบูรณ์ ประมาณว่าเพอร์เฟคท์บ้างไหม ทุกคนล้วนแต่ตกอยู่ในรัก โลภ โกรธ หลง เพียงแต่ใครสามารถข่มจิตข่มใจได้มากกว่า ก็กลายเป็นคนดีหน่อย แต่ถ้าปล่อยให้อารมณ์พาไป หลงมัวเมาอยู่กับสิ่งนี้ ก็กลายเป็น "ไอ้ชั่ว" ในสายตาคนทั่วไป
การออกมาวิพากษ์วิจารณ์ละคร ที่เหมารวมกระทั่งเอาปูนกาหน้าผากว่า "น้ำเน่า" ไม่ใช่ว่าไม่ดี เป็นวิวาทะ เพื่อก้าวไปสู่ "ทางออกร่วม" ระหว่างผู้จัดฯ และ สังคม ให้เดินไปในแนวเดียวกัน เพียงแต่ว่า "ทางออก" นั้น มีใครเป็น "เจ้าภาพ" กันหรือยัง เพราะเท่าที่เห็น และผ่านมา ไม่เห็นใครเป็นตัวตั้งตัวตี ว่าจะมีการสังคายนาเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ
ผมเชื่อว่าฟากผู้บริหารสถานีและผู้จัดฯ พร้อมจะให้ความร่วมมือ เพราะไม่มีใครหรอกครับที่อยากจะตกเป็น "จําเลยสังคม" โดยไม่รู้ตัวว่าผิดอะไร และตรงไหน? ในเมื่อละครทุกเรื่องก็ทํากันแบบนี้ทั้งนั้น นั่นคือสะท้อน"ดี-เลว" เพื่อให้คนดูตัดสินเองว่าอะไร "ถูก-ผิด" หรือจะให้ผู้จัดฯ ทําละครประมาณว่าทั้งเรื่อง "ดี" ไปหมด ผมเห็นมีแต่ในความฝันเท่านั้น พอลืมตา รู้สึกตัว ก็เศร้าเสียดาย ทําไมโลกนี้จึงมีแต่ฝันที่ ไม่เป็นจริงเสียที ถ้าถามชาวบ้านที่เสพติดละครอยู่ทุกวัน เขาไม่รู้หรอกว่าละครเรื่องไหน "น้ำเน่า" หรือ "น้ำดี" รู้เพียงว่า นั่นคือ บันเทิงราคาถูกที่สุด
กงล้อแห่งการเรียนรู้และแยกแยะ "ดี-เลว" ของคนดูสื่อทีวี หมุนอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่อาจใช้เวลาบ้าง ในเมื่อยังไม่มีอะไรเป็นมาตรฐาน ที่สามารถแยก "น้ำดี-น้ำเน่า" ได้ แล้วจะเอาอะไรนักหนากับคําว่า "ละคร"!! ♦