วันนี้เรื่องที่อีนุงตุงนังซึ่งเกิดจากปัญหา "น้ำท่วม" คือความขัดแย้งระหว่างประชาชน 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ปิด-ไม่ปิด อีกกลุ่มเป็น เปิด-ไม่เปิด โดยมีบิ๊กแบ็คคั่นระหว่างกลาง
ไม่ต่างจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ "อสมท" ในตอนนี้
ที่มีความขัดแย้งระหว่าง "บอร์ด" หรือคณะกรรมการ อสมท กับ ผู้ถือหุ้นใหญ่
"บอร์ด" ในที่นี้ หมายถึงคณะกรรมการ อสมท ที่มี "ดร.สุรพล นิติไกรพจน์" เป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งมาตั้งแต่ปี 2552 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
"ผู้ถือหุ้นใหญ่" หมายถึง กระทรวงการคลัง เพราะถ้าไล่เรียง ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน อสมท 2 อันดับต้น ล้วนอยู่ในมือของกระทรวงการคลังทั้งสิ้น
อันดับ 1 กระทรวงการคลังถือหุ้นในสัดส่วน 65.80% อันดับ 2 ธนาคารออมสิน ถืออยู่ 11.48% นอกนั้นจะเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย
รวมสัดส่วนผู้ถือหุ้นของ 2 หน่วยงานรัฐในซีกรัฐบาล ปาไป แล้วเกือบ 80% เรียกว่ามีอํานาจเด็ดขาด จะชี้นกเป็นไม้ หรือชี้ไม้เป็นนก ย่อมทําได้ สุดแต่ใจปรารถนา
อดีตที่ผ่านมาของ "อสมท" จึงไม่ต่างจากละครบทเก่า ที่เดินซ้ำรอย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทั่งพนักงานของ อสมท เอง "ช้ำ" ไปทั้งตัว เพราะเป็นฝ่ายที่ได้ผลกระทบมากที่สุด
อสมท ไม่จําเป็นจะต้องเดินตามละคร "ยุครีเมค" เกลื่อนจอก็ได้ ที่ละครเก่าถูกนํามาสร้างใหม่ ไม่รู้ว่ากี่รอบต่อกี่รอบ เปลี่ยนแค่ตัวแสดง ฉากบางฉาก คนดูก็ต้องฝืนใจดู เพราะไม่มีสิทธิ์ไปกําหนด
พนักงานใน อสมท รวมทั้งผู้บริหารที่เป็น "ลูกหม้อ" ก็ไม่ต่างจากคนดูละครรีเมค แค่ไตเติ้ลที่เปิดฉากออกมา ก็มองออกว่า เรื่องนี้ผู้ร้ายซี้ตอนจบแหงแก๋ หรือว่า นางเอกจน ไร้หัวนอน ปลายเท้า จะต้องแต่งกับมหาเศรษฐีชัวร์
ปัญหาของ อสมท ที่เริ่มเดือดปุดๆ ในตอนนี้ ไล่เรื่อยไปถึง
วันที่ 9 ธันวาฯ โน่น ไม่รู้จะจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งหรือเปล่า ไม่มีใครการันตีได้
เพราะ "บอร์ด" ซึ่งเขี่ยกรรมการผู้อํานวยการคนเก่ากระเด็นออกจากเก้าอี้ไปแล้ว ยังลอยนวล ไม่รู้ร้อนรู้หนาว จะว่าไปแล้ว หน้าที่ กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ ย่อมทํางานตามนโยบายที่บอร์ดมอบหมาย ว่าจะต้องทํานั่น ทํานี่ ไม่ต่างจากผู้จัดการบริษัท ที่ต้องทํางานภายใต้กรอบที่ "คณะกรรมการบริษัท" กําหนด ถ้าอยากจะทําอะไร จะต้องนําเสนอ กับบอร์ด ได้อนุมัติจึงทําได้ ขืนทะเล่อทะล่าโดยพลการ กลับบ้านไปเลี้ยงหลานได้เลย
ในเมื่อ "กรรมการผู้อํานวยการใหญ่" มีความผิด ถึงขั้น "เลิกจ้าง" แต่บอร์ดทั้งคณะกลับยังยิ้มแฉ่ง มันเป็นไปได้ ด้วยหรือ?...ในความเห็นของผม เมื่อ "ผิด" ก็ต้องผิดด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายประเด็นที่สอง ในซีกรัฐบาล ที่กระทรวงการคลัง เรียกประชุมผู้ถือหุ้นด่วน โดย 1 ในวาระการประชุมคือ "ปลดบอร์ด" ทั้งคณะสะท้อนให้เห็น "ชัดเจน" ว่า การเมืองก็ยังเป็น "มือที่ มองไม่เห็น" ในการเข้ามาแทรกแซง อสมท อยู่ตลอด... ไม่เปลี่ยนแปลง
บอกตรงๆ ผมเห็นใจ "คน อสมท" ที่ต้องกล้ำกลืนฝืนทนอยู่ระหว่าง "บอร์ด" กับ "การเมือง" มานานหลายปีดีดัก เป็นความรู้สึกอึดอัด ที่ยากจะบรรยาย
ความขัดแย้งดังกล่าว นอกจากจะกระทบต่อขวัญ กําลังใจของพนักงาน ยังกระทบ "ราคาหุ้น" ที่ซื้อขายอยู่ในตลาด หลักทรัพย์ฯ
ใครที่เป็น "คอหุ้น" ถ้าสังเกตให้ดีๆ ช่วงเดือน 2 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น อสมท ค่อยๆ ไต่ระดับลง ทั้งๆ ที่ระยะนี้เป็นช่วงหน้าข้าว หน้าปลา ราคาหุ้นควรจะพุ่งปรี๊ด แต่กลับสวนทาง
จากราคาหุ้นละ 30 บาท บางช่วงขยับสูงถึง 31 บาท ค่อยๆ ลดลงเหลือ 29 บาท 27 บาท ก่อนจะมาจอดที่ 25 บาท ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะต่ำลงไปกว่านี้เท่าไหร่?
ข้อมูลที่น่าสนใจอีกประเด็น ซึ่งฟากพนักงานเปิดเผยออกมา คือศึก "ชิงดํา" ระหว่าง "บอร์ด" กับ "รัฐบาล" ที่จะเกิดขึ้นในวันประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างซ่องสุมกําลังกันคึกคัก
เมื่อพบว่า ระยะนี้ ความเคลื่อนไหวในโครงสร้างผู้ถือหุ้น อสมท แปร่งๆ ชอบกล มีรายชื่อผู้ถือหุ้นใหม่ รายละ 1 หุ้น จํานวน 6,500 ราย โผล่เข้ามาในทําเนียบผู้ถือหุ้น
จะว่าเป็นการซื้อ-ขายตามปกติ ก็ไม่น่าจะใช่ แม้ว่าราคาตอนนี้จะเป็นแรงผลักดันให้เข้าไปช้อน แต่การซื้อแค่หุ้น 2 หุ้น ใช้เงินไม่ถึง 100 บาท ไม่น่าจะเรียกว่า "การลงทุน" ได้
ถ้าจะบอกว่า ซื้อเพื่อหวังเงิน "ปันผล" ตอนสิ้นปี ก็ยิ่งแล้วใหญ่ จะได้พอค่าน้ำแข็งสักก้อนมาลูบท้องหรือเปล่า สู้เอาเงินไปซื้อกล้วยทอดหน้าปากซอย ยังอิ่มท้องกว่า
ประเด็นที่เหลือ จึงหนีไม่พ้น การระดมสรรพกําลังเพื่อ "สู้ศึก" ในวันประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งคงฝุ่นตลบชนิดไม่เห็นตัวเห็นเงาแน่นอน
ขออย่าให้เป็นยังงั้นเลย เพี้ยงงงง!! ♦